1 ปี “กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัย”

1 ปี “กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัย”

โลกท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า การช่วยเหลือคนอื่นโดยเฉพาะคนที่อยู่ห่างไกลอย่างผู้ลี้ภัย หลายครั้งอาจถูกมองข้าม แต่ในประเทศไทยมี“กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัย” ที่เปิดตัวครบรอบหนึ่งปีแล้วเข้ามาช่วยเติมเต็มชีวิตของพวกเขา

ข้อมูลจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า สืบเนื่องจากวิกฤติการพลัดถิ่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลพวงของสงคราม ความขัดแย้ง และการประหัตประหาร ทำให้จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มสูงมากกว่า 103 ล้านคน สูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และมากกว่าครึ่งคือผู้หญิงและเด็ก ประชากรกลุ่มหนึ่งที่ต้องตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่สุดในโลกคือชาวซีเรีย ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยกว่า 13 ล้านคน ครึ่งหนึ่งกำลังพลัดถิ่นอยู่ในประเทศ และอีก 6.6 ล้านคนต้องลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จอร์แดน เลบานอน และตุรกี
 

ปี 2565  UNHCR จับมือกับนักธุรกิจหญิงในประเทศไทย นำโดย แวววรรณ กันต์นันท์ธร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรสโกลด์ (ไทยแลนด์) จำกัด รวมถึงเพื่อนนักธุรกิจอีกมากมายไม่จำกัดเพศ ร่วมกันก่อตั้ง“กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัย” เป็นประเทศที่ 2 ถัดจากออสเตรเลีย กองทุนฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสมาชิกกิตติมศักดิ์รุ่นริเริ่มแล้วขยายวงไปสู่คนอื่นๆ จนปัจจุบันในวาระครบรอบหนึ่งปี กองทุนฯ มีสมาชิกมากถึง 30 คน ปีแรกสามารถมอบเงินบริจาคให้กับ UNHCR เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5,500,000 บาท  นำไปแปรเปลี่ยนเป็นความช่วยเหลือด้านการเงิน สร้างความมั่นคงปลอดภัยแก่ครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียได้แล้วกว่า 380 คน จาก 76 ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวในจอร์แดนตลอดปี พ.ศ. 2565

การช่วยเหลือจากกองทุนฯ ในรูปของการให้เงินสดโดยตรง ไนวีน อัลเบิร์ต รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย อธิบายว่า  UNHCR ริเริ่มโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน เพื่อเป็นเครื่องมือมอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยแต่ละครอบครัวที่มีความต้องการที่ต่างกันใน 100 ประเทศทั่วโลกรวมถึงในจอร์แดน

“วิธีการนี้ยังช่วยยกระดับผู้หญิงในชุมชน ส่งเสริมบทบาทความเท่าเทียมทางเพศ และเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิงลี้ภัย เพื่อการอาศัยอยู่อย่างผสมผสานกลมกลืนกับชุมชนที่มอบที่พักพิงอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ เงินกองทุนมาจากค่าสมัครสมาชิกรายปี 80,000 บาทนำไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับผู้ลี้ภัยแม่เลี้ยงเดี่ยวในจอร์แดน อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน UNHCR อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ต้องเป็นซีเรียเพราะเมื่อแรกเริ่มทำกองทุนฯ ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมีมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวนมากอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจอร์แดน ประเทศที่รองรับผู้ลี้ภัยมากถึง 743,669 คน 89% เป็นชาวซีเรีย 46% เป็นเด็ก 80% อาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัย 

“จริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยอยู่ในเมือง ซึ่งเขาก็เหมือนกับเรา ต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นวิธีการให้ความช่วยเหลือที่ดีที่สุดสำหรับ UNHCR คือการให้เงินสำรองเลี้ยงชีพ” อรุณีย้ำว่าวิธีนี้ดีที่สุดและ UNHCR เชื่อใจผู้ลี้ภัย เพราะสิ่งที่ผู้หญิงให้ความสำคัญที่สุดคือ “อนาคตของลูก” ด้วยเหตุนี้ UNHCR จึงนำเงินค่าสมาชิกกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัยแปรเปลี่ยนเป็นเงินสำรองเลี้ยงชีพสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวชาวซีเรียในจอร์แดน 

สำหรับแวววรรณ ผู้ผลักดันกองทุนฯ จนประสบความสำเร็จในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วม 

“ความสำเร็จของกองทุนฯ เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน ร่วมผลักดันกองทุนฯ ให้ขยายตัวอย่างมีคุณค่าต่อสังคมในระดับโลก การเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องของกองทุนฯ สะท้อนให้เห็นพลังของผู้หญิงยุคใหม่ที่พร้อมเป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างในการส่งต่อความช่วยเหลือกลับคืนให้สังคมอย่างไร้ขอบเขต”

แน่นอนว่า ความช่วยเหลือที่มนุษย์มีให้กันไม่จำกัดเพศ แม้ใช้ชื่อว่า กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ฯ ก็ใช่ว่าผู้ชายจะมีส่วนร่วมไม่ได้ เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 2 วันชัย เตชะเวชนุกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท กฤษณะมงคล ซึ่งเป็นผู้บริจาคให้กับ UNHCR อยู่แล้วบริจาคนำร่องให้กองทุนฯ อีก 1,000,000 บาท 

“UNHCR เป็นกองทุนระดับนานาชาติ มีประสิทธิภาพ ลงพื้นที่จริง จึงมั่นใจในการบริจาค ยิ่งพบว่าผู้หญิงช่วยกันสร้างเครือข่ายนักธุรกิจหญิง ถือเป็นรูปแบบที่น่าสนใจเป็นการนำมุมมองใหม่ๆ มาให้ และช่วยลดความเดือดร้อนของผู้ลี้ภัย” วันชัยกล่าวด้วยแววตาเชื่อมั่น 

ผู้สนใจร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัย สมัครสมาชิกรายปีเพียง 80,000 บาท เพื่อให้แม่เลี้ยงเดี่ยวชาวซีเรียได้มีโอกาสดูแลครอบครัวอันเป็นที่รัก ตามความขาดแคลนของตนเอง อาทิ การจัดหาอาหาร ค่าเช่าบ้าน อุปกรณ์เพื่อสุขอนามัย ค่ารักษาพยาบาล และการศึกษาของลูก  ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครสมาชิกได้ที่ http://www.unhcr.org/th/leading-women-fund