ถอดบทเรียนคาซัคสถาน ‘ศาสนา-สันติภาพ’สร้างซอฟต์พาวเวอร์

ถอดบทเรียนคาซัคสถาน ‘ศาสนา-สันติภาพ’สร้างซอฟต์พาวเวอร์

รอบปีที่ผ่านมา คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ถูกพูดถึงมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่หมายถึงความบันเทิงระบำรำฟ้อน ผ้าไทย มวยไทยที่จะดึงดูดใจชาวต่างชาติให้มาชอบประเทศเรา จนลืมไปว่าการยึดถือคุณค่าสากล ปฏิบัติตัวตามปทัสถานโลกก็สร้างอำนาจได้เหมือนกัน อย่างที่คาซัคสถานทำมานานกว่า 20 ปี

ไม่กี่วันก่อนคาซัคสถานเป็นเจ้าภาพการประชุมเลขาธิการสภาผู้นำศาสนาโลกและศาสนาดั้งเดิมครั้งที่ 21 จัดขึ้น ณ พระราชวังแห่งสันติภาพและความสมานฉันท์ (Palace of Peace and Reconciliation) ในกรุงอัสตานาในรูปของการสนทนาโต๊ะกลมโดยผู้แทนศาสนาอิสลาม คริสต์ ยูดาห์ พุทธ ฮินดู เต๋า ชินโต และศาสนาอื่นๆ จาก 23 ประเทศรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ 

สำนักเลขาธิการสภาผู้นำศาสนาโลกและศาสนาดั้งเดิมเป็นองค์กรทำงานของสภาผู้นำศาสนาโลกและศาสนาดั้งเดิม ที่ประชุมกันครั้งแรกในวันที่ 23-24 ก.ย.2546 ตามความคิดริเริ่มของนูร์ซุลตัน อาบิเชวิช นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถานหลังเกิดการโจมตีก่อการร้าย 9/11 เมื่อสองปีก่อนหน้านั้น  วัตถุประสงค์ของสภาผู้นำศาสนาโลกฯ คือ ต้องการหาจุดร่วมกันด้านศาสนาและเป็นสถาบันระหว่างประเทศของผู้คนต่างความเชื่อให้ได้มาพูดคุยและตัดสินใจร่วมกัน  ถอดบทเรียนคาซัคสถาน ‘ศาสนา-สันติภาพ’สร้างซอฟต์พาวเวอร์

สิ่งที่สภาผู้นำศาสนาโลกฯให้ความสำคัญคือ  การสถาปนาสันติภาพ ความกลมกลืน และความอดทนอดกลั้นเป็นหลักการที่ไม่อาจสั่นคลอนได้ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์,  คนต่างศาสนา ศรัทธา ชาติ ชาติพันธุ์เคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน, ป้องกันไม่ให้ผู้คนใช้ความรู้สึกทางศาสนาทำให้ความขัดแย้งและการเป็นปรปักษ์บานปลาย   ถอดบทเรียนคาซัคสถาน ‘ศาสนา-สันติภาพ’สร้างซอฟต์พาวเวอร์

การประชุมสภาผู้นำศาสนาโลกฯ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ สามปี ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 7 จัดขึ้นเมื่อปี2565 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จร่วมประชุมด้วยพระองค์เอง เป็นสันตะปาปาพระองค์ที่ 2 ที่มาเยือนคาซัคสถานถัดจากสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2  ที่เคยเสด็จในปี 2544 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการประชุมที่มีมานานกว่า 20 ปี ในฐานะเวทีบ่มเพราะความเข้าใจระหว่างอารยธรรมตะวันออกและตะวันตก ส่งเสริมการพูดคุยต่างศาสนาต่างความเชื่อ ส่วนการประชุมเลขาธิการฯ ซึ่งเป็นองค์กรทำงานของสภาผู้นำศาสนาโลกฯ ประชุมกันเป็นประจำทุกปี ปีนี้ครั้งที่ 21  เป็นการนำปฏิญญาที่ประกาศในสภาผู้นำศาสนาโลกฯ เมื่อปีก่อนมาสู่การปฏิบัติ ปฏิญญามีอยู่ด้วยกัน 35 ข้อ สรุปในภาพรวมได้ว่า สภาผู้นำศาสนาโลกฯ จะดำเนินกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการสนทนาในนามของสันติภาพ ความร่วมมือ และส่งเสริมคุณค่าทางจิตวิญญาณและจริยธรรม 

สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมคาซัคสถานถึงจัดงานแบบนี้มาหลายสิบปี หากพิจารณาข้อมูลพื้นฐานของประเทศจะเข้าใจว่า  คาซัคสถานเป็นรัฐโลกย์วิสัยที่มีความหลากหลายทางศาสนาถึงเกือบ 18 ศาสนาเด่น ได้รับการรับรองเสรีภาพทางความเชื่อ สังคมพหุวัฒนธรรมของคาซัคสถานมีประชากร 19.8 ล้านคน มีศาสนสถาน 3,200 แห่ง สมาคมศาสนาราว 4,000 สมาคม 

การสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดในปี 2564 พบว่าโครงสร้างชาติพันธุ์ของสังคมคาซัคสถานประกอบด้วยชาวคาซัค 70% รัสเซีย 18% อุซเบก 3% ยูเครน 1.4% อุยกูร์ 1.4% ตาตาร์ 1.08% เยอรมัน 0.95% และอื่นๆ 4%

แม้อิสลามเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในประเทศราว 70% ของประชากรแต่ผู้ศรัทธาในทุกศาสนารวมถึงผู้ไม่นับถือศาสนาสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนตามรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ หลักฐานประจักษ์ชัดคือจำนวนสมาคมทางศาสนาที่มีมากมายในประเทศ แม้แต่บางสมาคมที่ถูกห้ามก่อตั้งในบางประเทศ เช่น พยานพระยะโฮวาห์ โบสถ์แห่งความสามัคคี และสมาคมกฤษณภาวนามฤตนานาชาติ สามารถก่อตั้งได้ในคาซัคสถาน 

 ในเมื่อคาซัคสถานประสบความสำเร็จสร้างสังคมในแบบฉบับของตนเองที่ความอดกลั้นระหว่างคนต่างเชื้อชาติศาสนาเป็นหมุดหมายสร้างรัฐที่รุ่งเรือง การส่งเสริมความกลมกลืนระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์จึงกลายเป็นนโยบายต่างประเทศสำคัญที่คาซัคสถานต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีโลกหาทางออกเมื่อเกิดวิกฤติทางการทูต ตามที่ประธานาธิบดีคัสซิม โจมาร์ต โตคาเยฟ แถลงในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 78 ว่า การสนทนาระหว่างศาสนาและความเชื่อมีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ 

ในจังหวะที่การประชุมเลขาธิการสภาผู้นำศาสนาโลกและศาสนาดั้งเดิมครั้งที่ 21 จัดขึ้นในวันที่ 11 ต.ค. ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เกิดเหตุกลุ่มฮามาสบุกเข้ามาโจมตีอิสราเอล เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,400 คนส่วนใหญ่เป็นพลเรือน อิสราเอลเปิดฉากตอบโต้ด้วยการระดมโจมตีฉนวนกาซาทางอากาศเป็นเหตุให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตกว่า 4,500 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน 

ด้วยสถานการณ์ร้อนแรงการประชุมเลขาธิการสภาผู้นำศาสนาโลกและศาสนาดั้งเดิม ครั้งที่ 21 ออกแถลงการณ์ร่วม สรุปได้ว่า ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะบ่อนทำลายระเบียบโลกและเพิ่มความขัดแย้ง สภาผู้นำศาสนาโลกและศาสนาดั้งเดิมมีความสำคัญอย่างมากในฐานะเวทีสนทนาข้ามศาสนาและอารยธรรมระดับโลก

นอกจากนี้ที่ประชุมสนับสนุนแนวคิดของประธานาธิบดีสาธารณรัฐคาซัคสถานในการเปิดขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ระดับโลกเพื่อสันติภาพ สำหรับสร้างระบบความมั่นคงระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและแก้ไขความท้าทายและปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในหลายประเทศทั่วโลก ก้าวย่างสำคัญในการนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติคือโครงการริเริ่มว่าด้วยเอกภาพโลกเพื่อสันติภาพที่เป็นธรรมและความกลมกลืน ที่คาซัคสถานในฐานะประธานองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้เป็นผู้ผลักดัน 

