ช่องแคบมะละกา-บีอาร์ไอ สองปัจจัยหนุนแลนด์บริดจ์

ช่องแคบมะละกา-บีอาร์ไอ สองปัจจัยหนุนแลนด์บริดจ์

ทันทีที่มีรายงานข่าวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 18 ต.ค. พร้อมขายไอเดียแลนด์บริดจ์ให้จีน ภาพประเทศไทยในบริบทโลกผุดขึ้นมาพร้อมคีย์เวิร์ด ช่องแคบมะละกา ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ที่มีส่วนหนุนเสริมอภิมหาโปรเจคของรัฐบาล

ช่องแคบมะละกา

ช่องแคบมะละกาเป็นทางน้ำเชื่อมต่อทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศตะวันตกผ่านเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ทิศตะวันออกผ่านทางตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซียและตอนใต้สุดของไทย ครอบคลุมพื้นที่ 65,000 ตารางกิโลเมตร ตัวช่องแคบยาว 800 กิโลเมตร ชื่อนี้มาจากท่าเรือการค้ามะละกาซึ่งสำคัญมากในศตวรรษที่ 16 และ 17 บนชายฝั่งมาเลย์

เนื่องจากเป็นตัวเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางเดินเรือที่สั้นที่สุดระหว่างอินเดียกับจีน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเส้นทางที่เรือสัญจรมากที่สุดในโลกเส้นทางหนึ่งเช่นกัน

ในยุคแรกช่องแคบมะลาะกาเป็นตัวกำหนดการย้ายถิ่นฐานของชาวเอเชียมาสู่หมู่เกาะมาเลย์ ในอดีตช่องแคบแห่งนี้ถูกควบคุมโดยชาวอาหรับ โปรตุเกส ดัตช์ อังกฤษ  จนมาถึงสิงคโปร์

ในปี 2563 เรือผ่านเส้นทางนี้กว่า 84,000 ลำสินค้าจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ ส่งไปยังตะวันออกกลางและยุโรปต้องใช้ช่องแคบมะละกา รวมถึงการขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมายังเอเชียและที่ไกลออกไป 40% ของการค้าโลกใช้ช่องแคบมะละกา 

ช่วงต้นทศวรรษ 2000 อุปทานน้ำมันของญี่ปุ่น 80% ผ่านเส้นทางนี้ เช่นเดียวกับจีนซึ่งนำเข้าน้ำมันเกือบทั้งหมด และนำเข้าธัญพืชจำนวนมากทำให้อดีตประธานาธิบดีหู จินเทาต้องแสดงความกังวลต่อช่องแคบมะละกาในปี 2546 เมื่อจีนต้องพึ่งพาน่านน้ำแคบๆ ที่เต็มไปด้วยโจรสลัดและมหาอำนาจทั่วโลกต่างหมายตา

ขณะที่จีนเพิ่มการลงทุนในแอฟริกาและตะวันออกกลางในทศวรรษ 2000 และ 2010 ช่องแคบมะละกายังคงเป็นเส้นทางการค้าสู่ตะวันตกที่ดีที่สุด สั้นที่สุด และคุ้มค่าที่สุด แต่จีนไม่ต้องเทหมดหน้าตักกับเส้นทางนี้ด้วยการทำข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ)

รู้จักสายแถบและเส้นทาง

บีอาร์ไอเป็นโครงการซิกเนเจอร์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีเป้าหมายนำจีนไปใกล้ชิดกับโลกให้มากขึ้นผ่านการลงทุนและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทุ่มเทงบประมาณนับล้านล้านดอลลาร์ลงไปให้เกือบ 150 ประเทศทั่วโลก ที่จีนอวดว่าจะเป็นการเปลี่ยนโลก

เว็บไซต์บีบีซีรายงานว่า บีอาร์ไอเปิดตัวในปี 2556 เป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของจีน โดยเปรียบเทียบกับเส้นทางสายไหมในสมัยโบราณ “สายแถบ” หมายถึงเส้นทางบกที่เชื่อมจีนสู่ยุโรปผ่านเอเชียกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะที่เส้นทางหมายถึงเครือข่ายทางทะเลที่เชื่อมจีนเข้ากับท่าเรือใหญ่ผ่านเอเชียสู่แอฟริกาและยุโรป

บีอาร์ไอเริ่มต้นด้วยการลงทุนอย่างหนักโดยรัฐเข้าไปทำโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ในต่างแดน เงินส่วนใหญ่ของงบประมาณราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ทุ่มไปกับโครงการภาคพลังงานและขนส่ง เช่น โรงไฟฟ้าและทางรถไฟ

