โฆษก กต. ชี้ “วาทกรรมนาโต2” บิดเบือนข้อเท็จจริง

โฆษก กต. ชี้ “วาทกรรมนาโต2” บิดเบือนข้อเท็จจริง

"ธานี แสงรัตน์" ยืนยัน ไทยมีความสัมพันธ์ดีทุกประเทศ ทั้งจีน รัสเซีย สหรัฐ อิหร่าน ย้ำ ไทยมีเพียงความร่วมมือทวิภาคีด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศ และไม่ได้เป็นภาคีความร่วมมือทางทหารที่มีเป้าประสงค์ในการป้องกันร่วมกัน ชี้ วาทกรรมนาโต2 บิดเบือนข้อเท็จจริง

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการเสนอความเห็นว่า การดำเนินการนโยบายการต่างประเทศและการดำเนินการบางประการของรัฐบาลไทยทำให้มิตรประเทศ เช่น จีน รัสเซีย และอิหร่านเกิดความไม่สบายใจ เนื่องจากเอนเอียงไปทางสหรัฐ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “นาโต2”

นายธานี เน้นย้ำว่า ไทยมีเพียงความร่วมมือทวิภาคีด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศเท่านั้น และไม่ได้เป็นภาคีความร่วมมือทางทหารที่มีเป้าประสงค์ในการป้องกันร่วมกัน (collective defence) ซึ่งถือว่าการรุกรานประเทศหนึ่งเป็นการรุกรานทุกประเทศที่เป็นภาคีในสนธิสัญญาดังเช่นสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) วาทกรรมเรื่องนาโต2 จึงไม่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง

สำหรับเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์นั้น สหรัฐจัดทำขึ้นฝ่ายเดียวเพื่อเป็นแนวทางของการดำเนินนโยบายของสหรัฐกับแต่ละภูมิภาค ไม่ใช่ความตกลงกับประเทศใดทั้งสิ้น ส่วนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและครอบคลุม และเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 4 เสาความร่วมมือ ได้แก่

1.การค้า

2.ห่วงโซ่อุปทาน

3.พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และโครงสร้างพื้นฐาน

4.ภาษีและการต่อต้านการทุจริต โดยไม่มีการลงนามและไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่จะทำให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ไทยดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่สมดุลกับมิตรประเทศตลอดมา โดยยึดความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลายประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ที่ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคโดยการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ สนธิสัญญา TAC มีอัครภาคีรวมทั้งสิ้น 40 ประเทศ รวมถึงสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 5 ประเทศ 

“ไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นราบรื่นทั้งกับจีนและสหรัฐ” นายธานีกล่าวย้ำ และระบุว่า ดังเห็นได้จากการเยือนระดับสูงกับทั้งจีนและสหรัฐ เช่น เมื่อ1 - 2  เมษายนนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือน ที่เมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย ตามคำเชิญของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน โดยนำคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจของไทยร่วมคณะเดินทางด้วยเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน และขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง

รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่าง EEC กับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจแนวหน้าของจีนและมีมณฑลอานฮุยเป็นสมาชิก และหารือถึงผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค (แม่โขง-ล้านช้าง) และภูมิภาค (อาเซียน-จีน) และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน และเมื่อ 12 - 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ที่สหรัฐ เพื่อฉลอง 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ โดยผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคหลังโควิด-19 

ส่วนรายงานที่ว่า มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของบุคคลสัญชาติอิหร่าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยได้ยืนยันแล้วว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

นายธานี ยืนยันว่าความสัมพันธ์ไทยกับอิหร่านเป็นความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่ดี ฝ่ายอิหร่านพร้อมให้ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและส่งเสริมความปลอดภัยในประเทศของไทย

ทั้งสองประเทศได้ดำเนินความสัมพันธ์อย่างราบรื่นมาตลอดโดยรักษาความสมดุลของการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับขั้วอำนาจในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือกับอิหร่านในด้านที่สร้างสรรค์ อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีนาโน การศึกษา และการท่องเที่ยว