เปิดลู่ทางลงทุน ‘ติมอร์-เลสเต’ ว่าที่สมาชิกใหม่อาเซียน

เปิดลู่ทางลงทุน ‘ติมอร์-เลสเต’  ว่าที่สมาชิกใหม่อาเซียน

การประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา มีมติเห็นชอบในหลักการให้ติมอร์-เลสเต “เป็นสมาชิกอาเซียน” เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับอาเซียนจะกลายเป็นสิ่งเดียวกันอีกครั้ง

และนั่นย่อมเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งต่อติมอร์-เลสเตเอง และต่อผู้คนที่กำลังแสวงหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ 

ปี 2565 เป็นปีที่ 20 ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับติมอร์-เลสเต นับตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2002 หรือวันเดียวกับที่ติมอร์-เลสเตฟื้นฟูเอกราช แต่ความสัมพันธ์ของสองประเทศมีมาตั้งแต่ปี 1999 ที่ไทยได้เข้าร่วมในกระบวนการรักษาสันติภาพสร้างความประทับใจให้กับประชาชนชาวติมอร์-เลสเต ภาพความสัมพันธ์จากวันนั้นถึงวันนี้รวมถึงโอกาสการค้าการลงทุนในอนาคตได้รับการบอกเล่าผ่านเวทีเสวนาวิชาการ “เส้นทางมิตรภาพ 2 ทศวรรษ ไทย - ติมอร์-เลสเต และก้าวต่อไปในอนาคต” จัดโดยศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) ร่วมกับ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ติมอร์-เลสเตในประวัติศาสตร์ 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต มีความสำคัญมากโดยเฉพาะในยุคอาณานิคม อรอนงค์ ทิพย์พิมล จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ติมอร์-เลสเตมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้แก่ ไม้จันทน์หอม เป็นแรงดึงดูดให้ชาติตะวันตกเข้ามา

ค.ศ.1903 โปรตุเกสและดัตช์ทำสนธิสัญญาให้ติมอร์ตะวันออกเป็นของโปรตุเกส ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นของดัตช์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1942-1945 ญี่ปุ่นยึดครองติมอร์ตะวันออกและดินแดนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อสงครามสิ้นสุดโปรตุเกสกลับมายึดครองดินแดนนี้อีกครั้ง 

วันที่ 28 พ.ย.1975 กลุ่ม Fretilin ซึ่งมีแนวทางสังคมนิยมประกาศเอกราชให้ชาวติมอร์ตะวันออก  วันที่ 7 ธ.ค.อินโดนีเซียส่งกำลังเข้ายึดครองเป็นจังหวัดที่ 27 แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของอินโดนีเซียในปี 1998 ทำให้ประธานาธิบดีซูฮาร์โตลงจากอำนาจ ประธานาธิบดีฮาบิบีเห็นชอบให้ชาวติมอร์ตะวันออกลงประชามติว่าจะแยกตัวเป็นเอกราชหรือเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย วันที่ 30 ส.ค.1999 ผู้คนออกไปลงประชามติกันอย่างล้นหลาม 78.5% แสดงเจตจำนงเป็นประเทศเอกราช แต่ความรุนแรงที่มีมาก่อนหน้านั้นเพราะไม่ต้องการให้มีการลงประชามติไม่ได้สิ้นสุดลงมีแต่จะรุนแรงขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงจัดตั้งกองกำลังนานาชาติ (INTERFET) เข้าไปรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออกโดยมีออสเตรเลียเป็นผู้นำ จนสามารถประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 20 พ.ค.2002

สัมพันธ์ไทยก่อนฟื้นฟูเอกราช 

จูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ เอกอัครราชทูตติมอร์-เลสเตประจำประเทศไทย ซาบซึ้งเสมอต่อบทบาทของกองกำลังนานาชาติภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูความสงบสุข และสร้างเสถียรภาพภายในประเทศซึ่งกองกำลังของไทยเป็นส่วนหนึ่งในนั้น 

“กองทัพไทยประจำการอยู่ที่จ.เบาเกา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงดิลีไปทางตะวันออกประมาณ 100 กม. โดยกองทหารของไทยมิได้มุ่งเพียงปฏิบัติภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนที่กำลังเผชิญความยากลำบาก โดยเฉพาะการถ่ายทอดวิธีทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ การให้บริการด้านสาธารณสุข และช่วยก่อสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองก่อนหน้านั้น” เอกอัครราชทูตติมอร์-เลสเตอร์ย้ำอีกครั้งถึงความชื่นชมที่มีต่อไทย 

