เปิดภารกิจลับ‘รัฐมนตรีใหม่’ บริหาร“ทรัพยากร”ให้มีประสิทธิภาพ

เปิดภารกิจลับ‘รัฐมนตรีใหม่’ บริหาร“ทรัพยากร”ให้มีประสิทธิภาพ

“รัฐมนตรี” ในโควตาของพรรคเพื่อไทย ต่างก็มีภารกิจแตกต่างกันออกไป โจทย์หน้าฉากมุ่งหวังกอบกู้แต้มการเมือง ส่วนโจทย์หลังฉาก ต้องบริหารจัดการ“ทรัพยากร” ในกระทรวง-หน่วยงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเช่นกัน

Key Points :

  • ​รัฐบาล "เศรษฐา 2" มาพร้อมกับความหวังในการขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นบทพิสูจน์ฝีมือของ “นายกฯ-นายใหญ่-เพื่อไทย”
  • บรรดา รัฐมนตรีใหม่ มี ภารกิจเปิด-ภารกิจลับ ถูกวางบทบาทให้เดินตามแผนงานที่วางเอาไว้ หวังให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และเป็นผลดีกับ สส. รวมถึงฐานเสียง“เพื่อไทย”

  •  

    โจทย์หน้าฉากมุ่งหวังกอบกู้แต้มการเมือง โจทย์หลังฉากต้องบริหารจัดการ “ทรัพยากร” ในกระทรวง-หน่วยงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

​ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ รัฐบาล"เศรษฐา 2" จึงมาพร้อมกับความหวังในการขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของ “นายกฯ-นายใหญ่-เพื่อไทย” ว่ายังมีดีมากพอจะนำพาประเทศฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไปได้หรือไม่

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการปรับ ครม. มีหลายโผ-หลายชื่อ จงใจปล่อยออกมาตามหน้าสื่อ บางชื่อหวังเช็คกระแสตอบรับจากสังคม บางชื่อต้องการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง

ทว่าในช่วง 1-2 วันสุดท้ายก่อนส่งรายชื่อ “นายใหญ่-บิ๊กรัฐบาล” ได้เรียกติวเข้ม “รัฐมนตรีเก่า” และ "ว่าที่รัฐมนตรีใหม่" เพื่อวางกรอบการทำงานอย่างแบบเข้มงวด พร้อมวางเป้าหมายอย่างจริงจัง หวังให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และเป็นผลดีกับ สส. รวมถึงฐานเสียง“เพื่อไทย”

โดย “รัฐมนตรี” ในโควตาของพรรคเพื่อไทย ต่างก็มีภารกิจแตกต่างกันออกไป โจทย์หน้าฉากมุ่งหวังกอบกู้แต้มการเมือง ส่วนโจทย์หลังฉาก ต้องบริหารจัดการ“ทรัพยากร” ในกระทรวง-หน่วยงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเช่นกัน

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งเดิมนั่ง รมว.คมนาคมตำแหน่งเดียว แต่การเพิ่มตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีให้กับ “สุริยะ” เนื่องจาก “นายใหญ่-เศรษฐา” ไว้วางใจมากพิเศษ และเรียกใช้บริการงานลึก-งานลับภายในหลายเรื่อง

สังเกตได้ว่า “สุริยะ” ติดตาม “เศรษฐา” ลงพื้นที่ในทุกครั้งเหมือนเงาตามตัว หากติดภารกิจจะส่ง “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม ไปช่วยงาน “เศรษฐา” ในทุกพื้นที่

ขณะเดียวกัน “สุริยะ” ยังคอยบริหารจัดการทรัพยากรทางการเมือง เพื่อดูแล สส. อย่างเข้าถึง ทำให้ สส. เพื่อไทย หลายคนแฮปปี้กับความ “ใจป๋า” หากนั่งเก้าอี้รองนายกฯ การดูแลงานกระทรวงคมนาคมจะราบรื่นยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องผ่านรองนายกฯคนอื่น

“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ ควบรมว.คลัง คอนเนกชันหลังฉากไม่ธรรมดา แม้จะรู้กันว่า ทำงานเบื้องหลังให้ “ตระกูลชินวัตร” มาอย่างยาวนาน แต่ไม่ค่อยมีใครให้เครดิต แต่รอบนี้พลังพิเศษที่หนุนนำให้เข้าวิน มาจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งอดีตนายกฯหญิง-เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า-หลังบ้านแสนสิริ

ภารกิจหลักสำคัญของ “พิชัย”จะต้องหามาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ได้ ต้องขับเคลื่อนนโยบายของพรรคเพื่อไทยให้เห็นเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันต้องวางมาตรการกำกับดูแลตลาดหุ้นให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นการลงทุนภายในประเทศ ที่สำคัญนโยบายเฉพาะหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ที่“พิชัย”เคยอธิบายถึงโครงการนี้ในหลายแวดวง

