เปิดที่มา วันคนโสด 11-11 เริ่มในรั้วมหา'ลัย ไปจบที่วันช้อปปิ้งแห่งชาติจีน

เปิดที่มา วันคนโสด 11-11 เริ่มในรั้วมหา'ลัย ไปจบที่วันช้อปปิ้งแห่งชาติจีน

ก่อนที่จะกลายมาเป็นมหกรรมวันช้อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในจีน จนลามไปถึงอาเซียนและทั่วโลก '11-11' เป็นเพียงวันคนโสดของเด็กนักศึกษาในจีนที่ต้องการเปย์ตัวเองเพื่อทดแทนที่ไม่มีแฟนเท่านั้น

ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครอีกแล้วที่ไม่รู้จัก วันคนโสด (Single Day) หรือวันที่ 11 เดือน 11 (11-11) เพราะขึ้นแท่นเป็นวันช้อปปิ้งออนไลน์แห่งชาติในจีนและฝั่งเอเชีย เทียบเท่าได้กับวันแบล็กฟรายเดย์ (Black Friday) และวันไซเบอร์มันเดย์ (Cyber Monday) หรือวันช้อปปิ้งแห่งชาติในสหรัฐไปแล้ว 
 

  • วันคนโสด 11-11 เริ่มต้นมาจากไหน

แนวคิดเรื่องวันคนโสดเริ่มต้นขึ้นมาจากมหาวิทยาลัยหนานจิง ในปี 1993 โดยในช่วงแรกนั้นวันคนโสดมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่าวัน "Bachelor's Day" เพื่อเป็นวันให้นักศึกษาที่ไม่แฟนได้ฉลองความโสดด้วยการใช้เงินปรนเปรอซื้อของขวัญให้ตัวเองไปจนถึงจัดปาร์ตี้และงานพบปะสังสรรค์กัน 

เปิดที่มา วันคนโสด 11-11 เริ่มในรั้วมหา\'ลัย ไปจบที่วันช้อปปิ้งแห่งชาติจีน

  • ชาวจีนใช้เงินโดยเฉลี่ยในวันคนโสดเท่าไร

จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา เบน พบว่าในปีที่แล้ว (2022) ยอดการช้อปปิ้งจับจ่ายใช้สอยในวันคนโสดในจีน อยู่ที่ 1.15 ล้านล้านหยวน (ราว 5.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่าถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับ "สัปดาห์ช้อปปิ้งออนไลน์แห่งชาติในสหรัฐ" หรือสัปดาห์ช้อปปิ้งหลังวันขอบคุณพระเจ้า ที่เริ่มตั้งแต่วันศุกร์แบล็กฟรายเดย์ ไปจนถึงวันจันทร์ไซเบอร์มันเดย์ ซึ่งทำเงินไป 3.53 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.28 ล้านล้านบาท) ในปีที่แล้ว   

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่เห็นว่ามหาศาลนี้คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยจากปีก่อนเพียงแค่ 3% เท่านั้น และยังนับเป็นปีที่มีการเติบโตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในจีนด้วย 

ปัจจัยฉุดหลักๆ มาจากการการระจายมหกรรมช้อปปิ้งออกไปในรอบปีไม่ให้กระจุกอยู่แค่วันเดียว เช่น เทศกาลช้อปปิ้งกลางปีที่เรียกว่า "618" ซึ่งกลายเป็นวันช้อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของจีนไปแล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะผลกระทบต่อเนื่องมาจากมาตรการควบคุมโควิด-19     

แต่ในปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในจีนเชื่อว่าทิศทางจะกลับมาดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จาค็อบ คุก ซีอีโอจากบริษัทเทคโนโลยีและการตลาด WPIC กล่าวกับรอยเตอร์สว่า คาดว่าปีนี้ยอดขายน่าจะโตเฉลี่ยได้ 14 - 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะเศรษฐกิจและการบริโภคเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น หรือสูงกว่าฝั่งสหรัฐที่บริษัทเทคฯ รายใหญ่อย่างอะโดบี แอนาไลติกส์ คาดการณ์ว่าสัปดาห์ไซเบอร์มันเดย์ปีนี้จะโตได้เพียง 4.5%   

