โครงสร้างประชากร “ญี่ปุ่น” วิกฤติ! หลังสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก

โครงสร้างประชากร “ญี่ปุ่น” วิกฤติ! หลังสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก

“ญี่ปุ่น” กำลังเผชิญหน้ากับ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างหนัก หลังข้อมูลล่าสุดพบว่า มีประชากรผู้สูงอายุเกิน 65 ปีมากถึงกว่า 36 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

จากข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่น (Ministry of Internal Affairs and Communications) ที่เผยแพร่ช่วงสุดสัปดาห์ วันเคารพผู้สูงอายุ (Respect for the Aged Day) ในวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ข้อมูลระบุว่า ญี่ปุ่นมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไปมากถึง 36.27 ล้านคน แยกเป็นผู้ชาย 15.74 ล้านคน และผู้หญิง 20.53 ล้านคน หากแบ่งจำนวนผู้สูงอายุตามอายุจะพบว่า มีจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 75 ปีถึง 19.37 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ส่วนประชากรที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มีประมาณ 12.35 ล้านคน คิดเป็น 9.9% ของประชากรทั้งหมด ด้านประชากรที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป มีประมาณ 2.65 ล้านคน คิดเป็น 2.1%

ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก ตามมาด้วยอิตาลีที่มีผู้สูงอายุราว 24.1% ส่วนอันดับที่ 3 เป็นของฟินแลนด์ที่มีผู้สูงอายุคิดเป็น 23.3% ของประชากรทั้งหมด

สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติ (The National Institute of Population and Social Security) คาดการณ์ว่า ผู้สูงอายุในญี่ปุ่น จะมีสัดส่วนคิดเป็น 35.3% ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2583 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ โดยเฉพาะในด้านการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการส่งเสริมนโยบายเพิ่มอัตราการเกิดเพื่อรักษาระดับประชากรในแต่ละภูมิภาค

อัตราการเกิดลดลงเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Reuters ได้รายงานว่า อัตราการเกิดของประชากรในญี่ปุ่นต่ำสุดในรอบร้อยกว่าปีนับตั้งแต่มีการทำสำรวจมา โดยข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา มีเด็กเกิดใหม่เพียง 811,604 คน ลดลงราว 3.5% จากปี 2563 ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 1,439,809 คนในปีที่แล้ว ซึ่งหมายความว่ามีประชากรลดลง 628,205 คน นับเป็นการสูญเสียประชากรตามธรรมชาติที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีข้อมูลบันทึกมา

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาจำนวนคู่แต่งงานลดลงจากปีก่อนหน้า 24,391 คู่ เหลือเพียง 501,116 คู่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488

“ประชากรเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 15-49 ปีลดลง 1.8% และอัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงในวัย 20 ปีลดลงจากปีก่อน ๆ” เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labor and Welfare) เปิดเผยกับสำนักข่าว Jiji Press

ข้อมูลนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับ “สังคมผู้สูงอายุ” และปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19  ยิ่งสร้างความกังวลว่าจะเกิดขึ้นวิกฤติแรงงานขั้นเลวร้าย

เจนนิเฟอร์ โรเบิร์ตสัน ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ศิลปะ แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า “จำนวนประชากรที่ลดลงไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีเซ็กซ์ แต่เป็นเพราะพวกเขาต้องดิ้นรนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น”

ผู้ชายพยายามดิ้นรนเพื่อให้ได้งานที่ดี ทำให้พวกเขาไม่อยากแต่งงาน และสังคมญี่ปุ่นไม่ยอมรับการมลูกนอกสมรส ขณะที่จำนวนผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ผู้หญิงส่วนมากหันมาทำงาน เห็นได้จากอัตราการจ้างงานเพศหญิงที่สูงขึ้น ทำให้พวกเธอหันไปโฟกัสกับการประกอบอาชีพ แทนที่จะอยู่บ้านเพื่อเป็นแม่บ้าน ตามค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นที่ยังยึดถือว่าผู้หญิงต้องทำหน้าที่แม่และอยู่บ้านเพื่อดูแลลูก

