ส่องมาตรการคุมโควิดจีน "โควิดเป็นศูนย์" เหมือนเดิม เพิ่มเติมคืออะไร?

ส่องมาตรการคุมโควิดจีน "โควิดเป็นศูนย์" เหมือนเดิม เพิ่มเติมคืออะไร?

ชวนดูมาตรการ​ "โควิดเป็นศูนย์" ของรัฐบาลจีน ทั้งช่วงการระบาดใน "เซี่ยงไฮ้" ที่เพิ่งผ่านจุดพีค และล่าสุด "ปักกิ่ง" ที่ทั่วโลกกำลังจับตา ภายใต้คำเรียกใหม่ "Dynamic Zero-Covid โควิดเป็นศูนย์แบบไดนามิก"

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 หรือราวเดือนครึ่งเกือบสองเดือน นับตั้งแต่จีนเจอการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของสายพันธุ์ "โอมิครอน" (Omicron) ที่ยังรุนแรงในมหานครเซี่ยงไฮ้ ที่ตอนนี้ทางเซี่ยงไฮ้ เราเริ่มเห็นเคสผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการลดลงต่ำกว่าระดับ 10,000 ตามที่รายงานออกมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565

หลังจากที่มหานครเซี่ยงไฮ้ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ 24 เมษายน ว่าถึงจุดพีคที่สุดแล้ว โดยมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวันที่ผันผวนและยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 39 ราย ในวันที่ 23 เมษายน เพียงวันเดียว และทั้งหมด มีอายุเฉลี่ยที่ 78.7 ปี โดยมีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง โรคร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 อีกด้วย

โควิดจีน ภาพ : ซินหัว (16 เม.ย.2565)

แม้จีนจะพยายามสื่อออกมาว่า เซี่ยงไฮ้เริ่มดีขึ้นแล้ว  แต่ก็มีความกังวลระลอกใหม่ตามมาต่อเนื่อง ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (ปลายเดือนเมษายน) หลังเมืองหลวงของจีน พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ราว 30-40 รายต่อวัน

ปักกิ่งงัดมาตรการ "ระดมตรวจโควิดในเขตระบาด รวมตรวจกว่า 20 ล้านคน" และ "จัดระดับพื้นที่เป็นเสี่ยงกลางและสูง" แต่ย้ำนะครับว่า "ยังไม่ล็อกดาวน์" เหมือนข่าวลือที่ออกมาในวันสองวันนี้

โดยนับตั้งแต่ระบาดระลอกใหม่ ทำให้คำว่า "นโยบายโควิดเป็นศูนย์" เป็นประเด็นในหน้าสื่ออีกครั้ง แต่ภายใต้ชื่อ "Dynamic Zero-Covid โควิดเป็นศูนย์แบบไดนามิก"

โควิดจีน วิถีชีวิตสู้โควิดของ ‘ไรด์แมน’ ประจำซูเปอร์มาร์เก็ตในเซี่ยงไฮ้
(ภาพ : ซินหัว)

สิ่งที่จีนปรับ "อ้ายจง" ขอวิเคราะห์และสรุป ดังนี้

1. แม้จะมีคำว่า "ไดนามิก" ที่สื่อถึง "ความยืดหยุ่น" แต่จุดประสงค์หลัก คือ "ควบคุมให้ไวที่สุด"

โดยระบาดระลอกใหม่นี้ จีนเริ่มกลับมาคุมภายใต้หลัก "หาต้นตอการแพร่ในแต่ละพื้นที่ และคุมเป็นพื้นที่"

มาตรการ "ล็อกดาวน์" จึงยังคงถูกนำมาใช้ เมื่อมีทีท่าระบาดหนัก ซึ่งสำหรับจีน ตัวเลขทะลุขึ้น 100 ก็ถือว่ารุนแรงแล้ว พอเซี่ยงไฮ้ขึ้นหลักพันหลักหมื่น จึงถือว่ารุนแรงมาก

