สื่อนอกชี้ ‘Thailand Pass’ ยุ่งยาก ฉุดท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า

สื่อนอกชี้ ‘Thailand Pass’ ยุ่งยาก ฉุดท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า

สื่อต่างประเทศรายงาน ไทยเปิดประเทศก่อนคนอื่น แต่โดนเพื่อนบ้านแซงหน้าเพราะ "Thailand Pass" (ไทยแลนด์พาส) ทำนักท่องเที่ยวสับสน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน อนาสตาเซีย โจฮันเซน ชาวนอร์เวย์ วัย 23 ปี และแฟนหนุ่มกำลังวางแผนการท่องเที่ยวทริปแรกในรอบสองปี พวกเขาเล็งมาเที่ยวเมืองไทย แต่สุดท้ายไปเวียดนามแทนเพราะกฎระเบียบเข้าประเทศง่ายกว่า

“ระเบียบเข้าไทยยุ่งยากมากสำหรับดิฉัน เราต้องจ่ายค่าตรวจพีซีอาร์ที่ไม่จำเป็น” โจฮันเซนกล่าว

รอยเตอร์ระบุว่า ไทย หนึ่งในปลายทางท่องเที่ยวโลกช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้วเมื่อปีก่อนด้วยระเบียบกักตัวไม่มาก ได้รับการยกย่องว่าเป็นโมเดลในการเปิดประเทศแต่เมื่อเพื่อนร่วมภูมิภาคผ่อนคลายระเบียบเข้าเมือง ไทยกลับติดอยู่กับกระบวนการอันยุ่งยาก

“ประเทศไหนก็ตามที่มีกระบวนการง่ายๆ ราบรื่น ไม่ซับซ้อนก็ชนะใจดิฉัน” โจฮันเซนให้ความเห็น

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวกล่าวว่า ระเบียบการเข้าเมืองอันซับซ้อนของไทยตอนนี้กำลังฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ก่อนโควิดคิดเป็น 12% ของจีดีพี

ยอดจองล่วงหน้าประจำปี 2565 ชี้ว่า ไทยทะลุ 25% ของระดับก่อนโควิด ตามหลังเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่ยอดจองล่วงหน้าอยู่ที่ 72% ฟิลิปปินส์ 65%

หลายคนกล่าวโทษว่าเป็นเพราะระบบขออนุมัติเข้าประเทศ “ไทยแลนด์พาส” (Thailand Pass) ที่ต้องใช้เวลาถึงเจ็ดวัน แม้เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะลดขั้นตอนลงก็ตาม

“ความล่าช้ากำลังฆ่าเรา ถ้าคุณอยู่สิงคโปร์แล้วอยากมาเมืองไทยช่วงสุดสัปดาห์มันไม่ง่ายเลย ซึ่งทริปสั้นๆ แบบนี้สำคัญมาก” บิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ C9 Hotelworks บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจบริการให้ความเห็น

ด้านคิรัน สตอลโลน ชาวอเมริกันผู้กำลังมาเยี่ยมครอบครัวในไทย กล่าวว่า การขอไทยแลนด์พาสจำเป็นต้องพิสูจน์ว่าฉีดวัคซีนแล้ว ทำประกันอย่างน้อย 20,000 ดอลลาร์ และจองโรงแรมที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ทั้งหมดนี้ส่งเข้าเว็บไซต์รัฐบาลไทย

“เว็บไซต์รัฐบาลเข้ายาก ดิฉันต้องขอให้คนอื่นช่วย” สตอลโลนกล่าวและว่า เธอได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงบางขั้นตอนที่เป็นสาเหตุให้การส่งเอกสารผิดพลาดทำให้การยื่นขอล่าช้า

เว็บไซต์ไม่เปิดให้ผู้ใช้เซฟเอกสารที่บันทึกค้างไว้หรือกลับไปหน้าก่อนหน้าทั้งยังไม่รับไฟล์พีดีเอฟ

ความยุ่งยากของไทยแลนด์พาส เห็นได้จาก มีการตั้งกลุ่มไทยแลนด์พาสบนเฟซบุ๊คสมาชิกมากถึง 90,000 คน เปิดให้นักเดินทางตั้งคำถามเรื่องการเปลี่ยนเที่ยวบิน ระเบียบใหม่ในการเข้าประเทศ และบางคนเข้ามาแสดงความไม่พอใจเมื่อขอไทยแลนด์พาสแล้วไม่ได้ เวทีแบบเดียวกันนี้มีในอีกหลายเว็บไซต์เช่น ทริปแอดไวเซอร์

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า ไทยเคยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทย 39.9 ล้านคน ในปี 2562 ที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีคนมาเที่ยวมากที่สุดในโลก ขณะที่สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยว 19.1 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 8.26 ล้านคน

ปีนี้ไทยตั้งเป้านักท่องเที่ยว 5-10 ล้านคน แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า ระบบไทยแลนด์พาสคืออุปสรรคที่ไม่จำเป็น

วิลเลียม ไฮเนค ประธานไมเนอร์อินเตอร์แนชันแนล นักธุรกิจโรงแรมชื่อดังกล่าวว่า ไทยแลนด์พาสทำให้ไทยแข่งขันไม่ได้ และยุ่งยากสำหรับนักเดินทางเพราะไม่มีความยืดหยุ่น

ทั้งนี้ ไทยแลนด์พาสสามารถใช้ได้หนึ่งสัปดาห์ก่อนหรือหลังวันที่ระบุ

สภาการท่องเที่ยว ก็กล่าวว่า ข้อกำหนดของระบบที่ให้แต่ละคนกรอกเอกสารทำให้บริษัททัวร์จัดกรุ๊ปยากขึ้น

ขณะที่นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า นักท่องเที่ยวมาไทยมากขึ้นเนื่องจากรัฐผ่อนคลายมาตรการและยอมรับว่าการติดเชื้อในประเทศสูงกว่าที่มาจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์รายงานอีกว่า แนวทางผ่อนคลายกฎระเบียบแบบลังเลของไทยเป็นเหตุให้เกิดความสับสนด้วย เช่น ไทยกลับมากักตัวนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้วอีกครั้งในเดือน ก.พ.เพราะโอมิครอนระบาด หลังจากเลิกไปช่วงสั้นๆ

ในช่วงนั้นนักเดินทางต้องตรวจพีซีอาร์อย่างน้อยสามครั้งคือ ก่อนออกเดินทาง, เมื่อมาถึง และวันที่ 5 ของการอยู่ในประเทศไทย พอถึงเดือนมี.ค. การตรวจครั้งสุดท้ายเปลี่ยนเป็นrapid antigen test และลดวงเงินประกันจาก 50,000 ดอลลาร์เหลือ 20,000 ดอลลาร์ เดือน เม.ย.ยกเลิกตรวจพีซีอาร์ก่อนออกเดินทาง และตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปยังต้องทำประกัน 10,000 ดอลลาร์ แต่นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องตรวจโควิดและไม่ต้องจองโรงแรมล่วงหน้า