1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับผู้นำจากการเลือกตั้ง

1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับผู้นำจากการเลือกตั้ง

ในฐานะที่ปีนี้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน สงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจใช้เป็นบทเรียนได้ในแง่ที่ว่า รัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน ประเทศที่สื่อมวลชนทำงานได้อย่างอิสระ โอกาสที่ผู้นำจะนำพาประเทศไปเข้ารกเข้าพงจนเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้าดูท่าจะเกิดขึ้นได้ยาก

เผลอแป๊บเดียว สงครามรัสเซีย-ยูเครนดำเนินมาครบรอบ 1 ปีในวันนี้ 24 ก.พ.2566 โดยที่ยังไม่เห็นแววยุติ คู่ขัดแย้งเบื้องต้นคือรัสเซียกับยูเครน มองให้ลึกลงไปยูเครนมีชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐเป็นพันธมิตร รัสเซียพยายามดึงจีนมาเป็นพวก อินเดียก็ไม่แสดงท่าทีชัดเจน แต่ผลเสียหายจากสงครามแน่นอนว่าสะเทือนไปทั้งโลก

รายงานล่าสุดจากสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งเยอรมนี กล่าวว่า ปีที่แล้วสงครามในยูเครนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกกว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ปีนี้ผลผลิตโลกอาจเสียหายอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ สงครามทำให้อุปทานและการผลิตปั่นป่วนทั่วโลก ราคาน้ำมันพุ่งสูง เงินเฟ้อพุ่งพรวดในทุก ๆ ที่

สภาพการณ์เช่นนี้ แน่นอนว่าอำนาจซื้อผู้บริโภคลดลงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ต้นทุนการเงินยังเพิ่มขึ้นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ต้นทุนสินค้าทุนเพิ่ม บริษัททั่วโลกชะลอการลงทุน 

 

 

ฟังแล้วก็ร้อน ๆ หนาว ๆ เพราะผลกระทบจากสงครามที่มีต่อเศรษฐกิจโลกไทยโดนมาแล้ว แม้จะมีรายงานว่า การทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนย่างเข้าสู่ปีที่ 2

ชาวรัสเซียมองว่าประเทศไทยเป็นเหมือนแหล่งหลบภัยในยามบ้านเมืองไม่สงบสุข จึงพากันเข้ามาถือครองอสังหาริมทรัพย์อย่างคึกคัก เพื่อเลี่ยงการถูกเกณฑ์ไปรบและหลีกเลี่ยงการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองท่องเที่ยวของไทยอย่างภูเก็ต เกาะสมุย และพัทยาแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ข่าวนี้น่าจะส่งผลดีกับคนกลุ่มเล็กที่ทำธุรกิจอสังหาฯ ขณะที่คนไทยอีกมากยังเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย

สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะจบเมื่อใด แบบไหน สงครามนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นหรือไม่ไม่มีใครตอบได้ ได้แต่พิจารณาปัจจัยแวดล้อม คู่สงครามไม่มีทีท่ายอมถอย แต่มีข้อน่าสังเกตตรงที่ปัจจัยความสำเร็จของยูเครนขึ้นอยู่กับอาวุธและการฝึกฝนที่พันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) นำโดยสหรัฐจัดให้ ผนวกกับความอึดของประชาชนชาวยูเครน ซึ่งช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พวกเขาพิสูจน์แล้วว่า “สู้ไม่ถอย” เพราะนี่คือการปกป้องมาตุภูมิ

 

 

ส่วนการสนับสนุนด้านอาวุธและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมล้วนหมายถึงงบประมาณของชาติตะวันตกอันมีที่มาจากภาษี ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจความคิดเห็นชุดใหม่ของรอยเตอร์/อิปซอสจากชาวอเมริกันกว่า 4,000 คน ระหว่างวันที่ 6-13 ก.พ. พบว่า เสียงสนับสนุนให้ส่งความช่วยเหลือทางทหารไปให้ยูเครนลดลงเหลือ 58% จาก 73% ที่เคยสำรวจเมื่อเดือน เม.ย. 2565

ปีหน้า สหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี การที่โจ ไบเดน ประกาศตอนเยือนกรุงเคียฟว่าสหรัฐจะช่วยเหลือยูเครนตราบนานเท่านานอาจจะไม่เป็นจริงตามนั้น หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่พอใจ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งล้วนต้องฟังเสียงประชาชนทั้งสิ้น สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระปราศจากการครอบงำของรัฐถือเป็นกระจกสะท้อนได้อีกทางหนึ่ง

ในฐานะที่ปีนี้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน สงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจใช้เป็นบทเรียนได้ในแง่ที่ว่า

รัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน ประเทศที่สื่อมวลชนทำงานได้อย่างอิสระ โอกาสที่ผู้นำจะนำพาประเทศไปเข้ารกเข้าพงจนเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้าดูท่าจะเกิดขึ้นได้ยาก