“ญี่ปุ่นเป็นประเทศอนุรักษนิยมอย่างมาก ยึดถือในระบบ 2 เพศ คือเพศชายและหญิงเท่านั้น อีกทั้งยังคงแบ่งหน้าที่กันตามเพศสภาพ ทำให้รัฐจะต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายมหาศาลเพื่อดูแลประชากรสูงอายุ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อ" โรเบิร์ตสันกล่าว

จากรายงานแนวโน้มประชากรโลก” ฉบับที่ 27 ของสหประชาชาติ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันประชากรโลก พบว่า อัตราการเจริญพันธุ์  หรือ ตัวเลขที่ระบุว่าในตลอดชีวิตของผู้หญิงจะให้กำเนิดบุตรกี่คน เป็นปัจจัยโดยตรงที่ส่งผลต่อการกำหนดอัตราประชากรโลก โดยอัตราการเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมา นั้นอยู่เพียงระดับ 1.3 ซึ่งต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้สูงประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ สเปน หรืออิตาลี มีอัตราการเกิดต่ำเพียง 1.5 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน 

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบายเพื่อจูงใจให้ผู้คนมีบุตรเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการมอบเงินสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรและให้เรียนระดับชั้นเตรียมอนุบาลฟรี แต่ดูเหมือนว่านโยบายเหล่านี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้จำนวนประชากรเพิ่มยิ่งขึ้น

 

วัยทำงานกำลังลดลง

ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลในปี 2564 แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำกว่า 9.09 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 60,000 คน โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 18 แม้ว่าจะเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาแล้วผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีที่มีงานทำในปีนี้จะมีสัดส่วนเท่ากับปีที่แล้วที่ 25.1% แต่เป็นครั้งแรกที่คนอายุ 65-69 ปีมีงานทำมากถึง 50.3% โดยแรงงานสูงอายุคิดเป็น 13.5% ของแรงงานที่มีทั้งหมด และจะยังคงอยู่ในระดับนี้ต่อไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น เป็นสัญญาณให้แรงงานสูงอายุตัดสินใจทำงานต่อไป

การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 75 ปี เป็นผลมาจากประชากรที่เกิดในช่วงแรกของยุคเบบี้บูมในปี 2490-2492 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จำนวนคนในโลกเกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้วยความกังวลเรื่องปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของแรงงานต่างด้าวอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นนโยบายที่เข้มงวดที่สุด เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ค่อยให้สถานะผู้ลี้ภัยหรือสัญชาติแก่แรงงาน โดยแรงงานต่างด้าว เช่น แรงงานชาวเวียดนามในร้านอาหารจะสามารถทำงานอยู่ในประเทศได้ 5 ปี และห้ามพาครอบครัวเข้ามาทำงานในประเทศได้

การย้ายถิ่นฐานของชาวต่างชาติเป็นข้อห้ามทางการเมืองของญี่ปุ่นมานานหลายทศวรรษแล้ว เนื่องจากกังวลว่า การไหลทะลักเข้ามาของแรงงานต่างชาติจะทำให้วัฒนธรรมของประเทศและความเข้มข้นทางชาติพันธุ์เจือจางลง

แต่เมื่อประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นต้องผ่อนคลายนโยบายดังกล่าว ด้วยการให้วีซ่าแรงงานทักษะพิเศษรูปแบบใหม่ แก่แรงงานก่อสร้างชาวจีน ทำให้สามารถพาครอบครัวเข้ามาอาศัยด้วยกันในญี่ปุ่นด้วย โดยหลังจากนี้รัฐบาลมีแผนที่จะขยายวีซ่าดังกล่าวในกลุ่มงานต่าง ๆ ที่ยังขาดแคลนอีกด้วย


ที่มา: Kyodonews, NipponOur World in DataReutersWashington Post