อนาคตคาซัคสถานกับนักการเมืองหน้าใหม่

อนาคตคาซัคสถานกับนักการเมืองหน้าใหม่

ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นกลไกหนึ่งของการปฏิรูป อย่างสาธารณรัฐคาซัคสถานที่ปฏิรูปการเมืองหลายด้านในปี 2565 รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย. และล่าสุดเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 19 มี.ค.2566

ในวาระที่ไทยจะมีการเลือกตั้งเร็วๆนี้ จึงขอถ่ายทอดเรื่องราวจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย ถึงความหวังของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ส.ส.

 ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสาธารณรัฐคาซัคสถานที่ผสมผสานกันระหว่างนักการเมืองที่คนคุ้นเคยกับการเข้ามาของนักการเมืองหน้าใหม่  ประชาชนยังคงพูดคุยกันอย่างจดจ่อถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขในปี 2565 กำหนดให้ Mazhilis (มาสจีริส) หรือสภาล่าง มี ส.ส. 98  คน มาจากปาร์ตี้ลิสต์  69  คน และ ส.ส.  แบ่งเขตอีก 29 คน  พรรคอมานัต (Amanat) ที่เป็นแกนนำรัฐบาลเดิมครองเสียงข้างมากตามคาด ได้ปาร์ตี้ลิสต์ 40 คน ที่เหลือเป็น ส.ส.จาก 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาวอายูลรักชาติประชาธิปไตย 8 คน, พรรคประชาธิปไตยอัคโชและพรรคเรสพับลิกา พรรคละ 6 คน, พรรคประชาชนคาซัคสถาน 5 คน และพรรคชาติสังคมประชาธิปไตย 4 คน

แม้มีการทำนายไว้ก่อนแล้วว่าพรรคใดจะได้รับเสียงข้างมากในสภาล่าง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคต่างๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  สะท้อนถึงการเดินทางที่สำคัญของประชาธิปไตยในประเทศคาซัคสถาน

อีกเรื่องหนึ่งที่นำความประหลาดใจนั้นก็คือพรรคเรสพับลิกาที่เพิ่งจดทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อเดือน ม.ค. สามารถรวบรวมคะแนนเสียงสนับสนุนผ่านเกณฑ์ 5% ที่กำหนดเอาไว้สำหรับการลงสมัคร ส.ส. ได้ทันตามกำหนด ส่วนพรรคใหม่อีกหนึ่งพรรคอย่างพรรค เบย์ทัค  ที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงผ่านเกณฑ์ที่กำหนดได้

พรรคการเมืองทั้งสามพรรค ได้แก่ พรรคชาวอายูลรักชาติประชิปไตย พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย และพรรคเรสพับลิกาจะเข้าทำงานในสภาล่างเป็นสมัยแรก จึงเป็นความหวังว่าการตัดสินใจของสภาล่างจะสะท้อนถึงความต้องการและความสนใจของประชาชนชาวคาซัคสถานจากหลากหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้มาลงคะแนนเสียง 3.9% เลือกที่จะไม่ออกเสียงให้พรรคใด ถือเป็นการบ้านให้กับพรรคการเมืองและหน่วยงานรัฐได้คิดถึงเหตุผลเบื้องหลัง 

สำหรับความโปร่งใสและยุติธรรม รัฐบาลเชิญผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติเข้ามาติดตามการเลือกตั้ง  มีการรายงานความผิดปกติเล็กน้อย แต่ในภาพรวมได้รับการยอมรับว่าจัดได้อย่างเป็นระเบียบและมีความโปร่งใส

ในรายงานเบื้องต้นจากผู้สังเกตการณ์นานาชาติจากองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือยุโรป (OSCE) สำนักงานองค์กรประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (ODIHR) และ สมัชชารัฐสภาแห่งองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือยุโรป  รายงานว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงมีตัวเลือกที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้การมีส่วนร่วมและการใช้สิทธิถูกจำกัด รายงานฉบับสมบูรณ์จะมีการเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไปในภายหลัง

สำหรับความรู้สึกของประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวคาซัคสถานมีตัวเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จากผู้สมัครมากว่า 380 คน ที่แข่งขันกันชิง ส.ส.  29 ที่นั่งในสภาล่าง ประชาชนรู้สึกว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องใกล้ตัวจากโปสเตอร์หาเสียงของคนรู้จัก, เพื่อน, ญาติ รวมไปถึงเพื่อนบ้าน แต่ถึงแม้กระนั้นมีผู้ลงสมัครอิสระเพียง 7 คนเท่านั้นที่ได้รับเลือกให้เข้าสภา ที่เหลือมาจากผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง

ข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ แม้การเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี  แต่จำนวนผู้มาใช้สิทธิยังจัดอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลไม่ถึง 54% จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป 

สองเมืองที่มีการแข่งขันทางการเมืองที่ดุเดือดที่สุดคือเมืองอัลมาตี  และกรุงอัสตานา คนดังที่มาเล่นการเมือง เช่น  ดาวเลด มุกคาบาเยฟดาราและผู้สมัครของพรรคอมานัตและ ดาวเลด ทูรูคานอฟนักกีฬามวยปล้ำแชมป์โลกปี 1989, แชมป์การแข่งขันยุโรปและเอเชียปี 1995เหรียญเงินปี 1988 และ เหรียญทองแดง 1992 กีฬาโอลิมปิก ลงเป็นผู้สมัครแข่งขันแบบแบ่งเขตในกรุงอัสตานา 

 ส่วนอัลมาตี  เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศและเคยเป็นเมืองหลวง มีผู้สมัครที่น่าในสนใจคือ เยอร์มูรัท บาพี สื่อมวลชนและบุคคลสาธารณะ, เยอร์รัน ซาตาเยคอฟ  นักเศรษฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหวทางสังคม  รวมไปถึง บัตเคย์จัน บาซาเบค นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ทั้งสามคนลงสมัครแบบไม่สังกัดพรรคการเมือง

ผลการเลือกตั้งที่ได้ประชาชนรู้สึกแตกต่างกันไป ทั้งพึงพอใจที่ ส.ส.ได้รับเลือกมีความหลากหลาย  บางคนวิตกถึงพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา แต่โดยรวมส่วนใหญ่หวังว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะนำมาซึ่งอนาคตที่ดีขึ้นของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้น, การขึ้นเงินเดือน,  แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและพลังงาน,  ปรับปรุงโครงสร้างด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชนบท และปัญหาสภาพอากาศในเมืองใหญ่ ซึ่ง ส.ส. ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องช่วยแก้ปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้