'ประชากรอินเดียแซงหน้า'ปัจจัยท้าทายสังคมจีนสูงวัย

'ประชากรอินเดียแซงหน้า'ปัจจัยท้าทายสังคมจีนสูงวัย

เมื่อวันพุธ (19 เม.ย.) กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟพีเอ) เผยแพร่รายงาน “สภาวะประชากรโลก 2566” ถือเป็นรายงานธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเมื่อพบว่า อินเดียกำลังจะกลายเป็นประเทศประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีน

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงาน สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีนวิจารณ์อย่างรุนแรงที่สื่อตะวันตกรายงานข่าวประชากรอินเดียแซงหน้าจีน โดยละเลยไม่พูดถึงการพัฒนาของจีน นัยซ่อนเร้นของสื่อตะวันตกช่วงไม่กี่ปีหลังคือ การพัฒนาของจีนเกิด “ปัญหาใหญ่” และว่า เมื่อการปันผลของประชากรจีนหายไป จีนจะเสื่อมถอยและเศรษฐกิจโลกจะเสียหายไปด้วย

“สหรัฐกำลังเพิ่มความพยายามสกัดการพัฒนาของจีนและทุ่มเทตัดขาดจากจีนต่อไป ตอนนี้พบประเด็นใหม่ให้ปั่นจากรายงานสหประชาชาติ” ซีซีทีวีกล่าวและว่า ชาติตะวันตกมักเชื่อมโยงขนาดประชากรเข้ากับความสำเร็จในการพัฒนา

“การโฆษณาเกินจริงเช่นนี้ขาดความเข้าใจพื้นฐานถึงกฎพัฒนาการของประชากร สำหรับสังคมในวันนี้การที่อัตราการเกิดลดลง ความอยากมีลูกลดลง ล้วนเป็นปัญหาที่เจอกันทั้งโลก” ซีซีทีวีกล่าวและว่า โดยทั่วไปประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตกมักเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงเมื่อวันพุธ (19 เม.ย.)ว่า การปันผลของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณอย่างเดียวเท่านั้นแต่ต้องมีคุณภาพด้วย

“ประชากรสำคัญ แต่คนเก่งก็สำคัญเช่นกัน จีนมีมาตรการอันแข็งขันเพื่อแก้ปัญหาสังคมสูงวัย” โฆษกระบุ

ทั้งนี้ รายงานล่าสุดจากยูเอ็นประเมินจำนวนประชากรอินเดียที่ 1.4286 พันล้านคน เทียบกับจีนที่มีประชากร 1.4257 พันล้านคน โดยในปี 2565 ประชากรจีนลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ที่ประชากรจีนจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ นับจากนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก

การที่สื่อทางการจีนออกมาวิจารณ์ไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผล สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การที่ประชากรอินเดียแซงจีนถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากจีนเป็นประเทศประชากรมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่อาณาจักรโรมันล่มสลาย แม้ว่าอินเดียสมัยอยู่ภายใต้การปกครองอังกฤษอาจมีประชากรมากกว่าช่วงหนึ่งก็ตาม

 

สาเหตุประชากรจีนลด

สิ่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากจีนควบคุมการเพิ่มของประชากรอย่างเข้มงวดในทศวรรษ 1980 โดยนโยบายลูกคนเดียว ซึ่งช่วยให้จีนมั่งคั่งมากขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีหลัง เมื่อครอบครัวจีนลดขนาดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กำลังส่งผลลบในปัจจุบันเมื่อจีนเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรลดลง

อินเดียเองก็มีมาตรการรณรงค์วางแผนครอบครัวและการทำหมัน รวมถึงความพยายามทำหมันชายที่ถูกวิจารณ์หนักในทศวรรษ 1970 ตอนนี้เน้นมาที่การทำหมันหญิงแม้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ
 

กระนั้น อัตราเจริญพันธุ์ของอินเดียยังสูงกว่าเพื่อนบ้านทางตอนเหนืออย่างต่อเนื่อง กลายเป็นว่าอินเดียมีประชากรอายุน้อยกว่าจีน และตอนนี้มีจำนวนมากกว่าด้วย ปัจจุบันประชากรอินเดียราว 650 ล้านคนอายุไม่ถึง 25 ปี

 

นัยแห่งประชากรอินเดีย

รัฐบาลนิวเดลีและปักกิ่งกำลังแข่งกันมีอิทธิพลด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการได้เป็น “ประเทศประชากรมากที่สุดในโลก” จะช่วยหนุนอินเดียในฐานะมหาอำนาจดาวรุ่ง เป็นประเทศที่กำลังถูกตะวันตกตามจีบให้เป็นทางเลือกนอกเหนือจากปักกิ่ง 

ทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลนิวเดลีที่ต้องการได้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมานานแล้ว นอกเหนือจากแซงจีนได้แล้ว อินเดียยังมีประชากรมากกว่าสมาชิกถาวรอีกสี่ประเทศรวมกัน

แม้นัยหนึ่งการมีคนมากอาจเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน แต่กำลังแรงงานคนหนุ่มสาวจำนวนมากย่อมก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อินเดียเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่โตเร็วที่สุดในโลก

ปีก่อนจีดีพีอินเดียแซงหน้าอดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษขึ้นมาอยู่อันดับห้าของโลก

 

เทียบจำนวนประชากรอินเดีย-จีน

ยูเอ็นประเมินว่า อินเดียจะมีประชากร 1.429 ล้านคนภายในวันที่ 1 ก.ค. จีนตามหลัง 300 ล้านคน ที่ 1.426 พันล้านคน แต่การคำนวณประชากรที่แท้จริงของสองยักษ์ใหญ่ทำได้ยากลำบาก

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานตัวเลขประชากรทุกปี ในเดือน ม.ค.แถลงว่า เมื่อสิ้นปี 2565 จีนมีประชากร 1.412 พันล้านคน ลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่หายนะจากนโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของเหมา เจ๋อตงเมื่อต้นทศวรรษ 1960 แต่อินเดียทำสำมะโนประชากรครั้งสุดท้ายในปี 2554 รายงานจำนวนประชากร 1.21 พันล้านคน แล้วไม่เคยรายงานตัวเลขประชากรอย่างเป็นทางการอีกเลยนับแต่นั้น

 

มุมมองชาวจีน

ในย่านธุรกิจกั๋วเหมา กรุงปักกิ่ง หลิว พนักงานภาคการเงิน วัย 40 ปี กล่าวว่า นี่คือปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ประชากรอินเดียแซงหน้าจีน แต่ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนยังโดดเด่น

“ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเรายังเหนือกว่า การที่ประชากรอินเดียเติบโตไม่ได้ส่งผลกระทบสำคัญ ไม่มีผลอะไรกับเรามากนัก”

 

มุมมองรัฐบาลนิวเดลี

โดยปกติรัฐบาลชาตินิยมฮินดู “บีเจพี” กระตือรือร้นประโคมข่าวความสำเร็จของอินเดีย แต่การแทนที่จีนเป็นประเทศประชากรมากที่สุดในโลก อินเดียกลับนิ่งเฉยผิดสังเกต กระทรวงสาธารณสุขไม่ให้ความเห็นเมื่อยูเอ็นเผยแพร่ข้อมูลในวันพุธ นาฬิกาประชากรที่เคยติดโชว์ในที่สาธารณะถูกย้ายออกหลายตัวช่วงไม่กี่ปีหลัง

ในถ้อยแถลงเนื่องในวันเอกราชอินเดียปีก่อน นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ยังคงบอกว่าอินเดียมีประชากร 1.3 พันล้านคน หมุดหมายที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า อินเดียเกินมาหลายปีแล้ว

 

แอ๊ปเปิ้ลสโตร์ สัญญาณความสำคัญอินเดีย

อีกหนึ่งสัญญาณความสำคัญของอินเดียเห็นได้จาก แอ๊ปเปิ้ลอิงค์ เปิดร้านแรกในอินเดียที่นครมุมไบเมื่อวันอังคาร (18 เม.ย.) โดยทิม คุก ซีอีโอแอ๊ปเปิ้ล ถึงกับมาเปิดประตูต้อนรับลูกค้าด้วยตนเอง ส่วนร้านที่ 2 ในเดลีมีกำหนดเปิดวันนี้ (20 พ.ย.) 

ความสำคัญของอินเดียที่มีต่อแอ๊ปเปิ้ลคือ ประเทศที่มีประชากร 1.4 พันล้านคนแห่งนี้มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน ไม่เพียงแค่เปิดร้าน บริษัทใหญ่สุดของโลกวัดจากมูลค่าตลาดอย่างแอ๊ปเปิ้ลยังขยายฐานการผลิตในอินเดียด้วย ขณะพยายามขยายซัพพลายเชนจากที่เคยพึ่งพาเพื่อนบ้านอินเดียอย่างจีนหนักมาก

ในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (17 เม.ย.) แอ๊ปเปิ้ลเรียกการเปิดร้านในอินเดียว่า “การขยายตัวครั้งใหญ่”

“เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ต่อยอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของเรา” คุกระบุในแถลงการณ์

\'ประชากรอินเดียแซงหน้า\'ปัจจัยท้าทายสังคมจีนสูงวัย