UNHCR ย้ำปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยอดวิกฤตพุ่งสุดรอบ 10 ปี

UNHCR ย้ำปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยอดวิกฤตพุ่งสุดรอบ 10 ปี

ยูเอ็นเอชซีอาร์ เผยวิกฤติการณ์มนุษยธรรมปี 2566 พุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี ดันผู้ลี้ภัยทั่วโลกเพิ่มหลายเท่าตัวในรอบ 20 ปีมานี้ ย้ำปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว ขณะที่ภาคเอกชนทั่วโลกร่วมบริจาคพุ่ง

นายจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทิส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การทำงานด้านมนุษยธรรมเพื่อผู้ลี้ภัยท่ามกลางวิกฤติโลก” ในงานสัมมนา Geopolitics 2024 จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับสื่อในเครือเนชั่น ย้ำว่าปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว สะท้อนได้จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาและตามแนวชายแดนประเทศไทย ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา ยูเอ็นเอชซีอาร์ต้องรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมที่มากที่สุดในรอบ 10 ปี

ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ปัญหาผู้ลี้ภัยขยายตัวขึ้นมาจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก แต่โดยหลักๆแล้ว ส่วนใหญ่ยังคงเป็นภัยสงครามและปัญหาพิพาทระหว่างประเทศ ที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศเพื่อเอาชีวิตรอด

นายเด วินเซ็นทิส กล่าวว่าสถานการณ์ของผู้อพยพพลัดถิ่นทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากจำนวน 17.1 ล้านคนทั่วโลกในปี 2546 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 51.2 ล้านคน ในปี 2556 และพุ่งขึ้นไปอีกเท่าตัวแตะระดับ 114 ล้านคนในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกมากขึ้น

UNHCR ย้ำปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยอดวิกฤตพุ่งสุดรอบ 10 ปี

จากข้อมูลของยูเอ็นเอชซีอาร์ ณ เดือน มิ.ย. 2566 พบว่า 76% ของผู้ลี้ภัยและผู้ที่ต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศหลักๆ แล้วมาจาก 6 ประเทศ ได้แก่

  • ซีเรีย 6.5 ล้านคน
  • ยูเครน 5.7 ล้านคน
  • อัฟกานิสถาน 5.7 ล้านคน
  • เวเนซูเอลา 5.6 ล้านคน
  • ซูดานใต้ 2.3 ล้านคน
  • เมียนมา 1.3 ล้านคน

เหล่านี้สะท้อนถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก และในจำนวนนี้ 3 ประเทศแรกหรือคิดเป็นสัดส่วน 52% ล้วนเป็นประเทศที่ประสบภัยสงคราม

ทั้งนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมา ยูเอ็นเอชซีอาร์ยังต้องรับมือกับวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่หรือเคสใหม่ๆ ในระดับที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน 43 เหตุการณ์ และเพิ่มการสนับสนุนใน 29 ประเทศทั่วโลก หรือเท่ากับว่ายูเอ็นเอชซีอาร์ต้องรับมือกับวิกฤติการณ์ด้านมนุษย์ธรรมในทุกๆ 10 วัน ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังขยายตัวและตึงมือมากขึ้นการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวว่าในฐานะหน่วยงานด้านมนุษยธรรม ยูเอ็นเอชซีอาร์ยึดมั่นในการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือด้านผู้ลี้ภัย แต่การแก้ปัญหาผู้อพยพลี้ภัยนั้นจำเป็นต้องหาทางออกผ่านกระบวนการเจรจาทางการเมืองและการทูต เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือยุติภาวะสงครามในประเทศต้นทาง ซึ่งต้องมาจากกระบวนการทางการเมืองเป็นกลไกสำคัญ

ทั้งนี้ ยูเอ็นเอชซีอาร์เริ่มมีบทบาทในไทยและทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยหลังสิ้นสุดสงครามอินโดจีนในปี 1975 เพื่อรับมือผู้ลี้ภัยออกจากเวียดนาม กัมพูชา และลาว และรัฐบาลไทยได้ร้องขอความร่วมมือจากยูเอ็นเอชซีอาร์เพื่อให้การคุ้มกันผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่ปี 1998

ปัจจุบัน ยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทย มีสำนักงานภาคสนาม 2 แห่งใน จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน และยังร่วมตรวจสอบสถานะผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากับรัฐบาลไทยในศูนย์พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง โดยมีบทบาทสำคัญในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือในกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับผู้อพยพพลัดถิ่น รวมถึงบทบาทในการช่วยหาทางออกที่ยั่งยืนให้กับปัญหาผู้ลี้ภัย

นายเด วินเซ็นทิส กล่าวว่า ปัจจุบันมีการลงทะเบียนบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยแล้วกว่า 5 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 80% อาศัยอยู่ในจังหวัดตามแนวชายแดนของประเทศไทย และนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีบุคคลไร้สัญชาติสามารถขอสัญชาติไทยได้แล้วกว่า 8 หมื่นคน

UNHCR ย้ำปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยอดวิกฤตพุ่งสุดรอบ 10 ปี

ขณะที่ในงานประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก 2023 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นที่จะพัฒนาแผนปฏิบัติการแห่งชาติและร่วมมือกับยูเอ็นเอชซีอาร์ รวมถึงเข้าร่วมในเครือข่ายพันธมิตรโลกเพื่อยุติความไร้สัญชาติ

สำหรับความร่วมมือของ "ภาคเอกชน" ที่มีต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัยนั้น นายเด วินเซ็นทิส กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ภาคเอกชนทั่วโลกขึ้นมาเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งบ่งชี้ว่าประเด็นการอพยพลี้ภัยและเคลื่อนย้ายผู้คน เริ่มเข้ามาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาคเอกชนรายใหญ่ๆ ของโลก เช่น อิเกีย ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การสนับสนุนทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสนับสนุนและส่งเสริมในด้านต่างๆ รวมถึงกลไกในการสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคและสาธารณชนในวงกว้างอีกด้วย