ซูชิ-โอมากาเสะ ต้องหลบ! ญี่ปุ่นยก "อาหารแช่แข็ง" ขึ้นแท่น "จานเด็ดแห่งปี"

ซูชิ-โอมากาเสะ ต้องหลบ! ญี่ปุ่นยก "อาหารแช่แข็ง" ขึ้นแท่น "จานเด็ดแห่งปี"

เมื่อการระบาดของโควิด-19 พลิกโฉมการบริโภคของคนทั่วโลกไปตลอดกาล? ล่าสุด สถาบันอาหารชั้นนำในญี่ปุ่นมอบตำแหน่ง "อาหารแห่งปี" ประจำปี 2021 ให้แก่ "อาหารแช่แข็ง" สะท้อนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด

เป็นธรรมเนียมของทุกปีที่สถาบันวิจัยกูรูนาบิ (Gurunavi Research Institute) ผู้จัดทำเว็บไซต์รวบรวมโปรโมชันและร้านอาหารชั้นนำของญี่ปุ่น จะต้องมอบรางวัล “อาหารแห่งปี” (Dish of the Year) ให้แก่อาหารที่กำลังเป็นที่นิยมในแต่ละปีของญี่ปุ่น โดยคัดเลือกจากการค้นหาและการตั้งกระทู้อาหารบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งในปีก่อนหน้านี้ รางวัลนี้เคยตกเป็นของ “อาหารจากพืช” และ “อาหารจีน”

สำหรับในปีนี้ รางวัลอาหารแห่งปีตกเป็นของ “อาหารแช่แข็ง” เป็นการเน้นย้ำว่าการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวญี่ปุ่นมากเพียงใด

สถาบันวิจัยกูรูนาบิให้เหตุผลว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารจำนวนมากต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดส่งอาหารสำหรับซื้อกลับบ้าน ผ่านวิธีการการแช่แข็งด้วยความเร็วสูง หรือ Flash Freezing ซึ่งเป็นการแช่เยือกแข็งตั้งแต่อาหารยังมีคุณภาพความสดในระดับสูงสุด โดยจะทำการลดอุณหภูมิลงด้วยความเร็วสูง ใช้เวลาในการแช่เยือกแข็งสั้นที่สุด แต่ยังคงรักษาความสมบูรณ์ของอาหารไว้ได้ครบถ้วน ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถทำได้กับอาหารหลากหลายประเภท แม้กระทั่งซูชิ

ทั้งนี้ สถาบันยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ร้านอาหารพยายามเพิ่มความหลากหลายของเมนูอาหาร ขณะที่ลูกค้าก็ได้รับความสะดวกสบายในการบริการ เนื่องจากมีตู้จำหน่ายอาหารแช่แข็งอัตโนมัติมากขึ้น และอาหารแช่แข็งจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น

สมาคมอาหารแช่แข็งแห่งประเทศญี่ปุ่นที่บันทึกเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคอาหารแช่แข็งภายในประเทศมาตั้งแต่ปี 2524 เปิดเผยว่า มูลค่าการผลิตสินค้าแช่แข็งในปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.2% ด้วยมูลค่า 2,830 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยเกี๊ยวซ่าและลูกชิ้นแช่แข็งเป็นสินค้าที่มีการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก

“แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะบรรเทาลงแล้ว และอาหารแช่แข็งมีแนวโน้มจะปรับราคาสูงขึ้น แต่ความนิยมในการบริโภคอาหารแช่แข็งยังคงมีอยู่เพราะมีรสชาติดีและสะดวก” ตัวแทนของสมาคมกล่าว

จากข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่ใช้ไปกับอาหารแช่แข็งในปี 2564 เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2559 ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเพิ่มพื้นที่แผนกอาหารแช่แข็ง

เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา Aeon หนึ่งในห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาที่สุดในประเทศ ได้เปิดร้านขายอาหารเฉพาะใช้ชื่อว่า @Frozen ที่จังหวัดชิบะ สำหรับจำหน่ายอาหารแช่แข็งมากกว่า 1,500 รายการ ในพื้นที่ขนาด 420 ตารางเมตร

“เราเริ่มธุรกิจใหม่เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพของอาหารแช่แข็ง และเรามีแผนที่จะขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต” ทาคาชิ นิชิโนะ กรรมการบริหารของ Aeon Retail กล่าว

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ NHK รายงานว่า Lawson ร้านสะดวกซื้อเจ้าดังของญี่ปุ่น ขยายแผนกอาหารแช่แข็งในร้านสะดวกซื้อกว่า 5,000 สาขา โดยมีสินค้าให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ของหวาน ไปจนถึงซาซิมิประเภทต่าง ๆ

ตามธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นแล้ว ครอบครัวชาวญี่ปุ่นมักจะซื้อผักสดและวัตถุดิบอื่น ๆ จากร้านขายของชำทุกวัน โดยผู้เป็นแม่และภรรยาจะทำข้าวกล่องเบนโตะสำหรับลูกและสามีในตอนเช้า เพื่อเป็นอาหารกลางวันสำหรับรับประทานที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 และบทบาททางเพศที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมนี้

“ในตอนนี้ ผู้หญิงญี่ปุ่นทำงานนอกบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เวลาในการเตรียมอาหารเช้าสำหรับคนในครอบครัวมีจำกัด” โยชิโกะ มิอุระ ที่ปรึกษาผู้บริโภคของสมาคมอาหารแช่แข็งแห่งประเทศญี่ปุ่นกล่าว

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำอาหารตามปรกติที่ต้องใช้ส่วนผสมและขั้นตอนมากมาย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขา อาหารแช่แข็งจึงเข้ามาตอบโจทย์ให้แก่ผู้คนเหล่านี้ได้อย่างดี

ฮิโรกิ โยชิทาเกะ เชฟชื่อดังของญี่ปุ่นได้อธิบายในการประกาศผลอาหารแห่งปีว่า ในยุคก่อนโควิด-19 ผู้คนมักมองว่าอาหารแช่แข็งนั้นมีคุณภาพต่ำ ซึ่งเขาและเชฟคนอื่น ๆ กำลังพยายามเปลี่ยนความคิดและอคติของผู้คนที่มีต่ออาหารแช่แข็ง ด้วยการนำวัตถุในแต่ละท้องถิ่นมาทำเป็นอาหารแช่แข็งและส่งขายออกทั่วโลก ไม่ใช่แค่เพียงในญี่ปุ่นเท่านั้น

 

ที่มา: CNNNHKTasting TableThe Asahi Shimbum