‘จีน’ ถอนคันเร่งอัดฉีดเศรษฐกิจ แม้ทั่วโลกหวังเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ

‘จีน’ ถอนคันเร่งอัดฉีดเศรษฐกิจ แม้ทั่วโลกหวังเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ

เศรษฐกิจจีนส่อแววชะลอตัวทั้งปี ผลจากมาตรการ “ปิดเมือง” ทำให้เครื่องยนต์หลักอย่างภาคการผลิตและส่งออกหดตัว สะเทือนหลายประเทศทั่วโลก

ภายหลังจีนยกเลิกมาตรการ “Zero Covid” เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนก็ค่อยๆ ส่งสัญญาณเป็นบวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีค.ศ. 2023 เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.5 เปอร์เซ็นต์ เติบโตมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จีนจึงเป็นความหวังให้กับหลายประเทศด้วยเช่นกัน

ทว่า ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ครั้งนี้จีนจะไม่อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแล้ว แต่จะปล่อยให้กิจกรรมต่างๆ เป็นไปตามกลไกตลาด ค่อยๆ ฟื้นตัวตามลำดับแทน

ริค เดเวเรล (Ric Deverell) หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ แมคควอรี กรุ๊ป (Macquarie Group) บริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดการกองทุนแบบครบวงจร ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า จีนจะหลีกเลี่ยงวิธีการใช้เงินอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ภายหลังการระบาดใหญ่โควิด-19 จบลง ด้วยเหตุผลที่ว่า จีนเคยได้บทเรียนจากวิธีการดังกล่าวมาแล้วเมื่อครั้งวิกฤติการเงินโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “วิกฤติซับไพรม์” เมื่อปีค.ศ. 2008 

“ครั้งนี้จีนจะไม่ช่วยโลก เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อปีค.ศ. 2010 หลังวิกฤติการเงินโลก พวกเขาทำการกระตุ้นมากเกินไป เมื่อรู้ว่าเคยพลาดแล้ว จีนจะไม่ทำซ้ำอีก” 

เดเวเรลกล่าวว่า สถานการณ์ของจีนตอนนี้กำลังดำเนินรอยตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนกับประเทศแถบตะวันตก คือ เน้นขับเคลื่อนด้วยภาคธุรกิจบริการ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมกลับมีความต้องการสินค้าที่อ่อนกำลังลง ตรงนี้เองที่อาจส่งผลสะเทือนไปยังประเทศอื่นๆ ที่ตั้งความหวังไว้ว่า หลังจากจีนเปิดประเทศแล้ว พวกเขาจะได้รับอานิสงส์จากจีนซึ่งเคยเป็นหนึ่งในกำลังหนุนหลัก ขณะที่การเติบโตของโรงงานในแถบเอเชียหลายแห่งเริ่มติดอยู่ในภาวะถดถอยแล้ว

“สำหรับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประเด็นใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับภาคการผลิตและการส่งออกที่อ่อนแอลง เนื่องจาก ความต้องการสินค้าลดลง และภายหลังท่าทีของจีนที่ชัดเจนขึ้นก็อาจประเมินได้ว่า หลังจากนี้ความต้องการสินค้าจะค่อยๆ หดตัว แทนที่จะเป็นขาขึ้นตามที่ใครหลายคนคาดหวังไว้”

นอกจากนี้ หัวหน้านักวิจัย ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) ยังได้แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันด้วยว่า แม้ในภาพรวมประเทศตอนนี้ จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนด้านการเงินการคลัง แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องไม่ขยายการสนับสนุนดังกล่าวแบบ “สุ่มสี่สุ่มห้า” เพราะตอนนี้ จีนจะไม่ได้กลับสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการบริโภคไปสักระยะ ยังมีความท้าทายจากภายนอกอีกมากมาย การส่งออกของจีนในปีนี้แทบจะไม่โตขึ้น รวมไปถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจแถบยุโรปและสหรัฐฯ ก็มีผลกับภาคการส่งออกของจีนอย่างมีนัยสำคัญ

 

อ้างอิง: BloombergCNBCThe Guardian