ประชุมทวิภาคี ‘สี-ไบเดน’ กับเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ ‘สหรัฐตัดจีนไม่ขาด’

ประชุมทวิภาคี ‘สี-ไบเดน’ กับเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ ‘สหรัฐตัดจีนไม่ขาด’

การประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่กำลังมีขึ้นในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐ สัปดาห์นี้ ยังมีอีกหนึ่งเวทีคู่ขนานสำคัญไม่แพ้กันที่จะจัดขึ้นด้วย

นั่นก็คือ “การประชุมสุดยอดทวิภาคี” ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน" ซึ่งจะมีขึ้นนอกรอบการประชุมเอเปค

และการที่ทั้งสองคนเป็นผู้นำเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก ก็เป็นเหตุผลมากเพียงพอแล้วที่จะพักยกความขัดแย้งชั่วคราวและหันมานั่งโต๊ะเจรจากัน

ประเด็นความขัดแย้งต่างๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาข้อสรุปร่วมกันได้ ตั้งแต่ประเด็นเรื่อง "ไต้หวัน" ไปจนถึง "การแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม" และแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจกลายเป็นปัญหาบานปลายตามมาได้ เช่น กรณีของบอลลูนจีนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบอลลูนสปาย 

 

  • "เศรษฐกิจมูลค่า 90 ล้านล้าน" สัมพันธ์ที่สหรัฐตัดจีนไม่ขาด

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เชื่อม 2 ประเทศนี้เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะ "สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ" การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศนี้มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 7.6 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 27.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2022

ประชุมทวิภาคี ‘สี-ไบเดน’ กับเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ ‘สหรัฐตัดจีนไม่ขาด’

ขณะที่การลงทุนทั้งทางตรงและในตลาดตราสารหนี้-ตราสารทุน ก็พุ่งสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 65 ล้านล้านบาท) 

เศรษฐกิจคือพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นสิ่งที่กำลังเชื่อมสหรัฐกับจีนอีกครั้งในช่วงนี้ โดยทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาเตรียมการกันมาหลายเดือนเพื่อปูทางไปสู่ซัมมิททวิภาคี เช่น การพบกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วระหว่างรัฐมนตรีคลังสหรัฐ เจเน็ต เยลเลน และรองนายกรัฐมนตรีของจีน เหอ ลี่เฟิง มือเศรษฐกิจคนใหม่ของจีนที่มาแทน หลิว เฮ่อ 

"การแบ่งแยกเศรษฐกิจของพวกเราโดยสิ้นเชิง หรือแนวทางที่ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศในอินโด-แปซิฟิกถูกบังคับให้เลือกข้าง จะส่งผลกระทบเชิงลบในระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญ" "เราไม่สนใจในโลกที่แตกแยกและผลที่เลวร้ายเช่นนี้" เยลเลน กล่าวในงานสมาคมเอเชีย โซไซตี เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา

  • ศัตรูเฉพาะหน้าเรียกคะแนนเสียงเลือกตั้ง

"ในอีกด้านหนึ่ง" สหรัฐและจีนอาจเป็นศัตรูที่จำเป็นสำหรับกันและกันเพื่อเรียก "คะแนนเสียงทางการเมือง"

บลูมเบิร์กระบุว่า ไบเดนอาจต้องการปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์กับจีนมาเรียกคะแนนเสียง หลังจากที่โพลล์หลายสำนักบ่งชี้ว่ากำลังเพลี่ยงพล้ำจากปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ และคนอเมริกันจำนวนหนึ่งยังไม่ค่อยเชื่อในนโยบายอุตสาหกรรมแบบ "ไบเดนโนมิกส์" ที่รัฐบาลอ้างว่าทำให้สหรัฐแข่งขันกับจีนได้ดีขึ้น    

โพลล์ล่าสุดจากไฟแนนเชียล ไทม์ส ร่วมกับมหาวิทยาลัยมิชิแกน ชี้ว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 14% เท่านั้นที่เชื่อว่าพวกเขามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นหลังไบเดนเข้ารับตำแหน่ง นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ผลงานทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีไบเดน อาจบั่นทอนโอกาสคว้าชัยในศึกเลือกตั้งสหรัฐสมัยหน้า

