‘เกาหลีเหนือ-ใต้-ตุรกี’ 3 ชาติค้าอาวุธดาวรุ่ง อานิสงส์สงครามรัสเซียยูเครน

‘เกาหลีเหนือ-ใต้-ตุรกี’ 3 ชาติค้าอาวุธดาวรุ่ง อานิสงส์สงครามรัสเซียยูเครน

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ได้ทำให้ธุรกิจค้าอาวุธรุ่งเรืองและช่วยให้ 3 ประเทศค้าอาวุธใหม่ขึ้นมาโดดเด่นจนน่าจับตามอง คือ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และตุรกี ซึ่งทั้งสามประเทศมีจุดพิเศษอย่างไรถึงได้รับประโยชน์จากสงครามนี้

Key Points

  • เกาหลีเหนือกับรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น เห็นได้จากการเตรียมไปเยือนกรุงเปียงยางในเดือน ต.ค. ของเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย 
  • นับตั้งแต่ปี 2561-2565 เกาหลีใต้ขึ้นสู่ผู้ขายอาวุธรายใหญ่อันดับที่ 9 ของโลก โดยครองสัดส่วน 2.4% ของตลาดค้าอาวุธทั่วโลก
  • ระหว่างปี 2561-2565 ยอดส่งออกอาวุธของตุรกีเพิ่มขึ้น 69% เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า และมีส่วนแบ่งอาวุธในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสองเท่า  


นับตั้งแต่สงครามรัสเซียกับยูเครนเปิดฉากขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้ว กลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้หลายประเทศในยุโรป สหรัฐ รัสเซีย และเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หันมาทุ่มงบประมาณทางทหาร พร้อมเร่งกำลังการผลิตอาวุธ เพื่อเสริมความมั่นคงของประเทศ และส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าอาวุธเฟื่องฟูขึ้น จนทำให้เกิด “3 ประเทศส่งออกอาวุธหน้าใหม่” ตามรายงานของนิตยสาร The Economist ที่น่าจับตามอง อันได้แก่ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และตุรกี นอกเหนือจากผู้ค้าอาวุธยักษ์ใหญ่เจ้าเดิมอย่างสหรัฐ รัสเซีย และจีน

3 ประเทศส่งออกอาวุธเกิดใหม่ที่น่าจับตา

  • ประเทศที่ 1 เกาหลีเหนือ

ช่วงหลังมานี้ เกาหลีเหนือกับรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น เห็นได้จากที่เมื่อไม่นานมานี้ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เตรียมเดินทางไปเยือนกรุงเปียงยางในเดือน ต.ค. เพื่อติดตามและต่อยอดผลการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับผู้นำรัสเซียครั้งล่าสุดที่รัสเซีย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา

เนื่องด้วยเกาหลีเหนือกับรัสเซียมีศัตรูร่วมกัน คือ “สหรัฐ” อีกทั้งเกาหลีเหนือก็ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรเช่นเดียวกับรัสเซียด้วย มีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า เกาหลีเหนืออาจช่วยส่งอาวุธสงครามให้รัสเซีย เช่น โดรน และขีปนาวุธพิสัยใกล้ KN-23 ซึ่งมีระยะยิงราว 700 กิโลเมตร และเกาหลีเหนือมักนำออกมาทดสอบยิงตกในน่านน้ำบริเวณคาบสมุทรเกาหลี โดยข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองสหรัฐ ระบุว่า เกาหลีเหนือได้ส่งกระสุนปืนใหญ่ 152 มม. และจรวดประเภทคัตยูช่า (Katyusha) ให้รัสเซียแล้ว

‘เกาหลีเหนือ-ใต้-ตุรกี’ 3 ชาติค้าอาวุธดาวรุ่ง อานิสงส์สงครามรัสเซียยูเครน - ขีปนาวุธพิสัยใกล้ KN-23 ของเกาหลีเหนือ (เครดิต: Center for Strategic and International Studies) -

  • ประเทศที่ 2 เกาหลีใต้

สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติแห่งสตอกโฮล์ม (The Stockholm International Peace Research Institute) ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปี 2561-2565 เกาหลีใต้ขึ้นสู่ผู้ขายอาวุธรายใหญ่อันดับที่ 9 ของโลก โดยครองสัดส่วน 2.4% ของตลาดค้าอาวุธทั่วโลก

รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายต่อไปว่า จะทำให้เกาหลีใต้ขึ้นสู่ที่ 4 ของโลกด้านการส่งออกอาวุธภายในปี 2570 ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ยอดส่งออกอาวุธของเกาหลีใต้มีมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าสองเท่าของปี 2564 โดยส่วนมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์มาจากยอดขายอาวุธให้โปแลนด์

เหตุผลที่โปแลนด์เร่งนำเข้าอาวุธ เพราะอยู่ใกล้กับรัสเซีย และเป็นพื้นที่ฝึกทหารยูเครนสำหรับส่งรบกับรัสเซีย อาวุธที่โปแลนด์นำเข้าจากเกาหลีใต้มีตั้งแต่รถถัง K2 Black Panther 1,000 คัน โดย 180 คันถูกส่งมอบให้โปแลนด์แล้ว ขณะที่อีก 820 คันกำลังถูกผลิตในโปแลนด์ภายใต้ใบอนุญาตที่ตกลงร่วมกัน

