บ.เงินทุนอาเซียนลงทุนระมัดระวังมากขึ้น เหตุศก.หด-มูลค่าลงทุนลดลง

บ.เงินทุนอาเซียนลงทุนระมัดระวังมากขึ้น เหตุศก.หด-มูลค่าลงทุนลดลง

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีเปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจร่วมลงทุน (วีซี) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเลือกลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้นในปีหน้า เนื่องจากมูลค่าการลงทุนลดลงและเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2565

ยิงหลัน ตัน ซีอีโอชาวสิงคโปร์และหุ้นส่วนผู้จัดการบริษัททุนอินซิกเนีย (insignia ventures partners) เผยว่า ยุคของการหาเงินได้ง่าย ๆ เป็นเพียงประวัติศาสตร์ไปแล้ว 

ด้านเจฟรีย์ โจ ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการบริษัทเงินทุนอัลฟาเจดับเบิลยูซีในอินโดนีเซีย กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องจับตาในปีหน้าคือ ดูว่าบรรดาธุรกิจเติบโตอย่างไร เพื่อปกป้องมูลค่าการลงทุนของพวกเราและให้รอดพ้นจากความท้าทายต่าง ๆ”

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Crunchbase ระบุว่า เหล่าบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุน มีเงินทุนเพิ่มขึ้น 369,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2565 ต่ำกว่าเงินลงทุนทั่วโลกที่ทำลายสถิติล่าสุดเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 679,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจุสซี ซาโลวารา ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัททุน Antler ประจำเอเชีย เผยว่า กองทุนส่วนใหญ่มีทุนพร้อมใช้ แต่กองทุนเหล่านั้นกำลังมองหาโอกาสดี ๆ ในการลงทุนอยู่

และข้อมูลจากการลงทุนจากพิตช์บุ๊ก แพลตฟอร์มลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด (private market) ระบุว่า บรรดาบริษัทเงินทุน ได้ลงทุนเพิ่มขึ้น 151,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี ซึ่งมากกว่าการระดมทุนทั้งปีของปี 2564 โดยบริษัททุน Sequoia Southeast Asia ลงทุนเพิ่ม 850 ล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย., East Ventures ลงทุนเพิ่ม 550 ล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ค. และ Insignia ลงทุนเพิ่ม 516 ล้านดอลลาร์ในเดือน ส.ค.

อย่างไรก็ตาม หุ้นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ร่วงตั้งแต่ต้นปี ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และผลประกอบการไม่น่าพอใจ และธุรกิจสตาร์ตอัปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงไม่สร้างผลกำไรมากนัก เช่น บริษัทซีกรุ๊ปและแกร็บที่ขาดทุนปีละหลายพันล้านดอลลาร์ อีกทั้งบริษัทเทคโนฯในอาเซียนหลายแห่ง สูญมูลค่าบริษัทตั้งแต่นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ 

โดยมูลค่าตลาดของซีกรุ๊ปในตลาดหุ้นนิวยอร์กเหลือเพียง 30,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงมากกว่า 200,000 ล้านจากปลายปีที่แล้ว ส่วนมูลค่าบริษัทโกทูจากเดิม 400 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ หรือประมาณ 28,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงมากกว่า 75% ตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียในเดือน เม.ย. ขณะที่แกร็บสูญมูลค่าบริษัท 69% เหลือประมาณ 27,600 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นสหรัฐแนสแด็ก

เป็ง ที ออง ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัททุน Monk’s Hill อ้างอิงถึงบริษัทที่สามารถมีกำไร ก่อนจะหมดเงินทุน ว่า “บริษัททุนต้องมองความเป็นจริง ผู้คนเริ่มเปลี่ยนแปลง คุณจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการทำกำไร และต้องเริ่มต้นใหม่ คุณจำเป็นต้องมีกำไรส่วนเกินที่เป็นบวก นี่คือสิ่งที่พวกเราพูดมาโดยตลอด แต่บริษัทติดหล่มกับวงจรเงินสดมากเกินไป” เรียกได้ว่า บริษัทเงินทุนหลายแห่งเพิ่มพอร์ตลงทุนเพื่อขยายแนวทางการทำกำไร ขณะที่มีความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า

ด้านโจให้ความเห็นว่า “ไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจผลกำไรในตอนท้าย แต่ไม่มีบริษัทสตาร์ตอัปใดที่มีกำไรในช่วง 5 ปีแรกเลย บางทีอาจต้องคิดให้รอบคอบในการลงทุน ซึ่งสตาร์ตอัปอาจไม่จำเป็นต้องมีผลกำไรในช่วงนี้ ตราบเท่าที่พวกเขาใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและธุรกิจมีความแข็งแกร่ง”

บางภาคธุรกิจอย่าง 'ควิกอีคอมเมิร์ซ' หรือบริการซื้อสินค้าจากร้านค้าหลายรูปแบบ เช่น การจัดส่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ เกิดความล้มเหลวมากมาย โดยธุรกิจประเภทนี้ให้คำมั่นว่าจะส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าภายใน 30 นาที

ซึ่งธุรกิจควิกอีคอมเมิร์ซของอินโดฯอย่างบานานาส์ ประกาศเมื่อเดือน ต.ค.ว่า บริษัทเตรียมปิดร้านขายของชำอิเล็กทรอนิกส์ หลังไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวได้เพียง 10 เดือน ทางแฮปปี้เฟรชบริษัทร้านขายของชำอิเล็กทรอนิกส์ของอินโดฯ ยุติกิจการในมาเลเซียหลังดำเนินธุรกิจมานาน 7 ปี ขณะที่แกร็บยังดำเนินบริการควิกอีคอมเมิร์ซหรือแกร็บมาร์ทในอินโดนีเซียต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติหลายแห่งอย่าง Gopuff, กอริลลาส์, จิฟฟี่, แซปป์ และ Buyk ประกาศปิดสาขาร้านค้า ปรับแผนกลยุทธ์ และปลดพนักงานออกเช่นกัน

“โมเดลธุรกิจควิกอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงยังสามารถทำได้ยาก เนื่องจากหน่วยเศรษฐกิจติดลบมาก ขนาดตลาดและจำนวนคำสั่งซื้อยังค่อนข้างน้อย” กาวิน เตียว จากบริษัทุน Altara กล่าว

“การลงทุนที่ลดลงน้อยลงนี้ เปรียบเสมือนกระดาษลิตมัสทดสอบความยั่งยืนที่แท้จริงของโมเดลธุรกิจ และความต้องการในตลาด อีกทั้งกระแสเงินสดไหลออกจากภูมิภาคอาเซียน ทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า บริษัทใดยังไม่พร้อมที่จะเผชิญความท้าทายจากสภาพแวดล้อมในขณะนี้” ตัน ทิ้งท้าย