กต. แจงกระแสไทย-สหรัฐเซ็นข้อตกลง โยงศึกรัสเซียกับยูเครน

กต. แจงกระแสไทย-สหรัฐเซ็นข้อตกลง โยงศึกรัสเซียกับยูเครน

โฆษก กต. ชี้แจงกรณีไทยทำความตกลงสหรัฐ ในการจัดทำเรื่องเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ย้ำไทยรักษาความเป็นกลาง และการรักษามิตรภาพการเป็นมิตรกับทุกประเทศ บนพื้นฐานการเคารพกฎกติกาสากล

นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่มีการเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยไปทำความตกลงกับสหรัฐ ในการจัดทำเรื่องเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐ และกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่า

1.เอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ที่จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว (unilaterally) เพื่อเป็นแนวทางของการดำเนินนโยบายของสหรัฐ กับแต่ละภูมิภาค และมีการปรับทุกปี โดยเป็นเอกสารที่หลายหน่วยงานของสหรัฐ ช่วยกันประมวลทำขึ้นมาเองไม่ใช่ความตกลงกับประเทศใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ประเทศไทยและรัฐบาลไทยจึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารฉบับนี้ ไม่มีหน่วยงานใดของไทยลงนามรับรองหรือรับรู้เอกสารฉบับนี้ หรือไปตกลงว่าจะร่วมมือกับสหรัฐ ในการดำเนินนโยบายของสหรัฐ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกแต่อย่างใด

2.ในส่วนของเอกสารที่เป็นข่าวว่ามีการจัดทำร่วมกันระหว่างสองฝ่าย ไทยและสหรัฐ นั้น เอกสารนั้นการแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างไทยกับสหรัฐ (ค.ศ. 2020) ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ (Joint Vision Statement 2020 for the Thai – U.S. Defense Alliance) ซึ่ง นรม.ในฐานะ รมว.กห.ได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2562 ร่วมกับนาย Mark Esper รมว.กห. สหรัฐ ในขณะนั้น โดยเป็นเพียงการแสดงวิสัยทัศน์ร่วมย้ำความเป็นพันธมิตรและเสริมสร้างความสัมพันธ์ และเป็นแนวทางความร่วมมือระหว่าง กห.ทั้งสองฝ่าย ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ที่จะมีขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะไม่ได้เป็นสัญญาหรือความตกลงในรูปแบบใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ การจัดทำเอกสารแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ ได้ทำตามกระบวนการขั้นตอนตามปกติและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการประชาสัมพันธ์การลงนามต่อสาธารณชนผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ อย่างเปิดเผยด้วย

3. การออกเสียงที่สหประชาชาติกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ของไทยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเอกราชและอธิปไตยของไทย มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความเป็นกลาง และการรักษามิตรภาพการเป็นมิตรกับทุกประเทศและผลประโยชน์ร่วมกันกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎกติกาสากล เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของโลก ไม่ใช่เป็นการออกเสียงเพื่อเอาใจประเทศอื่นใดหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศใด ไทยเคารพกฎกติการะหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยของทุกประเทศเท่าเทียมกัน ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ว่าเป็นสิ่งที่จะละเมิดมิได้ ซึ่งกฏกติกาดังกล่าวก็มีความสำคัญยิ่งกับประเทศไทยเช่นกัน การออกเสียงของไทยบนพื้นฐานนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น สมควรและรอบคอบ

4. รัฐบาลไทยตระหนักดีว่ามีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของชาติไว้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่ใช่ด้วยการเป็นศัตรูกับประเทศอื่น หรือยอมไปอยู่ในอาณัติของประเทศใด แต่การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยอยู่บนพื้นฐานของการยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะประเทศเอกราช โดยร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับการกล่าวประณามหรือไม่ประณามประเทศใดในสถานการณ์ความขัดแย้ง ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องยึดหลักและตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการสากลที่ทุกประเทศต้องเคารพเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และประเด็นที่ประเทศไทยต้องการสนับสนุนยิ่งและเน้นย้ำตลอดมาคือ ขอให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการเจรจาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่กรณีมีทางออก เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งไม่เคยมีผู้ชนะ มีแต่ผู้แพ้ และผู้ที่แพ้มากที่สุดก็คือประชาชน

ไทยมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับทุกประเทศที่มีส่วนร่วมและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จึงให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนของประเทศเหล่านั้น ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อน ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรม และการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้ง

5. เนื่องจากขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วกำลังประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนสำหรับไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันต่อ GDP สูงที่สุดประเทศหนึ่งก็ได้รับผลกระทบด้านพลังงาน ราคาสินค้า และเงินเฟ้อ ซึ่ง รบ.ได้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะบรรเทาผลกระทบของความขัดแย้งกับประชาชนไทยอย่างเต็มที่แล้ว และ แต่ไทยจะสามารถผ่านวิกฤตินี้ได้ด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการรักษามิตรภาพกับทุกประเทศและการสื่อสารให้ดำเนินอยู่ตลอดเวลา

6. การดำเนินนโยบายต่างประเทศจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือและความมั่นใจของนานาประเทศในความมั่นคงและความมีเอกภาพของนโยบายของไทย จึงใคร่ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน มิใช่เป็นเรื่องที่ไม่จริงแต่บอกเล่ากันต่อๆมาจนกลายเป็นข้อเท็จจริง เพราะเรื่องการต่างประเทศ เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ หากไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความเป็นเอกภาพของนโยบายของเราได้ ก็จะเป็นปัญหาของประเทศเราเอง