2. ภายใต้คำว่า "ไดนามิก" จีนปรับระยะเวลาและสถานที่การกักตัวของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว จาก "14 วัน ในสถานที่ที่กำหนดให้" เป็น "7 วัน ที่บ้าน" เพื่อจะได้นำวัสดุอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์และสำหรับป้องกันการระบาด ไว้ใช้ในเคสที่รุนแรงกว่า

สาเหตุของการปรับ ส่วนสำคัญมาจากทรัพยากรทางการแพทย์เริ่มได้รับผลกระทบหนัก จึงปรับเพื่อให้กลับมารันได้

3. ต่อเนื่องจากข้อ 2 เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรการแพทย์ แต่ยังคงให้บรรลุเป้าหมายควบคุมยอดได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ณ ในสถานการณ์ตอนนั้น (ยังไม่รุนแรงเท่าเดือนเมษายน)

จีนจึงใช้การกักตัว สำหรับผู้ติดเชื้อแต่อาการไม่รุนแรง แทนที่ จากเดิมที่จะแอดมิทผู้ติดเชื้อเป็นผู้ป่วยในสถานพยาบาล แม้ว่าจะอาการน้อยก็ตาม โดยแอดมิทเฉพาะคนที่อาการรุนแรงเท่านั้น

แต่ภายหลังเมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น จีนก็ทุ่มเททรัพยากรการแพทย์และกำลังคนไปที่เซี่ยงไฮ้ นี่ก็คือ หนึ่งในสิ่งที่จีนพยายามสื่อออกมานะว่า เขามีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ สื่อถึงคำว่า "ไดนามิก"

4. จีนอนุมัติให้ใช้ชุดทดสอบโควิดด้วยตนเอง หรือ Antigen test kit (ATK) ได้ แม้บริษัทจีนจะเป็นผู้ผลิตและส่งออก Antigen test kit ไปในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย แต่ก่อนหน้านี้ จีนไม่อนุญาตให้คนจีนโดยทั่วไปซื้อมาตรวจเอง

จีนปรับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทดสอบโควิด-19 สำหรับควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่จีน ตั้งแต่ที่ยอดพุ่งขึ้นถึง 1,000 รายต่อวัน

โควิดจีน (ภาพ : ซินหัว)

5. โดยภาพรวม ไม่ว่าจะ "โควิดเป็นศูนย์แบบดั้งเดิม" ที่จีนใช้มาตั้งแต่ระบาดเริ่มแรก จนถึงปัจจุบันที่ปรับเอาคำ "ไดนามิก" มาใช้ให้ดูยืดหยุ่น มากขึ้น  ก็ยังคงอยู่ภายใต้  “สามอาวุธหลักต่อสู้ศึกโควิด-19”  ได้แก่ อัตราการฉีดวัคซีนสูง, ยาที่มีประสิทธิภาพ และ ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอสำหรับกรณีฉุกเฉิน

ดังนั้น การปรับแผนในการรับมือที่จีนพยายามปรับ ก็จะสอดคล้องกับสามอาวุธนี้  

อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีของวัคซีน จีนยังคงเผชิญปัญหากับการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะตามที่เล่าไปข้างต้น เห็นได้เลยว่า ยังมีผู้สูงอายุไม่น้อยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิต ทางจีนจึงพยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน 

ปัจจุบัน  จีนยังไม่ได้อนุมัติการใช้วัคซีน mRNA ที่ผลิตในต่างประเทศ ดังนั้นวัคซีนหลักที่ใช้ ทั้งเข็มหนึ่งเข็มสองและเข็มกระตุ้น จะเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยจีน ซึ่งสองตัวหลักยังคงเป็น วัคซีนเชื้อตาย อย่าง Sinovac และ  Sinopharm แต่ก็มีการอนุมัติให้ทดลองทางคลินิกสำหรับวัคซีน mRNA ที่พัฒนาโดยบริษัทและหน่วยงานจีน และวัคซีนที่มุ่งเน้นสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) โดยเฉพาะ ก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดย Sinovac และ Sinopharm พร้อมกับการทดลองทางคลินิกแล้วเช่นกัน