3 ข้อต้องรู้ศึกเลือกตั้งไต้หวัน ชี้ชะตา ‘สงคราม-สันติภาพ’ กับจีน

3 ข้อต้องรู้ศึกเลือกตั้งไต้หวัน ชี้ชะตา ‘สงคราม-สันติภาพ’ กับจีน

การเลือกตั้งทั่วไปใน “ไต้หวัน” วันเสาร์ที่ 13 ม.ค. ที่จะถึงนี้ นอกจากจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของปีนี้แล้ว (รองจากบังคลาเทศ) ก็ยังเป็นการเปิดคูหาที่คนทั่วโลกกำลังจับตามองมากที่สุดครั้งหนึ่งด้วย

เพราะแม้ว่าจะมีประชากรเพียง 23.5 ล้านคน แต่การเลือกตั้งไต้หวันจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางระหว่างสงครามและสันติภาพกับ “จีน” ด้วย เนื่องจากไต้หวันยังมีสถานะทางการเมืองที่เป็นข้อโต้แย้ง แม้ว่าเกาะแห่งนี้จะเป็นอิสระโดยพฤตินัยตั้งแต่ทศวรรษ 1940 แต่เกาะและดินแดนรอบนอกยังคงถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนอ้างสิทธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไต้หวันเกือบทั้งหมดปฏิเสธ แต่ก็กลัวที่จะพูดต่อสาธารณะเนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดสงคราม
 

เหล่าผู้สังเกตการณ์ในสหรัฐและจีนจะจับตาดูผลลัพธ์อย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่าคนไต้หวันจะเลือก พรรคก๊กมินตั๋ง (เคเอ็มที) ที่อนุรักษ์นิยมและเป็นมิตรกับปักกิ่งมากกว่า หรือ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ที่เป็นฝ่ายกลางซ้ายและเป็นมิตรกับสหรัฐมากกว่า ซึ่งปกครองไต้หวันมาตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และยังมี พรรคประชาชนไต้หวัน (ทีพีพี) ที่มีแนวการเมืองอยู่กึ่งกลางระหว่างสองพรรคดังกล่าวด้วย

เปิด 3 ข้อควรรู้เลือกตั้งไต้หวัน

1. การเลือกตั้งไต้หวันมีระบบอย่างไร

ในวันที่ 13 ม.ค. นี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเข้าคูหาเลือกพร้อมกันทั้ง 3 ส่วน คือ ประธานาธิบดีไต้หวัน รองประธานาธิบดี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่ง สส.แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ จะเป็นตัวชี้วัดทิศทางการเมืองภาพใหญ่และความนิยมรวมถึงชื่อเสียงของพรรคการเมือง

ปัจจุบันรัฐสภาไต้หวันมีที่นั่งทั้งหมด 113 ที่นั่ง เป็นแบบแบ่งเขต 73 ที่นั่ง ปาร์ตี้ลิสต์ 34 ที่นั่ง และอีก 6 ที่นั่งสำหรับสมาชิกผู้ทรงเกียรติ

การเปิดคูหาจะเริ่มต้นในเวลา 08.00 - 16.00 น. (เวลาไต้หวันเร็วกกว่าไทย 1 ชั่วโมง) โดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนราว 19.5 ล้านคน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์จารณ์ว่าตัดโอกาสคนรุ่นใหม่ไปเป็นจำนวนมาก เพราะใช้เกณฑ์อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และต้องกลับไปเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านของตนเอง ทำให้ 1 วันก่อนเลือกตั้งจะมีประชาชนหลายหมื่นคนที่ต้องเดินทางกลับบ้านเพื่อไปเลือกตั้ง แต่ถึงอย่างนั้นการใช้สิทธิเลือกตั้งกลับสูงถึง 66.27% ในปี 2016 และ 74.9% ในปี 2020

 

2. ประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้

เป็นเรื่องยากถ้าจะพูดถึงการเลือกตั้งไต้หวันโดยไม่กล่าวถึง “จีน” เนื่องจากความสัมพันธ์ของไต้หวันกับจีนถ้วนถูกแฝงอยู่ในประเด็นสำคัญๆ ของการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ตั้งแต่ เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัยราคาเข้าถึงได้ พลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงงบกลาโหม

