เทศกาลคือ "เรื่องปากท้อง" กรณีศึกษาของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เทศกาลคือ "เรื่องปากท้อง" กรณีศึกษาของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ผมเพิ่งกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฤดูกาลที่มีคนท่องเที่ยวมากที่สุด ทั้งคนญี่ปุ่นเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เรียกได้ว่าเป็นพีคซีซั่น ถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาทำเงิน พอ ๆ กับช่วงฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่หลังช่วงซากุระบานเรื่อยไปจนกระทั่งช่วงสัปดาห์หยุดยาวของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Golden week ในช่วงต้นเดือน พ.ค.

ถามว่าทำไมถึงพีค ในเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เพราะมันเป็นปลายปี คนเก็บเงินกันมาทั้งปีเพื่อใช้ เพื่อเที่ยว เพื่อแสวงหาความสุข แบ่งบันความสุข ซึ่งคือสารัตถะของชีวิต ชีวิตคนเราสั้นนักและก็เกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข เทศกาลมากมายตั้งแต่ฮาโลวีน Thanksgiving คริสต์มาสและปีใหม่ ก็ส่งผลดีทั้งทางจิตใจและระบบเศรษฐกิจที่เงินจำนวนมหาศาลถูกหมุนเวียนในระบบ

จะสังเกตได้ว่าในประเทศที่มีอากาศหนาวทั้งก่อนและหลังฤดูหนาวมักจะมีการเฉลิมฉลองให้กับการมาและการจากไปของฤดูหนาว (ที่โหดร้าย) ในเชิงกายภาพอากาศที่อุ่นขึ้น การเบ่งบาน กลิ่นหอมของดอกไม้ การเกิดของสัตว์น้อยใหญ่ก็คือ สัญญาณแห่งชีวิต สัญญาณแห่งความสุข ที่กลับมาพร้อมกับความอบอุ่นหลังหน้าหนาว การเฉลิมฉลองเหล่านี้มีมาแต่โบราณกาล ก่อนจะมีระบบศักดินาด้วยซ้ำ

หากเปรียบโควิดเหมือนฤดู ก็คงเป็นฤดูหนาวที่ยาวนาน นานมากที่สุดถึง 3 ปี และทุกคนในโลกก็บอบช้ำจากวิกฤติฤดูหนาวอันยาวนานนี้ แม้ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศที่เจริญแล้ว มีเงินคงคลังมากมาย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐและจีน ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ร้านรวงปิดมากมาย เอกชนและรัฐจำต้องช่วยกันลงขันประกันเงินเดือน ประชาชนก็กระทบได้เงินเดือนที่ลดลง บ้างก็ถูกปลดจากงานด้วยซ้ำ

รัฐบาลญี่ปุ่น ถึงแม้จะมีเงินมากเท่าไร แต่ก็ไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวทั้งของคนในประเทศและต่างประเทศ นี่คือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจึงมีโครงการกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นเที่ยวในประเทศ คล้ายกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่รัฐจะช่วยออกเงินส่วนหนึ่ง แต่ของญึ่ปุ่นนั้นไม่จำกัดสิทธิ ใครมีกำลังเที่ยวได้แค่ไหนก็เที่ยวไป

ตั้งแต่นายกฯอาเบะผู้ล่วงลับ ญี่ปุ่นพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก และรายได้ตรงนี้เองที่ช่วยเข้ามาพลิกให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ให้อยู่ในภาวะซบเซา คนไทยเราไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้นก็เพราะเราก็ได้ฟรีวีซ่าจากช่วงนี้เอง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจากไทยและต่างประเทศนั้นเยอะมาก และก็ช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้มาก

พอโควิดเริ่มบรรเทาเบาบางลงในช่วงครึ่งหลังของปี หลายประเทศ อาทิ ไทย เริ่มเปิดประเทศเพื่อดึงเงินจากนักท่องเที่ยวมาช่วยพยุงเศรษฐกิจที่พังยับเยินจากโควิด แต่ไม่ใช่ที่ญี่ปุ่น รัฐบาลยังคงสงวนท่าทีและเลือกชิ้นปลามัน โดยการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เลือกนักท่องเที่ยวคุณภาพและทำให้ขั้นตอนการเข้าประเทศยุ่งยาก ซึ่งก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบายนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

ญี่ปุ่นจึงจำต้องเปิดประเทศเต็มรูปแบบ คำว่า “เต็มรูปแบบ” คือนอกจากเปิดประเทศแบบฟรีวีซ่าให้กับประเทศพันธมิตรแบบช่วงก่อนโควิด ตอนนี้ยังขยายไปยังกลุ่มประเทศที่ยังไม่เคยได้รับฟรีวีซ่า (ในช่วงก่อนโควิด) ด้วยซ้ำ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพราะรัฐเห็นว่า เม็ดเงินมีความสำคัญพอ ๆ หรืออาจจะมากกว่าการควบคุมโรค

ขนาดญี่ปุ่นที่ทั้งเงินหนา ทั้งอนุรักษนิยมยังทำสิ่งนอกกรอบเพื่อความอยู่รอดของประชาชน ดังนั้น การเฉลิมฉลองเทศกาลมันคือเรื่องของปากท้อง เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่ความรื่นเริงเพียงอย่างเดียว

งานเฉลิมฉลองปีใหม่ของเราที่กำลังจะถึงนั้น จึงเป็นเรื่องของปากท้อง เรื่องของการอยู่รอดของประชาชนคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