หลายประเทศเตือนพลเมืองอพยพหนี 'เลบานอน' หวั่นปมขัดแย้งลุกลาม

หลายประเทศเตือนพลเมืองอพยพหนี 'เลบานอน' หวั่นปมขัดแย้งลุกลาม

สหรัฐ, อังกฤษ, เยอรมนี, ซาอุฯ, คูเวต ประกาศเตือนพลเมืองให้เดินทางออกจาก 'เลบานอน' ทั่วโลกจับตาหวั่นแนวรบใหม่ต่อจากฉนวนกาซา ขยายวงไปถึงเลบานอน

รัฐบาลในหลายประเทศต่างทยอยออกประกาศเตือนการเดินทาง แนะนำให้พลเมืองของตนเองเดินทางออกจากประเทศเลบานอนแล้ว เนื่องจากมีความกังวลมากขึ้นว่าการโจมตีของอิสราเอลในพื้นที่ฉนวนกาซา อาจขยายวงความขัดแย้งลุกลามออกไปในภูมิภาค ขณะที่การเดินทางเยือนอิสราเอลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ไม่สามารถช่วยรับประกันได้ว่าความขัดแย้งจะไม่ลุกลามออกไป หลังจากที่การประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐกับผู้นำกลุ่มประเทศอาหรับถูกยกเลิกไป

สำนักข่าวเอพีและอัลจาซีราห์รายงานว่า สหรัฐ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ได้ออกคำแนะนำเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ให้พลเมืองของตนเองเดินทางออกจากเลบานอน โดยสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำกรุงเบรุต ระบุว่า "เราขอแนะนำให้พลเมืองสหรัฐในเลบานอนเตรียมการให้พร้อมสำหรับออกจากประเทศ ซึ่งขณะนี้เที่ยวบินในเชิงพาณิชย์ยังมีพร้อมสำหรับการเดินทางอยู่" 

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐก็ได้ออกแถลงการณ์เตือนพลเมืองชาวอเมริกันทั่วโลกว่า ความตึงเครียดในตะวันออกลางอาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงต่อชาวอเมริกัน 

ทั้งนี้นอกจาก 3 ประเทศดังกล่าวแล้ว ประเทศในตะวันออกกลางเองก็เริ่มออกประกาศเตือนพลเมืองของตนเองในเลบานอนแล้วเช่นกัน ล่าสุด สถานเอกอัคราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงเบรุต ได้ออกประกาศเตือนให้พลเมืองซาอุฯ เดินทางออกจากเลบานอน "ในทันที" และมีรายงานด้วยว่าซาอุฯ ได้ปิดทำการสถานทูตในกรุงเบรุตชั่วคราวแล้ว หลังจากเกิดเหตุการยิงโต้ตอบกันระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน ในพื้นที่ทางตอนใต้ซึ่งมีพรมแดนติดกับอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน 

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของคูเวตก็ได้ออกประกาศเตือนเช่นกันในสัปดาห์นี้ โดยแนะนำให้พลเมืองของตนในเลบานอนเดินทางกลับประเทศ หากไม่มีภารกิจหรือเหตุจำเป็นให้ต้องอยู่ที่นั่น พร้อมกันนี้ยังประกาศเตือนการเดินทางโดยแนะนำประชาชนไม่ให้เดินทางไปยังประเทศเลบานอนในระยะนี้

หลายประเทศเตือนพลเมืองอพยพหนี \'เลบานอน\' หวั่นปมขัดแย้งลุกลาม
หวั่นแนวรบต่อไปอาจเป็นที่ 'เลบานอน'?

พล.ร.ต.แดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอล กล่าวว่า กลุ่มก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์จะต้องรับผิดชอบต่อการโจมตีหลายครั้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอล โดยการยีงขีปนาวุธเข้ามาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีการกล่าวอ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธฮามาสนั้น แท้จริงแล้วเป็นการลงมือที่เห็นชอบโดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งก็เหมือนกับการโจมตีอื่นๆ ตั้งแต่ต้นที่เป็นฝีมือของชาวปาเลสไตน์จากเลบานอน 

ด้าน พล.ท.เฮอร์ซี ฮาเลวี ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมอิสราเอล ได้ประกาศกร้าวก่อนหน้านี้ว่า อิสราเอลจะตอบโต้กลับอย่างแข็งกร้าวต่อการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ พร้อมเตือนว่าฮิซบอลเลาะห์จะถูกถอนรากถอนโคนหากเดินเกมผิด

ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ถล่มโรงพยาบาลอัล อาห์ลี อาหรับ ในฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมาจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน ส่งผลให้บรรยากาศความขัดแย้งได้ทวีความตึงเครียดมากขึ้น และทำให้แผนการเจรจา 4 ฝ่ายที่จะมีขึ้นระหว่างประธานาธิบดีไบเดน กับผู้แทนกลุ่มประเทศอาหรับต้องถูกพับแผนไป แม้ว่าทางฝ่ายอิสราเอลจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โจมตีโรงพยาบาล และชี้ว่าเป็นการยิงพลาดเป้าจากฝ่ายนักรบญิฮาดเองก็ตาม

กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ได้กล่าวประณามการโจมตีดังกล่าวว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล และเรียกร้องให้โลกมุสลิมรวมพลังกันแสดงออกถึงความโกรธแค้นนี้ โดยในเลบานอนนั้น มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนหลายร้อยคนที่บริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐ ในกรุงเบรุต เพื่อประท้วงที่สหรัฐอยู่เคียงข้างอิสราเอล โดยการประท้วงเป็นไปอย่างดุเดือดจนตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม นอกจากนี้ ยังมีรายงานการประท้วงของชาวมุสลิมในหลายประเทศทั่วโลก ต่อเหตุโจมตีโรงพยาบาลครั้งนี้ด้วย 

นายทอร์ เวนเนสแลนด์ ผู้ประสานงานพิเศษด้านกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นนั้น กำลังผลักดันให้ภูมิภาคตะวันออกกลางไปสู่หน้าผาของ "เหวอันตราย" และมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย

นายเวนเนสแลนด์กล่าวว่า "โลกกำลังใกล้จะตกเหวที่ลึกและอันตรายที่ซึ่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์อาจพลิกไปสู่สถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่น"

"ความขัดแย้งนี้นับเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดที่ชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ต้องเผชิญในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา" นายเวนเนสแลนด์กล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)

นายเวนเนสแลนด์เตือนว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ได้จุดชนวนความคับข้องใจที่มีมาอย่างยาวนาน และทำให้พันธมิตรกลับมารวมตัวกันทั่วทั้งภูมิภาค ความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะแพร่กระจายออกไปนั้นมีโอกาสสูงเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง

ในการแถลงข่าวนั้น นายเวนเนสแลนด์ระบุว่า การพบปะกับผู้นำของอียิปต์มุ่งเน้นไปที่การหารือเรื่องการอำนวยความสะดวกให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถผ่านจุดผ่านแดนราฟาห์ได้ง่ายขึ้น โดยจุดผ่านแดนราฟาห์ตั้งอยู่ที่ริมชายแดนฉนวนกาซาและอียิปต์ และเป็นจุดข้ามแดนเพียงแห่งเดียวระหว่างอียิปต์และฉนวนกาซา

"ขั้นตอนต่อไปจะต้องเป็นความพยายามร่วมกันเพื่อยุติความเป็นศัตรู และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวในภูมิภาค" นายเวนเนสแลนด์กล่าว