สิงคโปร์ท็อป 3 แรงงานมีศักยภาพสูง 'ไทยตามหลังเวียดนาม' รั้งอันดับ 79 จาก 134

สิงคโปร์ท็อป 3 แรงงานมีศักยภาพสูง 'ไทยตามหลังเวียดนาม' รั้งอันดับ 79 จาก 134

ดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลกของอินซีด เผยว่า สวิตเซอร์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์มากที่สุดในโลก รองลงมาเป็นสิงคโปร์และสหรัฐ ขณะที่ไทยรั้งอันดับ 79 ตามหลังเวียดนามที่อยู่อันดับ 75 ส่วนจีนและอินเดียหลุดท็อปโลก

อินซีด (INSEAD) สถาบันธุรกิจในฝรั่งเศส เผยแพร่รายงานดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (จีทีซีไอ) ปี 2566 เมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์มากที่สุดในโลก โดยมีค่าดัชนีสูงถึง 78.96 รองลงมาเป็นประเทศสิงคโปร์ มีค่าดัชนีอยู่ที่ 77.11 และอันดับที่ 3 เป็นของสหรัฐ มีค่าดัชนีอยู่ที่ 76.60

ขณะที่ดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยอยู่ที่ 40.77 ครองอันดับที่ 79 จาก 134 ประเทศ ร่วงลงมาจากอันดับที่ 75 เมื่อปี 2565 ส่วนเวียดนามอยู่อันดับที่ 75 ร่วงลงมาหนึ่งอันดับจากปีก่อน โดยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.50

ดัชนีจีทีซีไอดังกล่าว เป็นรูปแบบจำลองปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output model) หรือเปรียบได้กับปัจจัยด้านนโยบายรัฐบาล (Input) และผลของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ (Output) ซึ่งเป็นการประเมินหลายสิ่งที่แต่ละประเทศต้องทำ เพื่อสร้างและให้แรงงานได้รับความสามารถพิเศษหรือทักษะต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตน

รายงานระบุว่า โมเดลจีทีซีไอวัดศักยภาพทุนมนุษย์จากปัจจัย 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านสิทธิของทุนมนุษย์ (Enable) อาทิ วัดจากภูมิทัศน์กฎระเบียบ, ภูมิทัศน์ตลาด และภูมิทัศน์ด้านธุรกิจและแรงงาน 2.ด้านการดึงดูดทุนมนุษย์ (Attract) อาทิ ความเปิดกว้างต่อตลาดทุนมนุษย์นอกประเทศและในประเทศ 3. ด้านการส่งเสริมทุนมนุษย์ (Grow) อาทิ การศึกษาในระบบ, การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเข้าถึงโอกาสการเติบโต 4.ด้านการรักษาทุนมนุษย์ (Retain) อาทิ การส่งเสริมความยั่งยืนและไลฟ์สไตล์ของทุนมนุษย์ 5.ด้านทักษะวิชาชีพและเทคนิค (Vocational and Technical Skills) และ 6.ด้านทักษะการเรียนรู้ระดับโลก (Global Knowledge Skills)

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี อ้างอิงรายงานดังกล่าว เผยว่า ประเทศในยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ครองอันดับหนึ่งมานาน 10 ปีติดต่อกัน เนื่องจากการคุ้มครองทางสังคมและคุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอยู่ในระดับสูง ขณะที่สิงคโปร์ได้ครองอันดับ 2 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว เพราะกำลังแรงงานมีการศึกษาระดับสูงและมีเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรม ส่วนสหรัฐสามารถไต่อันดับขึ้นมาได้ 1 อันดับจากปีที่แล้วที่ครองอันดับ 4 โดยสหรัฐมีความโดดเด่นด้านการสร้างบุคคลที่มีความสามารถ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยและสถาบันธุรกิจระดับโลก หนุนให้สหรัฐมีคะแนนการศึกษาในระบบดีเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศเหมาะแก่การเรียนรู้ตลอดชีวิตอันดับที่ 1 ของโลก

สิงคโปร์ท็อป 3 แรงงานมีศักยภาพสูง \'ไทยตามหลังเวียดนาม\' รั้งอันดับ 79 จาก 134

  • เทียบศักยภาพแรงงานไทยกับประเทศอื่น

เมื่อพิจารณาปัจจัยชี้วัด 6 ด้านตามกลุ่มรายได้ ซึ่งไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง พบว่า คะแนนด้านสิทธิของทุนมนุษย์ การส่งเสริมทุนมนุษย์ และทักษะการเรียนรู้ระดับโลกของไทย ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของกลุ่ม โดยมีคะแนน 43.79, 40.19 และ 25.16 ตามลำดับ แต่คะแนนด้านการดึงดูดทุนมนุษย์ การรักษาทุนมนุษย์ และทักษะวิชาชีพและเทคนิคของไทย ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม โดยมีคะแนน 44.37, 50.09 และ 41.03 ตามลำดับ และคะแนนกลุ่มนี้ของไทยอยู่อันดับที่ 92, 83, 81 ของโลก 

