กฎหมายแข่งขันทางการค้าและ SDGs | ภูมิภัทร - ภาณุพันธุ์  

กฎหมายแข่งขันทางการค้าและ SDGs | ภูมิภัทร - ภาณุพันธุ์   

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวโน้ม ที่จะเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป 

ในขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มอีกด้านหนึ่งที่พยายามจะผ่อนคลายกฎหมายแข่งขันทางการค้า ในส่วนที่กำกับความร่วมมือของบริษัทต่าง ๆ ในด้านนโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) 

การที่บริษัทบางบริษัทร่วมกันกระทำการอันเป็นการลดหรือผูกขาดการแข่งขัน หรือที่นิยมเรียกว่า cartel เป็นหนึ่งในการกระทำที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของทุก ๆ ประเทศควบคุมอย่างเคร่งครัด

สหภาพยุโรปก็เคยลงโทษปรับการร่วมกันจำกัดการพัฒนาเทคโนโลยีลดสิ่งเจือปนในไอเสียจากรถยนต์ เป็นมูลค่าถึงเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

สำหรับประเทศไทยนั้น มาตรา 54 และมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ก็ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใด ๆ ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทําการอันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขัน เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก

จึงเริ่มมีแนวคิดที่จะแก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า เพื่อกำหนดมาตรการให้มีข้อยกเว้นสำหรับความร่วมมือระหว่างบริษัท ที่มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ซึ่งรวมถึง นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 

กฎหมายแข่งขันทางการค้าและ SDGs | ภูมิภัทร - ภาณุพันธุ์   

นักวิชาการหลายคนตั้งคำถามว่า แนวคิดพื้นฐานของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ที่มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลักนั้นเหมาะสมหรือไม่

สหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้นำด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในยุโรปก็ได้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีร่างประกาศแก้ไขแนวปฏิบัติเกี่ยวกับข้อตกลงความร่วมมือระหว่างบริษัทที่เป็นคู่แข่งกัน หรือที่เรียกว่าความร่วมมือแบบแนวนอน (Horizontal Cooperation) และเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแนวปฏิบัติใหม่นี้ โดยกำหนดจะประกาศใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 พร้อมด้วยข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับความร่วมมือที่มีวัตถุประสงค์เพื่อความยั่งยืนโดยเฉพาะ 

นอกจากนี้ ก็ยังมีความเคลื่อนไหวที่คล้ายกันในระดับประเทศในทวีปยุโรป เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ได้มีความเคลื่อนไหว ที่จะแก้ไขกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อสร้างข้อยกเว้นสำหรับการร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการแข่งขันทางการค้าของเนเธอร์แลนด์ (The Netherlands Authority for Consumers and Markets (ACM)) ได้ให้ความเห็นว่า ความร่วมมือกันเพื่อซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมจากผู้ผลิตไฟฟ้าโดยตรงนั้น ไม่ผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศเนเธอร์แลนด์แต่อย่างใด 

แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต ประเทศเนเธอร์แลนด์เคยมีกรณีศึกษาที่มีการวิเคราะห์ประเด็นที่คล้ายกันเมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2556 ผู้ผลิตไฟฟ้าหลายรายทำข้อตกลงที่จะปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 5 โรงเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งในขณะนั้น คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ความเห็นว่า การทำข้อตกลงดังกล่าวผิดต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ด้วยเหตุผลที่ว่าการปิดโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคมากกว่า

อาจจะกล่าวได้ว่า ในการวิเคราะห์ผลดีผลเสียโดยรวมของข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบธุรกิจนั้น ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและด้านความยั่งยืนดูเหมือนจะมีน้ำหนักบนตราชั่งมากกว่าในอดีต

ในส่วนของประเทศกรีซมีแผนที่จะใช้ระบบที่มีชื่อว่า Sustainability Sandbox โดยให้บริษัทต่าง ๆ ส่งร่างแผนเกี่ยวกับโครงการเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนและยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พิจารณาล่วงหน้า 

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงวิชาการก็มีผู้ที่กล่าวถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากแนวโน้มนี้เช่นกัน นั่นก็คือ การใช้นโยบายสร้างภาพลักษณ์โดยอ้างการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ green washing

นักวิชาการส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า แทบไม่มีความจำเป็นต้องผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าเลย เพราะการแข่งขันในตลาดเสรีจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนได้ดีกว่า  

แต่ก็มีคำถามต่อมาว่าการเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันในตลาดเสรีให้ได้ผลดังกล่าวนั้น จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน

ถึงแม้ผลิตภัณฑ์หรือบริการดังกล่าวจะราคาแพงกว่าปกติ แต่ทว่าก็มีข้อโต้แย้งว่า ณ ปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้มีความคิดเช่นนั้น จึงอาจมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านความยั่งยืน

เราจึงต้องจับตามองกันต่อไปว่า แนวโน้มการผ่อนคลายกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่เกี่ยวกับความร่วมมือของบริษัทต่าง ๆ ในด้านนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสหภาพยุโรปและประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจะเป็นอย่างไรต่อไป และประเทศต่าง ๆ นอกสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศไทย จะมีความเคลื่อนไหวแบบเดียวกันนี้หรือไม่.