'ไทย'งดออกเสียงมติยูเอ็นให้รัสเซียจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม

'ไทย'งดออกเสียงมติยูเอ็นให้รัสเซียจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นจีเอ) โหวตรับรองมติให้รัสเซียจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามกับยูเครน โดยไทยงดออกเสียงเช่นเดียวกับบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม ส่วนเมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ สนับสนุนมตินี้

ยูเอ็นจีเอ ผ่านร่างญัตติที่ให้รัสเซียจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามต่อยูเครน โดยมีสมาชิกลงมติสนับสนุน 94 เสียง คัดค้าน 14 เสียง งดออกเสียง 73 เสียง

ญัตติ ซึ่งเสนอโดยยูเครนระบุให้รัสเซีย ต้องรับผิดชอบในการละเมิดกฎหมายนานาชาติจากการทำสงครามต่อยูเครน โดยทูตยูเครนประจำสหประชาชาติระบุว่า รัสเซียเคยสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการค่าชดเชยของสหประชาชาติหลังจากชาติพันธมิตรตะวันตกบุกคูเวตและอิรัก และต้องการให้มีกรรมการธิการในลักษณะนี้ในสงครามรัสเซียต่อยูเครน 

ขณะที่รัสเซีย กล่าวว่าญัตตินี้เป็นตัวอย่างของประเทศจำนวนน้อยที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมระบุว่า กรรมาธิการนี้ดำเนินการนอกกลไกของสหประชาชาติ และจะใช้ทรัพย์สินของรัสเซียที่ชาติตะวันตกอายัดนำไปจ่ายให้กับยูเครน

ในส่วนของไทยงดออกเสียงในญัตตินี้ ซึ่งในกลุ่มชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)มีประเทศที่ลงมติสนับสนุนคือ เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ส่วนบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย และเวียดนามงดออกเสียง

ขณะที่ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมกลุ่ม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่ม G20 เตรียมประณามรัสเซียจากกรณีการรุกรานยูเครน

ร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ได้กล่าวถึงการหารือกันในประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งต่อเศรษฐกิจโลก โดยเลือกใช้คำว่า “สงครามในยูเครน” แทนการเรียกว่า “สงครามของรัสเซียในยูเครน” เพื่อแสดงการประนีประนอมและเพื่อให้บรรดาผู้นำจาก G20 ลงนามมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ร่างแถลงการณ์ร่วมระบุว่า “สมาชิกส่วนใหญ่ประณามสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนอย่างรุนแรง พร้อมเน้นย้ำว่า สงครามนี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแสนสาหัสต่อมวลมนุษย์ และซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้วให้เลวร้ายยิ่งขึ้น รวมถึงขัดขวางการเติบโต เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ห่วงโซ่อุปทานติดขัด พลังงานและอาหารที่ไม่มั่นคง และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่พุ่งสูงขึ้น”

ในร่างแถลงการณ์ยังกล่าวถึงการใช้หรือการข่มขู่คุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ว่า การกระทำดังกล่าว “ไม่เป็นที่ยอมรับ” หลังจากที่รัสเซียประกาศกร้าวว่าจะใช้ทุกวิธีที่จำเป็นในการปกป้องดินแดนยูเครนที่ได้ผนวกรวมเข้ากับรัสเซียอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเสริมว่า “ยุคปัจจุบันจะต้องไม่มีสงคราม”

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ร่วมยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในการต่ออายุข้อตกลงที่อนุญาตให้ผลผลิตธัญพืชที่สำคัญจากยูเครนกลับมาขนส่งจากท่าเรือในทะเลดำที่ได้รับผลกระทบจากสงครามได้อีกครั้ง ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกับรัสเซีย ตุรกี และยูเอ็นซึ่งจะสิ้นสุดลงในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งสร้างความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะสำหรับประเทศยากจนและการขาดแคลนปุ๋ยสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกครั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แต่ส่ง“เซอร์เก ลาฟรอฟ” รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ร่วมประชุม แต่คาดว่าลาฟรอฟอาจเดินออกจากการประชุมผู้นำ G20 ในครั้งนี้ หลังจากที่เขาเคยวอล์คเอาท์มาก่อนหน้านี้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G20 และรัฐมนตรีของชาติตะวันตกก็ได้เคยเดินออกจากการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ขณะที่ตัวแทนจากรัสเซียกล่าวแถลงการณ์ด้วยเหมือนกัน

รัฐมนตรีหลายคนที่เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G20 แสดงความไม่พอใจรัสเซีย โดยระบุว่า การที่รัสเซียโจมตียูเครนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในประเทศต่างๆ ขณะที่ลาฟรอฟกล่าวปฏิเสธในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับกล่าวว่า การที่ชาติต่างๆประกาศคว่ำบาตรรัสเซียถือเป็นการประกาศสงครามต่อรัสเซีย

นอกจากนี้  ยังมีรายงานว่า การประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ซึ่งจัดขึ้นที่อินโดนีเซียในครั้งนี้ จะไม่มีการถ่ายรูปหมู่ของบรรดาผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมแต่อย่างใด เนื่องจากผู้นำของหลายชาติต่างแสดงความไม่สบายใจที่ต้องถ่ายรูปหมู่ร่วมกับนายลาฟรอฟ รวมทั้งจะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมเช่นกัน