ขณะที่เวียดนามอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ มีคะแนนปัจจัยชี้วัด 6 ด้านมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม และด้านที่มีคะแนนมากกว่าคะแนนเฉลี่ยกลุ่มมากที่สุดคือ ด้านการส่งเสริมทุนมนุษย์ ซึ่งเวียดนามครองด้านนี้เป็นอันดับที่ 55 ของโลก ทำคะแนนได้ 41.45 

เมื่อมองไปที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงอย่างสิงคโปร์ ซึ่งครองประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกนั้น มีคะแนนปัจจัยชี้วัด 6 ด้านมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มเกือบทุกด้าน และครองอันดับ 1 ในด้าน แรงงานมีทักษะการเรียนรู้ระดับโลก โดยมีคะแนนอยู่ที่ 74.92 แต่ด้านการรักษาทุนมนุษย์ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 71.17 โดยคะแนนด้านนี้สิงคโปร์ครองอันดับที่ 38

ส่วนประเทศอันดับ 3 ของโลกอย่างสหรัฐ มีคะแนนปัจจัยชี้วัด 6 ด้านส่วนใหญ่มากกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศรายได้สูง และครองอันดับ 1 เป็นประเทศเหมาะแก่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยคะแนนสูงถึง 98.84 ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์มีคะแนนปัจจัยชี้วัด 6 ด้าน เกินค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศรายได้สูงทั้งหมด เป็นประเทศที่ส่งเสริมสิทธิของทุนมนุษย์อันดับ 1 โดยมีคะแนน 87.33 และเป็นประเทศที่สามารถรักษาทุนมนุษย์ไว้ได้อันดับที่1 ของโลก และมีคะแนนตัวชี้วัดนี้ 92.07

สิงคโปร์ท็อป 3 แรงงานมีศักยภาพสูง \'ไทยตามหลังเวียดนาม\' รั้งอันดับ 79 จาก 134

  • จีนหลุดท็อป อินเดียหลุด 100

ประเทศยุโรปอื่น ๆ ติดอันดับประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลกเช่นกัน อาทิ เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ติดอันดับที่ 7, 5, 6, และ 8 ส่วนประเทศจากภูมิภาคอื่น ๆ ที่รายงานระบุถึง ก็ติดอันดับสูง ๆ เช่นกัน อาทิ ออสเตรเลียติดท็อป 8 และสหราชอาณาจักรติดท็อป 10 แต่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างจีน กลับไม่ติดท็อปเลย แม้กระทั่งท็อป 20

ปี 2566 นี้ จีนไต่อันดับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลกอันดับที่ 40 ด้วยคะแนน 52.57 จากเดิมเมื่อปีก่อนอยู่อันดับที่ 47 ขณะที่อินเดีย ประเทศที่คาดว่าจะกลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกภายในปี 2573 กลับอยู่ในอันดับที่ 103 จาก 134 ประเทศ

อินซีด เผยว่า อินเดียอยู่ในระดับที่ต่ำเพราะความเชื่อมั่นทางธุรกิจตกต่ำ ทำให้บั่นทอนความสามารถในการดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถจากทั้งในและนอกประเทศ

“ปัญหาดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถของอินเดีย ส่งผลให้เกิดแรงงานที่มีทักษะไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ และสร้างความยากลำบากต่อการหาแรงงานที่มีทักษะอย่างมาก” รายงาน ระบุ

ทั้งนี้ คะแนนตัวชี้วัด 6 ด้านของจีนส่วนใหญ่มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง มีเพียงแค่การดึงดูดทุนมนุษย์ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ จีนเป็นประเทศที่ส่งเสริมทุนมนุษย์ให้มีทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนนในด้านนี้

ขณะที่คะแนนตัวชี้วัด 6 ด้าน ของอินเดียส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศปานกลางค่อนข้างต่ำ และมีคะแนนด้านการดึงดูดทุนมนุษย์อยู่ที่ 26.06 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดจากทั้ง 6 ด้านของอินเดีย

  • เสี่ยงเกิดสงครามแย่งแรงงานทักษะสูง

การแข่งขันเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงทั่วโลกเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากความไม่แน่นอนและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ยังคงส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน และการเมืองอย่างต่อเนื่อง

รายงานเผยว่า

“เราอาจเห็นสงครามแย่งแรงงานทักษะสูงมากขึ้น คุณภาพชีวิตและความยั่งยืนอาจกลายเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของหลายประเทศที่ต้องการผลักดันให้ตนเองกลายเป็นศูนย์กลางแห่งแรงงานที่มีความสามารถ”

นอกจากนี้ การมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในหลายอุตสาหกรรม อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางความสามารถมากขึ้น

“แรงงานไม่มีคุณภาพหรือมีคุณภาพต่ำ อาจได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้น ขณะที่แรงงานอาชีพใหม่ ๆ ที่มีทักษะสูง อาจได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นของอัลกอริทึมและอุปกรณ์เฉพาะทาง” รายงาน ระบุ