'กสทช.' เร่งปรับปรุงเกณฑ์ตั้งหน่วยสอบคุณภาพ รับเครื่องโทรคมนาคมยุคใหม่

กสทช. จัดประชุมการรับฟังความคิดเห็น เรื่องปรับปรุงหลักเกณฑ์ จัดตั้งหน่วยตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคมยุคใหม่ โดยเฉพาะ "โดรน" รับการขยายตัวของอุตสาหกรรมใหม่ ย่นเวลา 1 ปี จากเดิมเอกชนต้องเดินทางไปตรวจในต่างประเทศ
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านคลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิค เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้จัดประชุมการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป (ประชาพิจารณ์) ต่อการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้ จัดตั้งหน่วยตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์
เนื่องจาก ในปัจจุบันไทยยังไม่สามารถอนุญาตจัดตั้งหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 1 เช่น อุปกรณ์ เรดาร์ (Radar) ของรถยนต์ หรือ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) รวมทั้งอุปกรณ์ (ultra-wideband) รุ่นใหม่ๆ เป็นต้น ที่มีการดำเนินงานที่สอดคล้องตามข้อกำหนดซึ่งอ้างอิงจากมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือมาตรฐานที่เทียบเท่าในขอบข่ายการให้บริการทดสอบได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้เคยออกประกาศฯ ดังกล่าวตั้งแต่ 25 ธ.ค. 2563 เพื่ออนุญาตจัดตั้งหน่วยตรวจสอบที่มีหน้าที่ให้บริการด้านการทดสอบเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ตามมาตรฐานทางเทคนิคหรือข้อกำหนดทางเทคนิคที่ กสทช.กำหนด
โดยมี 2 ประเภท คือ หน่วยตรวจสอบที่ได้รับการรับรองระบบงานจากระบบ การรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบว่ามีความสามารถตามข้อกำหนดในมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือมาตรฐานที่เทียบเท่า ซึ่งเป็นหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 2 อาทิ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ PTEC และ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ หรือ EEI เป็นต้น
ปัจจุบันยังไม่สามารถอนุญาตจัดตั้งหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 1 จึงต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ จัดตั้งหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 1 ได้ เพราะหลักเกณฑ์สำหรับผู้ประเมินและคุณสมบัติของผู้ตรวจประเมินที่มีใช้ในปัจจุบันไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้
พล.อ.ท. ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า การที่ไทยไม่มีหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 1 ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถจัดตั้งหน่วยตรวจสอบประเภทนี้ในประเทศไทยได้ จึงต้องไปตรวจสอบกับหน่วยงานในต่างประเทศและใช้เวลานานเป็นปีกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์นั้น จะรวมทั้งปรับปรุงอายุใบอนุญาตจาก 3 ปี เป็น 5 ปี และเงื่อนไขต่างๆ ให้เหมาะสม
โดยการปรับปรุงก็เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งหากประกาศดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านแล้ว และสามารถประกาศใช้ได้ก็เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยมีหน่วยตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้นและสามารถอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรมนำเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ต่างๆ มายื่นจดทะเบียนและตรวจสอบเพื่อรับรองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น