  • ชาวจีนชอบซื้ออะไร แบรนด์ยี่ห้อไหน

แม้ว่า "อาลีบาบา" (Alibaba) โดย แจ๊ค หม่า ในยุคนั้นจะเป็นผู้ที่เอาแนวคิดวันคนโสดมาต่อยอดทำการตลาด "Double 11" จนสร้างชื่อบนแพลตฟอร์มของตนเองเมื่อปี 2009 แต่ปัจจุบัน มหกรรมช้อปปิ้งวันคนโสดได้กระจายไปยังทุกแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว   

เปิดที่มา วันคนโสด 11-11 เริ่มในรั้วมหา\'ลัย ไปจบที่วันช้อปปิ้งแห่งชาติจีน

ค่าย "เจดีดอตคอม" (JD.com) เข้ามาเริ่มทำการตลาดวันคนโสดในปี 2012 ขณะที่แพลตฟอร์ม "PDD" ของบริษัทพินตัวตัว (Pinduoduo) ก็เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ตามมาเช่นกัน โดยเน้นที่ "กลยุทธ์ด้านราคา" เน้นสินค้าราคาถูก เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิมอย่างอาลีบาบาและแพลตฟอร์มในเครือนี้ เช่น ทีมอลล์ (Tmall) และเถาเป่า (Taobao) ได้   

ส่วนประเภทสินค้าที่ชาวจีนนิยมช้อปมากที่สุดในปีที่แล้ว คือ "สินค้าอุปโภคบริโคที่จำเป็น อาหารเสริม วิตามิน และผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง" ซึ่งคาดว่าสินค้ากลุ่มนี้จะยังเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ไปพร้อมกับสินค้าในกลุ่ม "ไลฟ์สไตล์" เช่น อุปกรณ์กีฬาและเสื้อผ้าสปอร์ตแวร์   

 

  • 'วันคนโสด' ถูกนำมาเทียบวัน 'แบล็กฟรายเดย์' อย่างไร 

จากข้อมูลของอะโดบีพบว่า ในสัปดาห์วันช้อปปิ้งของฝั่งสหรัฐเมื่อปี 2022 นั้น สินค้าที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ ตุ๊กตาโปเกมอน โมเดลรถจิ๋วฮอทวีลส์ โทรทัศน์ รองเท้า และหม้อทอดไร้น้ำมัน 

ขณะที่ข้อมูลจากเบน และอะโดบีพบว่า ระหว่างปี 2014 - 2021 วันคนโสดมีอัตรายอดขายเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีถึง 34% ในขณะที่สัปดาห์ไซเบอร์มันเดย์โตเฉลี่ย 17% 

 

  • บริษัทต่างๆ ได้รับประโยชน์จากวันคนโสดจีนอย่างไร

บริษัทใหญ่ๆ ในฝั่งสหรัฐ ตั้งแต่แบรนด์กีฬาอย่าง ไนกี้, ลูลูเอมอน แบรนด์เครื่องสำอางอย่าง เอสเต้ ลอเดอร์ ไปจนถึงแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง พร็อกเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ต่างก็เข้ามาร่วมทำการตลาดใหญ่บนแพลตฟอร์มทีมอลล์ และได้ยอดตอบแทนที่คุ้มค่า   

เปิดที่มา วันคนโสด 11-11 เริ่มในรั้วมหา\'ลัย ไปจบที่วันช้อปปิ้งแห่งชาติจีน

เมื่อปีที่แล้ว แบรนด์ใหญ่อย่าง แอปเปิล ไนกี้ และลอรีอัล เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่สามารถทำยอดขายได้มากที่สุดจากเทศกาลวันคนโสด ควบคู่ไปกับแบรนด์จากฝั่งจีน เช่น ไฮเออร์ ไมเดีย และแบรนด์เครื่องกีฬา อันตา 

ไนกี้เคยเปิดเผยว่า "ยอดขายช่วงวันคนโสด"ในจีนซึ่งมีกลุ่มวัยรุ่นเป็นคนขับเคลื่อนหลัก ได้แซงหน้ายอดขายในภาพรวมของอุตสาหกรรมกีฬาไปแล้ว โดยดีมานด์จากกลุ่มคนวัย  Gen Z ทำให้ยอดขายของไนกี้บนทีมอลล์ในช่วงดังกล่าวเติบโตถึง 45% 

ขณะที่เจดีดอตคอม ระบุว่า แอปเปิลสามารถขายสินค้าได้ถึง "1 พันล้านหยวน" (ราว 5 พันล้านบาท) ภายใน "1 นาทีแรก" ของมหกหรรมช่วงสุดท้ายของงานปีที่แล้ว  

 

ที่มา: รอยเตอร์ส