แม้จะมีความตึงเครียดทางการเมือง แต่ การค้าจีน-ไต้หวัน ก็มีมูลค่าสูงถึงราว 2.05 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022 หลายพรรคการเมืองเช่น ก๊กมินตั๋ง กล่าวโทษว่าความสันพันธ์ที่ย่ำแย่กับจีนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันซบเซาไปด้วย โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่ถูกสั่งห้ามการไปเที่ยวไต้หวันแบบเป็นรายบุคคลตั้งแต่ปี 2019 และแบบหมู่คณะตั้งแต่ปี 2020

พรรคดีพีพีของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินพยายามจะชดเชยโดยการหันไปกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ทำให้ในปี 2019 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ไต้หวันสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้สูงสุดทุบสถิติใหม่ที่ 11.86 ล้านคน นำโดยฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

หนึ่งในประเด็นสำคัญของพรรคก๊กมินตั๋งและทีพีพี ก็คือ การฟื้นข้อตกลงการค้าภาคบริการข้ามช่องแคบไต้หวัน ซึ่งจะนำไปสู่การค้าเสรีและกระตุ้นการค้าและการลงทุนจากจีน ในอดีตเคยมีการลงนามข้อตกลงนี้ในปี 2013 ในยุคที่ไต้หวันปกครองโดยประธานาธิบดี หม่าอิงจิ่ว จากพรรคก๊กมินตั๋ง แต่ก็ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวประท้วงใหญ่ทางการเมืองในปี 2014 ของขบวนการดอกทานตะวันที่นำโดยเหล่านักศึกษา และกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่ทำให้พรรคดีพีพี ขึ้นมาได้รับความนิยมแทนหลังจากนั้นมา

 

3. จับตาปฏิกิริยา ‘จีน’ หลังการเลือกตั้ง

ทั้งชาวไต้หวันเองและผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจะจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า จีนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อผลการเลือกตั้งในครั้งนี้

จีนมองพรรคดีพีพีว่าเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางการเมือง และเตือนไปยังผู้มีสิทธิเข้าคูหาว่าการเลือกพรรคดีพีพีไม่ต่างอะไรกับการเลือก “สงครามช่องแคบไต้หวัน” โดยที่ผ่านมานอกจากจีนจะปฏิเสธการเจรจากับไช่อิงเหวินหลังไช่ชนะการเลือกตั้งสมัยแรกแล้ว จีนยังเพิ่มกิจกรรมทางทหารทั้งในประเทศและน่านน้ำใกล้เกาะไต้หวัน พร้อมทั้งดึงประเทศต่างๆ ให้ย้ายข้างหันมาสถาปนาความสัมพันธ์การทูตอย่างเป็นทางการกับจีนแทนไต้หวัน และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังยุติการลดกำแพงภาษีกับสินค้าส่งออกประเภทเคมีภัณฑ์จากไต้หวันด้วย

จาง จื้อจุน หัวหน้าสมาคมความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน และอดีตหัวหน้าสำนักงานกิจการไต้หวันของจีน ได้แถลงสาส์นวันปีใหม่ที่ผ่านมาว่า ชาวไต้หวันเผชิญกับทางเลือกสำคัญในการเลือกตั้งวันที่ 13 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นการตัดสินใจเลือกระหว่าง “สันติภาพกับสงคราม” “ความมั่งคั่งกับความเสื่อมโทรม” พร้อมเรียกร้องให้ชาวไต้หวัน “เลือกทางที่ถูกต้อง”

 

รู้จัก 3 ผู้สมัครตัวเต็ง ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีใหม่ไต้หวัน

3 ข้อต้องรู้ศึกเลือกตั้งไต้หวัน ชี้ชะตา ‘สงคราม-สันติภาพ’ กับจีน

ผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีไต้หวัน 3 คนที่น่าจับตามอง ประกอบด้วย รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จากพรรคดีพีพี ตามาด้วยนายกเทศมนตรีกรุงนิวไทเป อดีตผู้บัญชาการตำรวจ ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเคเอ็มที พรรรคฝ่ายค้านหลัก และสุดท้ายคืออดีตนายกเทศมนตรี จากพรรคทีพีพี ซึ่งไม่พอใจระบบเลือกตั้งแบบผู้ชนะกินรวบของไต้หวัน  และมีคะแนนรั้งท้าย