‘เกาหลีเหนือ-ใต้-ตุรกี’ 3 ชาติค้าอาวุธดาวรุ่ง อานิสงส์สงครามรัสเซียยูเครน - รถถังของเกาหลีใต้ (เครดิต: Shutterstock) -

นอกจากรถถังแล้ว โปแลนด์ยังซื้อปืนใหญ่อัตตาจรสายพาน K9 Thunder 672 ชุด, เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง K239 Chunmoo จำนวน 288 ชุด และเครื่องบินขับไล่ FA-50 Golden Eagle อีก 48 ลำ จากเกาหลีใต้ด้วย

ทอม วาลด์วิน (Tom Waldwyn) นักวิจัยทางทหารแห่งสถาบัน International Institute for Strategic Studies ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า “เกาหลีใต้ขึ้นมาประสบความสำเร็จด้านค้าอาวุธระดับโลก เพราะราคาขายอันน่าดึงดูด อาวุธมีคุณภาพสูง และส่งมอบลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

วาลด์วินเสริมว่า ราคาอาวุธที่แข่งขันกับประเทศอื่นได้ของเกาหลีใต้ สะท้อนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ส่วนคุณภาพอาวุธที่ดีมาจากการที่ประเทศมีเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมได้ความรู้ด้านอาวุธจากที่ร่วมงานกับทหารอเมริกัน อีกทั้งเกาหลีใต้อยู่ติดกับเกาหลีเหนือที่มีอาวุธนิวเคลียร์ จึงเป็นแรงกระตุ้นให้เกาหลีใต้เร่งพัฒนาอาวุธอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ซีมอน เวเซแมน (Siemon Wezeman) นักวิจัยด้านอาวุธแห่งสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติแห่งสตอกโฮล์ม ระบุถึงเหตุผลเพิ่มเติมที่ทำให้เกาหลีใต้ขึ้นสู่จุดนี้ได้ เกิดจากรัฐบาลสนับสนุน มีเครดิตเทอมอันน่าดึงดูดแก่ลูกค้า และอยู่ฝั่งโลกเสรี ซึ่งหลายประเทศรู้สึกสบายใจกว่าเมื่อซื้ออาวุธจากเกาหลีใต้แทนที่จะเป็นสหรัฐที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซียและจีน จึงทำให้เกาหลีใต้ได้ดีลมูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์สำหรับงานปรับปรุงกองเรือดำน้ำของแคนาดา และกำลังขึ้นเป็นคู่แข่งธุรกิจอาวุธกับเยอรมนีและฝรั่งเศสในตลาดยุโรป

  • ประเทศที่ 3 ตุรกี (ทูร์เคีย)

สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติแห่งสตอกโฮล์ม ประเมินว่าช่วง 5 ปีระหว่างปี 2561-2565 ยอดส่งออกอาวุธของตุรกีเพิ่มขึ้น 69% เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า และมีส่วนแบ่งอาวุธในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสองเท่า  

ตุรกีได้ขายเรือดำน้ำอันทันสมัยพร้อมเรือรบคอร์เวต (Corvette) 4 ลำให้ปากีสถาน อีกทั้งตุรกียังส่งออกโดรนติดอาวุธที่ราคาต่ำกว่าและพร้อมส่งมอบมากกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐ โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ตุรกีเซ็นสัญญามูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์กับซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งมอบอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธในชื่อ Akinci ให้

ยิ่งไปกว่านั้น ตุรกีแสดงความทะเยอทะยานในน่านน้ำ ด้วยการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินที่ชื่อว่า Anadolu ซึ่งมีระวางขับน้ำหนัก 25,000 ตัน และสามารถบรรทุกอากาศยานไร้คนขับ Bayraktar UCAV อีกทั้งตุรกียังเพิ่มแสนยานุภาพทางอากาศด้วยการผลิตเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ที่ชื่อว่า KAAN ขึ้นมา

‘เกาหลีเหนือ-ใต้-ตุรกี’ 3 ชาติค้าอาวุธดาวรุ่ง อานิสงส์สงครามรัสเซียยูเครน - เรือบรรทุกเครื่องบินที่ชื่อว่า Anadolu ของตุรกี (เครดิต: Shutterstock) -

  • สองเกาหลีและตุรกีได้อานิสงส์ด้านอาวุธ

สงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้รัสเซียต้องสำรองอาวุธส่วนใหญ่ไว้ และส่งออกน้อยลง เพื่อใช้ในศึกระยะยาว โดยยอดส่งออกอาวุธของรัสเซียระหว่างปี 2561-2565 เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า ลดลง 31% ตามข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติแห่งสตอกโฮล์ม จึงเป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และตุรกีขึ้นมามีบทบาทที่โดดเด่นในตลาดค้าอาวุธ

ยิ่งรัสเซียต้องการหาพันธมิตรใหม่นอกจากจีน อีกทั้งบรรดาชาติตะวันตกต้องการเร่งเสริมแนวป้องกันจากรัสเซีย ก็ยิ่งทำให้บทบาทค้าอาวุธของทั้งสามประเทศนี้เด่นชัดยิ่งขึ้น จนเป็นที่น่าจับตาในปัจจุบัน

อ้างอิง: apnewseconomisteurasiantimesreuterskn-23