จึงต้องจับตาการทำงานของ “ขุนคลัง” ในยุครัฐบาลเศรษฐา 2 จะสามารถทำได้ตามที่พรีเซนต์ให้ “นายใหญ่-บิ๊กรัฐบาล” ฟังได้หรือไม่

“พิชิต ชื่นบาน” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มือกฎหมายของ “ตระกูลชินวัตร” ฝ่ากระแสต้านคดีถุงขนม เข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีจนได้ จากเดิมที่เคยมีชื่อตั้งแต่ช่วงจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 แต่ติดปมสอบตรวจสอบคุณสมบัติ

งานของ “พิชิต” นอกจากจะเข้ามาช่วยกลั่นกรองงานด้านกฎหมายของรัฐบาลแล้ว ยังมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำคือการพา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ กลับบ้าน ซึ่งขณะนี้ยิ่งลักษณ์ยังมีโทษจำคุก 5 ปี ในคดีรับจำนำข้าว โดยในช่วงต่อสู้คดี “พิชิต”วางคน-วางเกมด้วยตัวเอง เมื่อวันที่อำนาจกลับมาอยู่ในมือ เขาจึงถูกวางตัวให้ปฏิบัติภารกิจสำคัญนี้ต่อ

“จักรพงษ์ แสงมณี” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ “จิราพร สินธุไพร” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ต้องจับตาว่า “เศรษฐา” จะมอบหมายให้ใครดูแลงานด้านใด โดยเฉพาะงานดูแลสื่อ

โดยในส่วนของ “จักรพงษ์” ถือเป็นสายตรง “เศรษฐา” เพียงคนเดียวที่สามารถสั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้ หลังจากคอยติดตามาตัั้งแต่ครั้งยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยถูกส่งต่อมาจากคนกลุ่มก๊วนเดียวกัน คือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง   

ส่วนในรายของ “จิราพร” ระยะหลังได้รับความไว้วางในจากนายกฯเศรษฐาไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน โดยตามติดเป็นเงาในการลงพื้นที่แทบทุกครั้ง

มีกระแสข่าวว่า “จักรพงษ์” อาจจะได้ดูแลสื่อ ส่วน “จิราพร” อาจจะเข้ามาบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีงบประมาณก้อนโตให้คอยบริหาร แถมยังมีข่าวลับ “บิ๊กเนม” มอบโจทย์ให้ “จิราพร” เรียบร้อยแล้ว ว่ากันว่าบางโครงการที่ผ่าน ครม.ไปแล้ว แต่หากมองว่าเป็นอุปสรรคให้เขี่ยทิ้งได้ทันที

“สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข ยี่ห้อ “สมศักดิ์” การันตีงานเนี๊ยบ อย่าลืมว่ากระทรวงสาธารณสุข มีกลไกของอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นกลไกที่หยั่งรากฝังลึกในพื้นที่มากพอสมควร

โดยในช่วงการเลือกตั้งปี 2566 พรรคภูมิใจไทย สามารถใช้กลไกของ “อสม.” สร้างความสำเร็จในหลายพื้นที่ แม้พรรคภูมิใจไทยจะไม่มีกระแส แต่กลับได้ สส.เขต เข้ามาเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจาก อสม.

ในทางการบริหารเครือข่ายอำนาจ การโยก “สมศักดิ์” มาใช้ประโยชน์จากกระทรวงสาธารณสุข จึงถูกมองว่าถูกฝาถูกตัว แต่ในด้านการทำผลงานให้เป็นที่จดจำ มีนโยบายโดนใจประชาชนเหมือนในอดีต ต้องวัดกันว่า “สมศักดิ์” จะสามารถทำได้หรือไม่

เปิดภารกิจลับ‘รัฐมนตรีใหม่’ บริหาร“ทรัพยากร”ให้มีประสิทธิภาพ

“เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา โยกจากกระทรวงวัฒนธรรม มาคุมกระทรวงใหญ่ขึ้น เบื้องหลังมีแรงหนุนจาก “ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน สายตรงอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์  โจทย์ใหญ่ของ “เสริมศักดิ์” คือการปรับจูนการทำงานกับ “บิ๊กข้าราชการ-ข้าราชการ”ให้สอดประสานกันให้มากที่สุด

เนื่องจากในยุค “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” มีกระแสออกมาตลอดว่า ไม่สามารถสั่งการ“ข้าราชการ” ให้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลได้ อีกทั้ง “ฝ่ายการเมือง” ยังมีอาณาจักร แยกออกจาก “ฝ่ายราชการ” อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังต้องใช้กลไกของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคอยหนุนการทำงานของ “ทีมซอฟพาวเวอร์” ซึ่งมี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นั่งเป็นรองประธานชุดใหญ่

