‘คลองปานามา’ แล้งหนักรอบ 100 ปี จ่อสะเทือนขนส่งโลก!

‘คลองปานามา’ แล้งหนักรอบ 100 ปี จ่อสะเทือนขนส่งโลก!

“เอลนีโญ” ทำพิษ! “คลองปานามา” หนึ่งในเส้นทางเดินเรือสำคัญที่สุดของโลก มีระดับน้ำลดลงจนเสี่ยงแห้งขอดในขณะนี้ เส้นทางนี้สำคัญเพียงใดต่อการค้าโลก

Key Points

  • “คลองปานามา” ตั้งอยู่บริเวณคอคอดของประเทศปานามา อันเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ 6% ของเรือขนส่งค้าทั่วโลกต้องผ่านเส้นทางนี้
  • ปี 2447 ทางการสหรัฐจึงเข้ามาสานต่อโครงการ จนขุดคลองปานามาได้สำเร็จในปี 2457 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 375 ล้านดอลลาร์หรือราว 13,000 ล้านบาท
  • รัฐบาลปานามามีรายได้จากการเก็บ “ค่าผ่านทาง” ตามประเภท ขนาด ลักษณะของเรือสินค้า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 54,000 ดอลลาร์หรือราว 1.9 ล้านบาทในการผ่านคลองนี้


เมื่อไม่นานมานี้ “คลองปานามาซึ่งตั้งอยู่บริเวณคอคอดของประเทศปานามา และเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญที่ 6% ของเรือขนส่งค้าทั่วโลกต้องผ่านเส้นทางนี้ กลับมีระดับน้ำลดต่ำลงมากที่สุดในรอบศตวรรษนับตั้งแต่เปิดในงานปี 2457 จน “สุ่มเสี่ยงที่จะแห้งขอด” อันมาจากปัญหาภัยแล้งเอลนีโญ

ทางการปานามาจึงออกระเบียบใหม่ ด้วยการกำหนดให้เรือที่จะผ่านคลองปานามาต่อไป ต้องบรรทุกสินค้าให้น้อยลงตามน้ำหนักที่กำหนด เพื่อที่เรือจะได้ลอยขึ้นสูงผ่านไปได้

สิ่งสำคัญคือ หากระดับน้ำในช่องแคบปานามาลดลงมากกว่านี้ ก็เป็นที่กังวลว่าจะทำให้การขนส่งสินค้าทั่วโลกชะงักได้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า คลองปานามามีความสำคัญต่อการค้าโลกอย่างไร และหากเรือขนส่งสินค้าไม่สามารถผ่านคลองนี้ได้ จะเกิดอะไรขึ้น

‘คลองปานามา’ แล้งหนักรอบ 100 ปี จ่อสะเทือนขนส่งโลก!

- สินค้าจากทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา เอเชีย ยุโรป ฯลฯ ล้วนต้องผ่านคลองปานามานี้ (เครดิต: American Journal of Transportation) -

 

‘คลองปานามา’ แล้งหนักรอบ 100 ปี จ่อสะเทือนขนส่งโลก! - คลองปานามา กำลังเผชิญน้ำลดลงมากที่สุดในศตวรรษ (เครดิต: AFP) -

  • ประวัติคลองปานามา

คลองปานามานั้นมีความยาว 82 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นเมื่อปี 2424 บริษัทฝรั่งเศสภายใต้การบริหารของนายแฟร์ดิน็องด์ เดอ แลแซ็ปส์ (Ferdinand de Lesseps) อดีตนักการทูตฝรั่งเศส ทำการขุดคลองปานามา แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากคนงานเผชิญโรคมาลาเรียและดินถล่มจนสูญเสียคนงานไปมากกว่า 20,000 คน

ต่อมาเมื่อปี 2447 ทางการสหรัฐจึงเข้ามาสานต่อโครงการ จนขุดคลองปานามาได้สำเร็จในปี 2457 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 375 ล้านดอลลาร์หรือราว 13,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมเส้นทางเดินเรือระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติก ช่วยลดระยะเวลาเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งมหาสมุทรนี้ลง 5 เดือน

หลังจากที่มีการเปิดใช้คลองปานามา เกิดข้อพิพาทและความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับปานามาในประเด็นความเป็นเจ้าของ และในปี 2507 ชาวปานามาก่อจลาจลหลังจากที่ถูกห้ามไม่ให้ชักธงชาติตัวเองเคียงข้างธงสหรัฐในบริเวณคลองปานามา จนเป็นชนวนยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐ

ในปี 2520 สหรัฐกับปานามาจึงมีการทำสนธิสัญญากัน สหรัฐตกลงจะโอนสิทธิการครอบครองคลองนี้ให้แก่ปานามาในปี 2542 โดยมีเงื่อนไขว่า ปานามาต้องวางนโยบายต่างประเทศเป็นกลาง และหากเกิดภัยคุกคามใด ๆ ต่อเส้นทางเดินเรือนี้ สหรัฐสามารถยกกองทัพเข้ามาปกป้องได้ จนกระทั่งปี 2542 สหรัฐได้มอบสิทธิครอบครองคลองปานามาแก่รัฐบาลปานามาโดยสมบูรณ์

‘คลองปานามา’ แล้งหนักรอบ 100 ปี จ่อสะเทือนขนส่งโลก! - คลองปานามา ทางน้ำการค้าระดับโลก (เครดิต: AFP) -