1.วิลเลียม ไหล ชิงเต๋อ

3 ข้อต้องรู้ศึกเลือกตั้งไต้หวัน ชี้ชะตา ‘สงคราม-สันติภาพ’ กับจีน

ตัวเก็งจากพรรคดีพีพี วัย 64 ปี เริ่มเข้ามาเดินในเส้นทางการเมืองในฐานะสมาชิกสภา และเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองไท่หนาน ตามด้วยเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของไช่ อิงเหวิน ในช่วงปี 2560-2562  ปัจจุบันเป็นรองประธานาธิบดีไต้หวัน

จุดยืนที่เด่นชัดของไหล คือปกป้องสถานะปกครองตนเองของไต้หวัน จนถูกมองจากรัฐบาลจีนว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน  และในการหาเสียงเลือกตั้ง ไหล ยืนยันว่าเขาจะเดินตามรอยไช่ อิงเหวิน ในเรื่องความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาสถานะในปัจจุบันนี้ต่อไป 

 แต่ไหล ก็เชื่อว่าไต้หวันเป็นเพื่อนกับจีนได้ และอยากเห็นจีน มีประชาธิปไตยและเสรีภาพแบบเดียวกับไต้หวัน

หากไหล ชนะเลือกตั้งวันที่ 13ม.ค. ก็ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่แก่ไต้หวัน เนื่องจากพรรคดีพีพี ปกครองไต้หวันมา 8 ปี และไม่เคยมีพรรคการเมืองใดได้เป็นผู้นำรัฐบาลติดต่อกัน 3 สมัยมาก่อน นับตั้งแต่ไต้หวันจัดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2539

 

2.โหว โหย่วอี๋

3 ข้อต้องรู้ศึกเลือกตั้งไต้หวัน ชี้ชะตา ‘สงคราม-สันติภาพ’ กับจีน

ตัวแทนจากพรรคเคเอ็มที วัย 66 ปี เลือกยึดอาชีพตำรวจก่อนจะก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง  มีผลงานที่สร้างชื่อคือการจับตัวฆาตกรชื่อดัง และเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนคนสำคัญในคดีพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี เฉิน ชุ่ยเปียน เมื่อปี 2547

โหว ตัดสินใจลงเล่นการเมืองในปี 2553 และได้รับตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงนิวไทเปในปี 2561 จากนั้นชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 อย่างถล่มทลายในปี 2565

โหว ต่อต้านการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวัน แต่ในช่วงการหาเสียง  เขาพยายามไม่แสดงจุดยืนเรื่องความสัมพันธ์กับจีน

ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้ จุดชนวนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์  นอกจากนี้ เขายังเลี่ยงคำถามเรื่องนโยบายจีนเดียวในงานประชุมในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนมิ.ย. ปี 2566 จนถูกตั้งคำถามว่าจะรับมือปัญหาทางการทูตที่ซับซ้อนได้หรือ

 

3. เค่อ เหวินเจ๋อ

3 ข้อต้องรู้ศึกเลือกตั้งไต้หวัน ชี้ชะตา ‘สงคราม-สันติภาพ’ กับจีน

เค่อ ตัดสินใจอำลาอาชีพศัลยแพทย์ชื่อดังและเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน และมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อมีจุดยืนสนับสนุนการเคลื่อนไหวดอกทานตะวันของเหล่านิสิต นักศึกษาเมื่อปี 2557 ที่ลุกฮือต่อต้านการเข้ามามีอำนาจในไต้หวันมากขึ้นของจีน

เค่อ สนับสนุนทั้ง เฉิน ชุ่ยเปียน และ ไช่ อิงเหวิน ในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เขากล่าวหาพรรคดีพีพีว่าเป็นพรรคหนุนสงคราม และก่อตั้งพรรคทีพีพี ในปี 2562  โดยเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ไม่พอใจพรรคดีพีพีและไม่อยากสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง เค่อ ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาว และช่วงหนึ่งถึงขั้นมีคะแนนนิยมแซงหน้าไหล

แต่คะแนนของเขาก็ค่อยๆ ลดลงจนมาอยู่อันดับ 3 และเค่อต้องการให้ไต้หวันใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นเป็นหนึ่งเดียวกันกับจีน