ขณะที่ “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รมว.วัฒนธรรม ถูกโยกออกจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากปัญหาข้างต้น แต่การมาอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะวัฒนธรรมของ “บิ๊กข้าราชการ” จัดอยู่ในสายแข็ง จึงต้องวัดฝีมือของลูกสาวบ้านใหญ่โคราช ที่แม้จะมีแบ็คอัพจะดี แต่ระดับเจ้ากระทรวงต้องพิสูจน์ฝีมืออีกครั้ง

“เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง เด็กปั้นสายตรงของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ รมว.พาณิชย์ ภารกิจหลักคือ ร่วมทีมผลักดันนโยบายแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตให้ได้ ถือเป็นความท้าทายและเดิมพันการเมืองครั้งแรก เพราะหากสำเร็จย่อมมีโอกาสไปต่อ แต่หากยังมีปัญหา โอกาสที่“เผ่าภูมิ” จะต้องรับผิดชอบทางการเมืองก็มีสูงเช่นกัน

“อรรถกร ศิริลัทธยากร” รมช.เกษตรและสหกรณ์ แม้จะเป็นน้องรักของ “บิ๊กพลังประชารัฐ” แต่เขาถูกจับโยงว่า มีสายสัมพันธ์อันดีกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ฉะนั้น การยึดกระทรวงเกษตรฯมาเป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐ ต้องติดตามว่า “ธรรมนัส”จะคายอำนาจ มอบหมายงานให้ “อรรถกร”ดูแลด้านใดบ้าง

ทว่า การข้ามรุ่นมานั่งเก้าอี้เสนาบดีของ“อรรถกร”ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นภายในพลังประชารัฐพอสมควร เพราะกลุ่มกำแพงเพชรอย่าง “อนันต์ ผลอำนวย” ที่ถูกผลักดันโดย “วราเทพ รัตนากร” ไปพอใจอยู่ไม่น้อย

“สุชาติ ชมกลิ่น” รมช.พาณิชย์ ตามเนื้อผ้าแล้วมีโอกาสนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีตั้งแต่รอบแรก แต่เนื่องจากเจ้าตัวเคลื่อนเกมการเมืองผิดแนวทางพรรครวมไทยสร้างชาติ จนถูกคาดโทษเอาไว้ มาเที่ยวนี้“สุชาติ”ได้รับความไว้วางใจจาก “บิ๊กรวมไทยสร้างชาติ”ให้กลับสู่เก้าอี้อำนาจอีกครั้ง แม้จะลดชั้นจาก รมว.แรงงาน มาเป็น รมช.พาณิชย์ 

ด้วยสไตล์การเมืองรุ่นเก๋า ดูแล สส.อย่างดี จนเป็นที่รักใคร่ของ สส. รวมไทยสร้างชาติ แรงเชียร์ “สุชาติ” ให้คัมแบ็กเก้าอี้เสนาบดีภายในพรรค จึงมากกว่าเสียงสนับสนุน “อนุชา นาคาศัย” ให้นั่ง รมช.เกษตรฯ ต่อ ภารกิจของ “เสี่ยเฮ้ง” คือการทำพื้นที่และดูแล สส.ตามถนัด

นอกจากภารกิจของ “รัฐมนตรีใหม่” การลาออกจากตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ แบบฟ้าผ่าของ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” ได้กลายเป็นประเด็นอาฟเตอร์ช็อค ทั้งในพรรคและสังคม 

แม้เบื้องหน้า“ปานปรีย์”จะระบุเหตุผลว่า มาจากการถูกปรับออกจาก“รองนายกฯ” เหมือนถูกลดชั้น สวนทางกับผลงาน ซึ่งเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังอาจมีอีกหลายสาเหตุ ที่เจ้าตัวไม่เปิดเผยให้สาธารณะรับรู้ ซึ่งอาจมีน้ำหนักเพียงพอให้ตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ ทั้งที่เจ้าตัวมีผลงานโดดเด่น

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการเมืองของรัฐบาลหลังการปรับครม. มักจะมีร่องรอยความขัดแย้งปรากฏขึ้นเสมอ เนื่องจาก “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง”ต่างมีความฝันสูงสุด คือการนั่งเก้าอี้เสนาบดี เพื่อเข้าสู่อำนาจการบริหาร

จึงต้องจับตาว่า ผู้มีอำนาจทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังแต่ละพรรค จะบริหารความขัดแย้งไม่ให้ปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร และจะสามารถฝ่ามรสุมไปได้จนครบวาระหรือไม่