อย่างไรก็ตาม  หลังจากที่มีความตึงเครียดกันมาอย่างยาวนานและยิ่งรุนแรงขึ้นช่วงต้นปีนี้ หลังจากการที่สหรัฐยิงบอลลูนจีนที่ข้ามพรมแดนเข้ามาในสหรัฐจนทำเอาผู้นำจีนไม่รับโทรศัพท์ของผู้นำสหรัฐมาหลายเดือน ล่าสุด ผู้นำจีนได้เปลี่ยนท่าทีโดยส่งสัญญาณผ่านสื่อว่า พร้อมจะยุติความเป็นศัตรูกับสหรัฐลงแล้ว
 

  • จีนขอพักยกความขัดแย้ง มุ่งแก้ปัญหาในบ้านก่อน

"มีเป็นพันเหตุผลที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนดีขึ้น และไม่มีแม้แต่เหตุผลเดียวที่จะทำให้มันแย่ลง" ประธานาธิบดีสีได้กล่าวระหว่างการประชุมสภาประชาชนจีนเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

บลูมเบิร์กระบุว่า การรักษาเสถียรภาพความสัมพันธ์กับสหรัฐจะช่วยให้สีมีเวลามามุ่งแก้ปัญหาภายในบ้านได้มากขึ้น ก่อนหน้านี้เคยเป็นที่คาดกันว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมาดีขึ้นหลังจบวิกฤตโควิด-19 แต่จีนก็เผชิญกับวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์แทนและทำให้โมเมนตัมการเติบโตต้องชะงักลง ประเด็นที่ชาติตะวันตกพูดถึงจีนในช่วงไม่กี่เดือนมานี้คือ เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตขึ้นเล็กน้อยหรืออาจไม่โตเลยก็ได้ และนำไปสู่สิ่งที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อจีน นั่นก็คือ การเคลื่อนไหวของเงินทุน

ประชุมทวิภาคี ‘สี-ไบเดน’ กับเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ ‘สหรัฐตัดจีนไม่ขาด’  จากการคำนวณของบลูมเบิร์กของฐานข้อมูลจากธนาคารกลาง พบว่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย. ปีนี้ อัตราการถือครองตราสารหนี้และตราสารทุนจีนโดยต่างชาติ ลดลงถึง 17% ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ จนเหลือเพียงแค่ 1.88 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 6.7 ล้านล้านบาท) เท่านั้น 

"การที่จีนต้องการลดความตึงเครียดกับสหรัฐลงนั้นเป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจน โดยแรงขับส่วนหนึ่งมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในจีนเอง จีนเผชิญกับแรงกดดันครั้งใหญ่ และอย่างน้อยก็ต้องทำให้ประเทศต่างๆ และนักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นว่าจีนจะยังคงเปิดกว้างต่อโลกอยู่" ตงชู หลิว ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจากซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง กล่าว 

แม้จีดีพีจีนในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาะขยายตัวได้มากกว่าคาดที่ 4.9% แต่ในเชิงพื้นฐานแล้วถือว่ายังเป็นช่วงที่ย่ำแย่ของอยู่ และคนจีนที่เติบโตมาในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูมาตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ก็กำลังเผชิญภาวะที่ยากลำบากกันเป็นครั้งแรกในชีวิต

บ้านที่ซื้อไว้มีมูลค่าลดลงจากการที่รัฐบาลออกมาตรการคุมความร้อนแรงในตลาดอสังหาฯ ส่วนคนที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยก็หางานได้ยากขึ้น ท่ามกลางอัตราการว่างงานในกลุ่มวัยรุ่นที่พุ่งสูงสุดทุบสถิติ 20% ขณะที่ข้าราชการในบางพื้นที่ที่งบประมาณน้อยก็ถูกหั่นเงินเดือนลงหรือถูกเรียกคืนเงินโบนัส     

ไม่ได้มีแค่เงินที่ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนจีนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน

ประชุมทวิภาคี ‘สี-ไบเดน’ กับเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ ‘สหรัฐตัดจีนไม่ขาด’

เพราะเอฟดีไอรายไตรมาสของจีนกำลังเผชิญภาวะ "ติดลบ" เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 1998 โดยตัวเลขการลงทุนเดือน ก.ค. - ก.ย. ที่ผ่านมาติดลบไปถึง 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.25 แสนล้านบาท) 

ขณะที่การเมืองจีนเองก็มีการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ กับการปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงถึง 2 คนคือ รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกลาโหม ภายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การประชุมสุดยอดทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับจีนในสัปดาห์นี้