เดิมพันเลือกตั้งไต้หวัน | อาร์ม ตั้งนิรันดร

เดิมพันเลือกตั้งไต้หวัน | อาร์ม ตั้งนิรันดร

การเลือกตั้งไต้หวัน 13 ม.ค.นี้ เป็นการเลือกตั้งสามเส้าระหว่างผู้สมัครประธานาธิบดีจากสามพรรคการเมือง ได้แก่ พรรค DPP (พรรครัฐบาลที่ครองอำนาจมา 8 ปี) พรรค KMT (พรรคฝ่ายค้านหลัก) และพรรค TPP (พรรคทางเลือกใหม่)

ผลโพลล์ล่าสุด 10 วันก่อนเลือกตั้ง คะแนนพรรครัฐบาลเดิม DPP ยังเป็นฝ่ายนำ แต่ทิ้งหากจากอันดับสองอย่างพรรค KMT ราวร้อยละ 4 เท่านั้น ส่วนพรรค TPP นั้น คะแนนทิ้งห่างไกลออกไป

หลายคนมองว่าการเลือกตั้งทำนายยากมาก เพราะตัวตัดสินจะอยู่ที่คนที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งมีราวร้อยละ 10 รวมทั้งคนที่เคยคิดจะเลือกพรรค TPP ซึ่งนาทีสุดท้ายอาจเทคะแนนไปที่พรรค DPP หรือ KMT แทน

เดิมพันเลือกตั้งไต้หวัน | อาร์ม ตั้งนิรันดร

ไม่มีใครแน่ใจว่าผู้สนับสนุนพรรค TPP หากถูกบังคับให้เลือกระหว่างพรรค DPP กับพรรค KMT แล้ว จะเลือกพรรคไหน เพราะฐานเสียงของพรรคที่สามอย่าง TPP มีทั้งคนรุ่นใหม่ที่ผิดหวังจากการบริหารงานของ DPP แต่ก็ไม่ชอบพรรคอนุรักษนิยมแบบ KMT

ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มฐานเสียงที่ไม่พอใจท่าทีที่ร้อนแรงและแข็งกร้าวต่อจีนแผ่นดินใหญ่ของพรรค DPP ซึ่งอาจพาเกาะไต้หวันไปสู่สงคราม

ตอนนี้ในจิตวิทยามวลชนของไต้หวัน มีสองกระแสที่ขัดแย้งกัน กระแสหนึ่งคือความเบื่อรัฐบาล 8 ปี และต้องการเปลี่ยนขั้วการเมือง ซึ่งก็คงต้องโหวตให้โอกาสพรรค KMT แต่อีกกระแสก็คือกระแสชาตินิยมไต้หวัน ซึ่งต้องการโหวตแสดงอัตลักษณ์ตัวตนไต้หวัน ไม่ต้องการสยบยอมจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งต้องเลือกพรรครัฐบาลเดิมคือพรรค DPP ต่อไป

ผมสนใจมากกว่าว่า หากพรรค DPP หรือพรรค KMT ชนะ ผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของภูมิภาคและของโลกจะแตกต่างกันอย่างไร

เดิมพันเลือกตั้งไต้หวัน | อาร์ม ตั้งนิรันดร

หากพรรค DPP ชนะ ความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างเกาะไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ อุณหภูมิก็คงร้อนมากขึ้น เพราะผู้สมัครประธานาธิบดีคนใหม่ของพรรค DPP นับเป็นผู้สมัครคนแรกที่เคยประกาศชัดเจนว่ามีจุดยืนสนับสนุนเอกราชของเกาะไต้หวัน

แน่นอนว่าในระยะสั้น คงไม่ได้ร้อนถึงจุดที่จะเกิดสงครามได้ทันที แต่ก็จะผลักกระแสในสังคมไต้หวันไปในทิศทางที่แยกตัวออกจากจีน ย้ำความเชื่อของคนบางกลุ่มในจีนว่าเวลาอาจไม่ได้อยู่ข้างจีนอีกต่อไปแล้ว และควรรีบเร่งปฏิทินการรวมชาติ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้กำลังทหาร

ความตึงเครียดและขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยาวนานต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่สงคราม ตัวอย่างเช่น เครื่องบินจีนที่บินขู่โดยล้ำน่านฟ้าไต้หวัน หากเกิดอุบัติเหตุถูกยิงตกก็อาจผลักความตึงเครียดขัดแย้งและภาวะสงครามให้มาถึงได้อย่างง่ายดาย

ไม่นับรวมว่ารัฐบาลไต้หวันก็จะต้องการแรงสนับสนุนจากสหรัฐในเรื่องของอาวุธและการป้องกันตัวเอง หากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐหลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.มีท่าทีที่แรงต่อจีนยิ่งขึ้น เมื่อผสมโรงกับปัจจัยภายในไต้หวันที่ร้อนแรงต่อจีน ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ย่อมสูงขึ้น

ดังนั้น หากพรรครัฐบาล DPP ชนะ เทรนด์การแยกเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ และโลกตะวันตกออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ หรือที่เรียกกันว่ากระแส Decoupling ก็จะยิ่งเร่งตัวขึ้นยิ่งกว่าเดิม

เพราะทุกฝ่ายมองว่าโอกาสเกิดสงครามมในอนาคตมีสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงออกจากกัน เตรียมตัวถึงวันที่ฝั่งตะวันตกอาจจำเป็นต้องคว่ำบาตรหรือหยุดค้าขายกับจีนเพราะสงครามไต้หวัน

การเคลื่อนย้ายทุนและเทคโนโลยีจากไต้หวันและโลกตะวันตกที่แต่เดิมอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่มายังอาเซียนก็จะเร่งเร็วขึ้นอีก กลายเป็นปรากฏการณ์เร่งเครื่องการเปลี่ยนภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

แต่หากพรรค KMT เป็นฝ่ายพลิกเกมกลับมาคว้าชัยชนะได้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันก็จะราบรื่นขึ้น แต่สถานการณ์ก็อาจไม่ง่ายดังในยุครัฐบาลหม่า อิงจิ่ว ในอดีต ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งเป็นยุคฮันนีมูน เพราะบริบทการเมืองโลกและการเมืองจีนได้เปลี่ยนไปมากแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนที่ตึงเครียด ซึ่งย่อมกดดันให้ไต้หวันถูกใช้เป็นไพ่ในเกมมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการกระชับอำนาจของสี จิ้นผิง และกระแสชาตินิยมในจีน ไม่ว่าจะเป็นกระแสคนรุ่นใหม่ในไต้หวัน ซึ่งมีอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันสูงกว่าในอดีตมาก ล้วนทำให้ยากที่สองฝั่งคาบสมุทรจะกลับมารักกันราบรื่นดังเดิม

แต่อย่างน้อยในระยะสั้น ชัยชนะของพรรค KMT ก็พอจะผ่อนกระแสความร้อนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามลง ขณะเดียวกัน พรรค KMT เองคงมีนโยบายที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจกับจีน ซึ่งก็จะชะลอปรากฏการณ์ Decoupling ไม่ให้เร่งตัวขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อีกไม่กี่วันเท่านั้นครับ เราก็จะทราบฉันทามติของคนไต้หวัน แต่คิดว่าไม่ว่าลมกระแสการเมืองจะพัดไปทางใด ครั้งนี้จะเป็นฉันทามติที่ไม่เด็ดขาด แต่จะชนะชนิดคะแนนทิ้งกันแบบสูสีใกล้เคียงยิ่งครับ