ความสำคัญต่อระบบขนส่งสินค้าโลก

  • 1. เส้นทางขนส่งระดับโลกที่ขาดไม่ได้

คลองปานามา เป็นเส้นทางสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าทั่วโลก เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศราว 6% ต้องผ่านเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ เอเชีย ยุโรป อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย ฯลฯ โดยเฉพาะ “เส้นทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐ-เอเชียที่ผ่านคลองปานามา” 

หลังจากขยายขนาดคลองในปี 2559 เพื่อรองรับจำนวนเรือขนส่งเพิ่มอีก 3 เท่า โดยใช้งบประมาณขยาย 5,400 ล้านดอลลาร์ ทำให้คลองสามารถรองรับเรือ Neopanamax ซึ่งสามารถบรรทุกจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ได้มากกว่าเรือ Panamax แบบเดิม 3 เท่า ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งลดลงราว 4%

สินค้าที่ขนส่งระหว่างสหรัฐกับเอเชีย มีตั้งแต่โภคภัณฑ์อย่างธัญพืช ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง ฯลฯ สินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติซึ่งเรือสหรัฐขนส่งไปสู่เอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น

นิโคลัส อาร์ดิโต บาร์เลตตา (Nicolas Ardito Barletta) อดีตรองประธานธนาคารโลกในละตินอเมริกา กล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่า การขยายคลองปานามาจะช่วยให้การค้าระหว่างเอเชียกับฝั่งตะวันออกของสหรัฐเติบโตขึ้น จากการที่เรือสินค้าขนาด Neopanamax สามารถผ่านคลองนี้ได้แล้ว อันเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝั่ง

คาร์ลอส เกวารา-แมนน์ (Carlos Guevara-Mann) ศาสตราจารย์ชาวปานามาด้านการเมืองที่มหาวิทยาลัย Florida State ในสหรัฐ คาดการณ์ว่า ผู้ขนส่งชาวเอเชียและสหรัฐจะได้ประโยชน์จากการขยายคลองปานามานี้ โดยลูกค้าชาวอเมริกันจะซื้อสินค้าที่นำเข้าจากจีนหรือประเทศเอเชียอื่น ๆ ในราคาที่ต่ำลง 

  • 2. ช่วยลดระยะทางมากถึง 15,000 กิโลเมตร

ในสมัยก่อน การขนส่งทางทะเลระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ต้องผ่านแหลมฮอร์นในส่วนก้นของทวีปอเมริกาใต้ แต่เมื่อมีคลองปานามาเกิดขึ้นมา เส้นทางนี้ช่วยย่นระยะทางลงมากถึง 15,000 กิโลเมตร และหากเป็นการขนส่งระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออกหรือออสเตรเลีย คลองปานามาช่วยลดระยะทางลงมากถึง 3,700 กิโลเมตร

  • 3. แหล่งรายได้ชั้นดีของปานามา

คลองปานามามีเรือสินค้าสัญจร 13,000-14,000 ลำในแต่ละปี โดยเฉลี่ย 35-40 ลำต่อวัน และเมื่อนับจากช่วงแรกที่เปิดใช้งาน น้ำหนักการขนส่งสินค้ารวมก็ทวีคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ จากน้ำหนัก 80 ล้านตันในปี 2477 เป็น 340.8 ล้านตันในปี 2558

เมื่อการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกเติบโตขึ้น รัฐบาลปานามาจึงมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยจากการเก็บ “ค่าผ่านทาง” ตามประเภท ขนาด ลักษณะของเรือสินค้า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 54,000 ดอลลาร์หรือราว 1.9 ล้านบาทต่อครั้ง

คลองปานามามีเงินสะพัดถึง 2,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 70,000 ล้านบาทต่อปี และราว 40% หรือ 800 ล้านดอลลาร์เข้าเป็นรายได้ของรัฐบาลปานามา ซึ่งรายได้เหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

‘คลองปานามา’ แล้งหนักรอบ 100 ปี จ่อสะเทือนขนส่งโลก! - คลองปานามา เส้นทางสำคัญของเรือสินค้า (เครดิต: Reuters) -

  • เร่งรับมือภัยแล้ง

จากปัญหาน้ำในคลองปานามาลดลงเพราะภัยแล้งเอลนีโญ รัฐบาลปานามาได้ออกกฎระเบียบใหม่ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 24 มิ.ย.นี้ เป็นการจำกัดความลึกของเรือขนส่งสินค้า neo-Panamax ไว้ที่ 43.5 ฟุต (13.3 เมตร) จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 44 ฟุต และเรือ Panamax ซึ่งใช้ช่องทางเดินเรือดั้งเดิมของคลองปานามานั้น จะถูกกำหนดมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.

ดังนั้น เมื่อน้ำหนักของสินค้าบนเรือถูกกำหนดให้น้อยลง จากปัญหาน้ำในคลองปานามาที่ลดลงมากที่สุดในรอบศตวรรษ จะทำให้ต้นทุนขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น และยิ่งน้ำในคลองงวดลงมากขึ้น ก็อาจทำให้เรือลำใหญ่ต้องปรับเส้นทางเดินเรือจากคลองปานามาไปเป็นเส้นทางอื่นแทน ซึ่งไกลกว่าและใช้เวลานานกว่า จนเป็นปัญหาการขนส่งล่าช้าและค่าระวางเรือมีแนวโน้มแตะระดับสูงอีกได้

อ้างอิง: conexionintalwsjfreightwavesfreightwaves(2)historyhistory(2)inboundlogisticsbritannicabangkokbiznewsbangkokbiznews(2)expeditionsthemaritimepost