‘จีน’ หยุดรายงานตัวเลข ‘วัยรุ่นว่างงาน’ ยิ่งปกปิด เศรษฐกิจยิ่งเสี่ยงพัง

‘จีน’ หยุดรายงานตัวเลข ‘วัยรุ่นว่างงาน’ ยิ่งปกปิด เศรษฐกิจยิ่งเสี่ยงพัง

ปิดยอดป่วย-ตายโควิด สู่การปิดยอดคนว่างงาน! “จีน” ยกเลิกรายงานตัวเลข “Unemployment Rate” หลังอัตรา “วัยรุ่นว่างงาน” พุ่งสูงต่อเนื่อง ปิดเดือนมิถุนายนที่ 21.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ กังวลฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน รัฐบาลขอปรับเกณฑ์ใหม่ หวังเพิ่มความโปร่งใสทางสถิติ

หลังเผชิญกับเศรษฐกิจขาลงต่อเนื่อง ล่าสุดรายงานข่าวระบุว่า “จีน” ตัดสินใจระงับการเปิดเผยตัวเลขข้อมูลคนว่างงานแล้ว โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า จะมีการปรับปรุงวิธีการสำรวจตัวเลขใหม่อีกครั้งเพื่อให้ข้อมูลใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยโฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า “จีน” มีกลุ่มนักเรียนและวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 16-24 ปีกว่า 96 ล้านคน ราว 2 ใน 3 ยังมีสถานะเป็นนักเรียน ซึ่งงานหลักของนักเรียนยังคงเป็นการเรียนที่ต้องอยู่ในระบบการศึกษา หลังจากนี้จะพิจารณาการกำหนดนิยามคนว่างงานให้ถูกต้องครอบคลุมเสียใหม่ เพื่อให้การรายงานตัวเลขมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ ตัวเลขอัตราคนว่างงานล่าสุด จากทางการจีนล่าสุดคือเดือนมิถุนายน พบว่า มีอัตราว่างงานสูงกว่า 21.3 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของสัดส่วนหนุ่มสาวชาวจีน ซึ่งคาดว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ซึ่งตรงกับฤดูร้อนที่จะมีคนหนุ่มสาวจบการศึกษาระดับชั้นมหาวิทยาลัยหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น 

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันการเงิน “Union Bancaire Privee” ให้ความเห็นว่า การระงับการรายงานตัวเลขของจีนไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศ มองว่า การปกปิดตัวเลขจะยิ่งทำให้ทัศนวิสัยหรือมุมมองที่ต่างชาติมีต่อจีนแย่ลงไปอีก เขาคาดการณ์ว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาตัวเลขผู้ว่างงานน่าจะทะลุ 22 เปอร์เซ็นต์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และดูเหมือนว่า ตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะแย่กว่าตัวเลขที่ได้มีการรายงานออกมาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ว่ามานี้ “จีน” จึงเลือกที่จะหยุดการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของตลาดที่มากเกินไป

‘จีน’ หยุดรายงานตัวเลข ‘วัยรุ่นว่างงาน’ ยิ่งปกปิด เศรษฐกิจยิ่งเสี่ยงพัง

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจระงับการรายงานและเข้าถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างของการลดการเข้าถึงข้อมูลในจีน เนื่องจากรัฐบาลต้องการปกป้องข้อมูลเพื่อลดแรงเสียดทานทางเศรษฐกิจ มองว่ามีความละเอียดอ่อนอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่แค่ประเด็นนี้เท่านั้นแต่ที่ผ่านมา “จีน” เคยจำกัดการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ มาแล้ว อาทิ ข้อมูลองค์กร เอกสารศาล วารสารวิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้าไปขัดขวางนักลงทุนในการประเมินเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจจีนที่ดิ่งหนักมาตั้งแต่ต้นปี 2023 และยิ่งทรุดหนักลงไปเรื่อยๆ จากปัญหารุมเร้านับไม่ถ้วน ทำให้การฟื้นตัวของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกมีความตึงเครียดมากขึ้นจากปัญหาการว่างงานของกลุ่มวัยรุ่นจบใหม่ เนื่องจากนายจ้างลังเลที่จะจ้างงานในภาวะเศรษฐกิจตึงตัว รวมถึงตัวเลขการบริโภคภายในประเทศ ตัวเลขผลผลิตของภาคอุตสาหกรรม และเม็ดเงินการลงทุนที่ทยอยหลั่งไหลออกนอกกระดานทำให้นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า การระงับรายงานตัวเลขว่างงานจะไม่ช่วยบรรเทาความตึงเครียดลง ซ้ำร้ายยังทำให้การทำความเข้าใจภูมิทัศน์ดังกล่าวยากเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญเมื่อต้องพิจารณาแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น

ความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือ ภาวะความไม่ลงรอยกันของตัวเลขบัณฑิตจบใหม่และความต้องการแรงงานในตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่อุตสาหกรรมก่อสร้างและการขนส่งยังคงต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ทว่างานประเภทนี้มักจะได้รับความสนใจจากแรงงานข้ามชาติมากกว่าบัณฑิตแผ่นดินใหญ่ ส่วนงานด้านเทคโนโลยีและการศึกษามีอัตราการเติบโตที่ช้าลงซึ่งเป็นสายงานที่บัณฑิตส่วนใหญ่ตั้งเป้า แม้แต่งานราชการที่ต้องมีการสอบเข้าก็พบว่า อัตราการแข่งขันขับเคี่ยวมากขึ้นเช่นกัน โดยปี 2022 มีผู้สมัครสอบข้าราชการพลเรือนสามัญกว่า 2.6 ล้านคน ขณะที่อัตราเข้ารับการบรรจุมีเพียง 37,100 คนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีนสนับสนุนให้หนุ่มสาวบัณฑิตจบใหม่กลับไปหางานทำที่บ้านเกิดในพื้นที่ห่างไกล แต่คนรุ่นใหม่โดยมากนั้นต้องการหน้าที่การงานที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี รายล้อมไปด้วยการศึกษา วัฒนธรรม และความบันเทิง พื้นที่ชนบทห่างไกลในจีนให้สิ่งเหล่านี้กับพวกเขาไม่ได้

นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยเซียงไฮ้ระบุว่า หากจีนยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาคนว่างงานได้นั่นอาจเป็นสัญญาณโดมิโนเอฟเฟ็กต์ไปยังปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาอีกมากนอกเหนือจากประเด็นทางเศรษฐกิจ และอาจกลายเป็นตัวจุดชนวนปัญหาทางการเมืองในระยะถัดไปด้วย