รัฐบาลปักกิ่งอวดว่าบีอาร์ไอเป็นชัยชนะทางเศรษฐกิจของทุกฝ่าย เหตุผลสำหรับต่างชาติที่จีนอธิบายคือการลงทุนเหล่านี้ช่วยกระตุ้นการพัฒนา ส่วนในประเทศจีนบอกว่าบีอาร์ไอจะช่วยบริษัทจีนส่งเสริมเศรษฐกิจ และสร้างชื่อเสียงประเทศชาติให้ขจรขจาย

จุดอ่อนช่องแคบมะละกา

ตามที่กล่าวแล้วว่า จีนเป็นหนึ่งประเทศที่พึ่งพาช่องแคบมะละกามาก และพื้นที่นี้มีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเป็นน่านน้ำทางยุทธศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ช่องแคบมะละกามีความสำคัญต่อทั้งประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์อยู่ในอินโดแปซิฟิก

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. เว็บไซต์ NBR (The Nation Bureau of Asian Research) เผยแพร่บทสัมภาษณ์แก้วกมล พิทักษ์ดำรงกิจ จากวิทยาลัยการต่างประเทศศึกษา เอส ราชรัตนัม ในสิงคโปร์สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า ช่องแคบมะละกาเป็นส่วนสำคัญของอินโดแปซิฟิก เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญเส้นหนึ่งที่เชื่อมสองมหาสมุทรมีท่าเรือที่หนาแน่นมากที่สุด 9 ใน 10 แห่งของโลก การค้าทางทะเลราว 60% ผ่านภูมิภาคนี้ เศรษฐกิจในภูมิภาครวมกันคิดเป็น 60% ของจีดีพีโลก มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลราว 3,000 สายพันธุ์สะท้อนถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของอินโดแปซิฟิก

อย่างไรก็ตามช่องแคบมะละกาและภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังเผชิญภัยคุกคามหลายด้าน ประการแรกคือการเป็นช่องแคบทางยุทธศาสตร์ (chokepoint) แต่ละปีเรือแล่นผ่านราว 90,000 ลำ ความแออัดทำให้เกิดอันตรายต่อการเดินเรือหากเรือชนกันย่อมชะลอหรือสร้างความปั่นป่วนให้กับการไหลเวียนสินค้า และสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

ภัยคุกคามประการที่ 2 คือโจรสลัด แม้เหตุจะลดน้อยลงนับตั้งแต่ปี 2549 แต่เมื่อเร็วๆ นี้การปล้นสะดมเกิดมากขึ้นข้อมูลล่าสุดจากศูนย์แบ่งปันข้อมูลตามข้อตกลงความร่วมมือในภูมิภาคต่อต้านโจรสลัดและการปล้นติดอาวุธต่อเรือในเอเชีย พบว่า ครึ่งแรกของปี 2566 มีการปล้นเรือในช่องแคบมะละกา 38 ครั้ง เพิ่มขึ้น 41% จากปี 2565 โจรสลัดสร้างปัญหาให้กับการเดินรือและทำให้การค้าทางทะเลในภูมิภาคปั่นป่วน

ปัจจัยที่ 3 เป็นปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่อเพิ่มความเสี่ยง การแข่งขันกันระหว่างสหรัฐกับจีนส่งผลให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น สหรัฐเก็บภาษีสินค้าจีน ส่วนใหญ่ออกมาในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และการที่สหรัฐควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ก้าวหน้าและอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีน

มาตรการเหล่านี้ลดปริมาณและมูลค่าการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจ ส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณและมูลค่าการค้าผ่านช่องแคบมะละกาลดลง

เนื่องจากสหรัฐ จีน และเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาคถูกร้อยรัดกันด้วยห่วงโซ่อุปทานในอินโดแปซิฟิก หากมีมาตรการทางการค้าใดๆ ออกมาอีกไม่ว่าจะโดยปักกิ่งหรือวอชิงตันย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าและบริการในภูมิภาค

ถ้ามองช่องแคบมะละกาในบริบทที่กว้างขึ้นระดับอินโดแปซิฟิก นักวิชาการรายนี้กล่าวว่า หากเกิดวิกฤติขึ้นในทะเลจีนใต้ย่อมกระทบต่อช่องแคบมะละกาด้วย เนื่องจากมีผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้หลายราย ทำให้พื้นที่นี้เป็นจุดเสี่ยงต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

การปะทะกันระหว่างผู้อ้างกรรมสิทธิ์อาจบานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้าติดอาวุธเต็มรูปแบบ สร้างความปั่นป่วนให้กับการไหลเวียนสินค้าในช่องแคบมะละกาและห่วงโซ่อุปทานโลก

ที่มา

https://www.britannica.com/place/Strait-of-Malacca

https://teccontainersolutions.com/2023/03/top-5-busiest-shipping-routes-in-the-world/

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-67120726

https://www.nbr.org/publication/geoeconomic-crossroads-the-strait-of-malaccas-impact-on-regional-trade/