รัฐชาติเกิดใหม่กับโอกาสใหม่ 

สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีประวัติศาสตร์ เล่าจากประสบการณ์ที่ได้ไปเยือนมาสองครั้งว่า ติมอร์-เลสเตเป็นดินแดนที่นักธรรมชาติวิทยาอยากไป “เป็นรัฐชาติใหม่ในสหัสวรรษใหม่ที่ไม่น่าจะมีรัฐชาติเกิดใหม่ได้อีกแล้ว” จุดเด่นของติมอร์-เลสเตก็เหมือนกับประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ตรงที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก จบปริญญาตรีค่าจ้างเพียง 180 ดอลลาร์ จบวิศวะต้องมาทำงานขับรถ แต่จุดเด่นของพวกเขาคือความพยายามและอยากก้าวหน้า 

ในสายตานักเขียนสารคดี สุเจนตั้งข้อสังเกตเรื่องภาษา คนติมอร์รุ่นเก่า คนที่ไปเรียนต่างประเทศ และในระบบกฎหมายใช้ภาษาโปรตุเกส ขณะเดียวกันภาษาอินโดนีเซียก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลของโลกและภาษาจีนกำลังมาแรง

“ปัญหาคือความอีนุงตุงนังของภาษา ไม่รู้รัฐบาลจะเอายังไงต่อ แตกต่างจากสิงคโปร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษ จีน และทมิฬที่เชื่อมต่อกับโลกได้มากกว่า” 

 อย่างไรก็ตาม วินิตา จามิกรณ์ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าติมอร์-เลสเต เป็น 1 ใน 9 ประเทศกลุ่มพูดภาษาโปรตุเกส (CPLP) และเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก การเข้าถึงตลาดติมอร์-เลสเตได้จึงไม่ใช่แค่ 1.43 ล้านคน แต่รวมถึงประชากรกลุ่มประเทศที่ติมอร์-เลสเตเป็นสมาชิกอยู่ด้วย จุดเด่นของติมอร์-เลสเตคือทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีแรงงานมาก ค่าแรงถูก หากมองในแง่ความต้องการ ผู้บริโภคในตลาดนี้ชอบสินค้าไทยเพราะคุณภาพดี เธออยากเชิญชวนนักธุรกิจไทยที่ต้องการเปิดตลาดให้เข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ ยิ่งติมอร์-เลสเตกำลังจะเข้าอาเซียนยิ่งเป็นโอกาสอันดี 

เอกพล พูลพิพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี สรุปว่า แม้ยังเป็นประเทศเปราะบาง ยากจน ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูง แต่การที่ติมอร์-เลสเต กำลังจะเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนและองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) จะช่วยให้มีพื้นฐานการพัฒนาเพราะต้องปรับระบบในประเทศให้เข้ากับมาตรฐานโลก การพัฒนาต้องทำอย่างครอบคลุม 

“ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ติมอร์-เลสเตกำลังได้โอกาสใหม่ สิ่งที่เราทำได้เมื่อเขาเข้าอาเซียนคือตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ติมอร์-เลสเตพึ่งพาตลาดอินโดนีเซียเป็นหลัก ส่วนสิงคโปร์ เวียดนาม จีน ก็ขนถ่ายสินค้ามาสม่ำเสมอ” ทูตไทยประจำกรุงดิลีกล่าวและว่า สินค้าไทยมีจุดขายที่คุณภาพสูง ถ้าติมอร์-เลสเตก้าวข้ามเรื่องรายได้จะกลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทย รัฐบาลดิลีเองก็อยากสร้างความหลากหลายให้กับการนำเข้าและส่งออกซึ่งจะเปิดช่องให้สินค้าไทยเข้าไปเปิดตลาดที่นั่นได้ 

“วิกฤติของติมอร์ในทุกด้านเป็นโอกาสของเรา” ทูตเอกพลสรุปถึงลู่ทางการลงทุนในประเทศว่าที่สมาชิกใหม่อาเซียนด้วยประโยคเดียว ซึ่งพิจารณาจากมุมมองของนักธุรกิจและความสัมพันธ์กับไทยตั้งแต่อดีตสิ่งที่ทูตกล่าวก็น่าจะเป็นจริงตามนั้น

เปิดลู่ทางลงทุน ‘ติมอร์-เลสเต’  ว่าที่สมาชิกใหม่อาเซียน

เปิดลู่ทางลงทุน ‘ติมอร์-เลสเต’  ว่าที่สมาชิกใหม่อาเซียน