จากที่มาของการประชุมสภาผู้นำศาสนาโลกฯ ที่เริ่มขึ้นสองปีหลังเหตุโจมตีก่อการร้าย 9/11 เมื่อปี 2544 จนถึงการประชุมเลขาธิการสภาผู้นำศาสนาโลกฯ ครั้งที่ 21 ที่เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในสายตาคนนอกเห็นจังหวะที่พอเหมาะพอดีของเวทีที่เปิดให้ผู้คนต่างศาสนาความเชื่อได้มาพูดคุยกันอย่างเปิดอก สิ่งนี้จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของคาซัคสถานได้หรือไม่ ในประเด็นนี้ โรมัน วาสสิเลนโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน  ไม่ได้ฟันธงว่า สิ่งนี้จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ แต่นโยบายต่างประเทศของคาซัคสถานถูกกำหนดจากหลายปัจจัยรวมถึงการรักสันติภาพ สร้างสมดุล และปฏิบัติได้จริง ยุทธศาสตร์นี้มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 นำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จนานกว่าสามทศวรรษ 

ยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศพุ่งเป้า “เพิ่มเพื่อน ไม่สร้างศัตรู” มีบทบาทสำคัญในการรับประกันความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศ คาซัคสถานไม่มีความขัดแย้งหรือปัญหาที่แก้ไขไม่ได้กับรัฐใดเลยในโลกนี้

 ข่าวสารจากผู้นำทางจิตวิญญาณสู่ผู้นำทางการเมือง 

 มณเธียร ธนานาถ เลขาธิการองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมเลขาธิการสภาผู้นำศาสนาโลกและศาสนาดั้งเดิมครั้งที่ 21 มองถึงผลอย่างเป็นรูปธรรมของการประชุมว่า ผู้นำศาสนาทั่วโลกได้มีโอกาสมาคุยกันในคาซัคสถาน ทุกคนมีความประสงค์ร่วมกันไม่อยากให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในโลกนี้ 

"นี่คือรูปธรรมของการสนทนาต่างความเชื่อ เป็นการส่งข่าวสารจากผู้นำทางจิตวิญญาณถึงผู้นำทางการเมือง"  

สำหรับการประชุมที่เกิดขึ้นในช่วงความรุนแรงในกาซาเกิดขึ้นพอดี ถือเป็นความท้าทายของงานด้านศาสนาหรือไม่  เลขาฯ พ.ส.ล.มองว่า จริงๆ แล้วผู้นำศาสนาทั่วโลกพูดภาษาเดียวกัน พูดถึงสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ไม่พูดถึงการทำลายล้างกัน การเรียกร้องสันติภาพต้องพูดบ่อยๆ ซ้ำๆ ให้ประเทศที่สนับสนุนความขัดแย้งได้ยินและได้เห็นมุมมองจากผู้นำศาสนาที่อยากให้เกิดความสงบสุข 

"ผมเชื่อว่าทุกคนมีศาสนาในตัวเอง และทุกศาสนาสอนให้คนไม่เบียดเบียนกัน ปัญหาคือมีเหตุผลทางการเมืองมากมายที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถปฏิบัติตามได้  และถ้าเราพูดบ่อยๆ สักวันหนึ่งผู้นำโลกก็ต้องเริ่มฟัง ทุกคนมีเหตุผลในการทำอะไรต่างๆ แต่เราไม่เห็นด้วยและควรมีทางเลือกที่ดีกว่านี้"

หากให้ถอดบทเรียนการแสดงบทบาทด้านศาสนาของคาซัคสถาน มณเธียรมองว่า คาซัคสถานแสดงบทบาทนี้อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปีแล้ว จะได้ผลมากหรือน้อยก็ยังทำต่อเนื่อง นั่นคือเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับสูงของศาสนาทั่วโลกได้มาประชุมกันซึ่งย่อมมีผลในการส่งข่าวสารไปสู่โลก

“ลองคิดดูผู้นำศาสนาระดับโลกมารวมกันอยู่ที่นี่ที่่เดียว ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องทำให้เขาเห็นว่าเวทีนี้เกิดประโยชน์จริงๆ” มณเธียรกล่าวทิ้งท้าย