ดึง ’เศรษฐา‘ หย่าศึกกสทช. ดีอีประสานเป็นกาวใจบอร์ด 2 ก๊ก

ดึง ’เศรษฐา‘ หย่าศึกกสทช. ดีอีประสานเป็นกาวใจบอร์ด 2 ก๊ก

’ดีอี‘ คุยประธานกสทช.เรื่องเอกภาพในบอร์ด หลังงานค้าง-ประชุมล่ม พร้อมดึงนายกฯ ช่วยเป็นกาวใจให้เดินหน้าทำงานได้เพื่อประโยชน์ประเทศ ล่าสุดต้อง งัดพ.ร.ก.ปราบปรามออนไลน์ฯให้ผู้ถือเบอร์เกิน 5 เลขหมายต้องยืนยันตัวใน 30 วัน เพราะรอประกาศฯกสทช.ไม่ไหว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เมื่อ 2-3 วันก่อน ตนได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรของกสทช.ทั้งการฟ้องร้อง กันภายในของบอร์ดและปัญหาประชุมล่มบ่อยครั้งจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ซึ่งตนอยากขอให้บอร์ดกสทช.คำนึงถึงเรื่องที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภัยไซเบอร์ ที่ต้องยอมรับว่าอยู่ในภาวะวิกฤต

"ผมบอกกับประธานกสทช.ว่า ต้องการเรียกบอร์ดทั้ง 2 ฝ่ายมาเปิดอกคุยกัน และก็ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน รับทราบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะที่ผ่านมาการทำงานไร้เอกภาพและมีหลายเรื่องรอผ่านมติบอร์ดแต่ก็ล่าช้าออกไป และนายกฯก็พร้อมจะเป็นตัวกลางเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น"

รมว.ดีอี กล่าวว่า ปัญหาความขาดเอกภาพของบอร์ดส่งผลเรื่องการอยู่การออกประกาศบังคับผู้ครอบครองซิมการ์ดจำนวนมากลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่อตัดปัญหาซิมผี ที่เป็นเครื่องมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชน เพราะนายกรัฐมนตรีก็กำชับและให้จัดการอย่างด่วนที่สุด แต่ประกาศฯดังกล่าวต้องรอเข้าบอร์ดกสทช.ทั้งๆที่เร่งด่วนมาก แต่เท่าที่รับแจ้งก็พบว่าการประชุม 2-3 ครั้งล่าสุดก็ล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้เกิดการทอดเวลาออกไป เพราะเมื่อผ่านบอร์ดก็ต้องไปจัดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) อีก 45 วัน กว่าประกาศฯจะมีผลบังคับใช้ และยิ่งขณะนี้วาระยังไม่มีเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.เลย จึงไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไร

ดังนั้น เพื่อจัดการผู้ต้องสงสัยผู้เข้าข่ายหลอกลวงโดยเฉพาะเบอร์ที่มีการโทรออก 100 ครั้งต่อวัน ให้ถือเป็นการกระทำที่ต้องสงสัยตาม มาตรา 4 พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ระงับการใช้งานทันที โดยมีผลวานนี้ (12 ธ.ค.2566) 

นอกจากนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ยังมีอำนาจให้ผู้ถือครองเบอร์โทรศัพท์มือถือตั้งแต่ 5 เบอร์ขึ้นไป ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย ขณะนี้พบว่ามีจำนวน 6 ล้านเลขหมายที่ขึ้นทะเบียนแบบไม่ถูกต้องเข้าข่ายผิดกฎหมาย ดังนั้นต้องมายืนยันตัวตนภายในวันที่ 11 ม.ค. 2567 หากไม่มาดำเนินการจะถูกระงับการโทรออก และให้รับสายได้อย่างเดียว

ซึ่งการที่ดีอีบังคับใช้พ.ร.ก.นี้ ก็เพราะให้โอกาสบอร์ดกสทช.แล้ว แต่ก็ไม่สามารถดำเนินเรื่องดังกล่าวได้เลย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ถือครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือ จำนวน 64.8 ล้านคน คิดเป็น 94.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ผู้ครอบครองซิมการ์ด 1-5 เลขหมาย มีจำนวน 64.5 ล้านคน ซิมการ์ดจำนวน 85.1 ล้านเลขหมาย ผู้ครอบครอง 6-100 เลขหมาย จำนวน 2.8 แสนราย จำนวนซิมการ์ด 3.3 ล้านเลขหมาย ผู้ครอบครองมากว่า 101 เลขหมาย จำนวน 7,664 คน ซิมการ์ดจำนวน 6.1 ล้านเลขหมาย

สำหรับการประชุมบอร์ดกสทช. ที่ผ่านมาล่มแล้ว 6 ครั้ง

ครั้งที่ 1 วันที่ 5 ก.ค. 2566 ครั้งที่ 2 วันที่ 4 ต.ค. 2566 ครั้งที่ 3 วันที่ 3 พ.ย. 2566 ครั้งที่ 4 คือวันที่ 17 พ.ย. 2566 ครั้งที่ 5 วันที่ 28 พ.ย. 2566 และครั้งล่าสุด ครั้งที่ 6 วันที่ 7 ธ.ค 2566 โดยปกติการประชุมบอร์ดกสทช.จะมีประธานกสทช. พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ เข้ามาประชุมในเวลา 9.30 น. จากนั้นเมื่อขาดเสียงข้างมาก 4 คนได้แก่พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นายศุภัช ศุภชลาศัย น.ส.พิรงรอง รามสูต และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ไม่เข้าประชุมเนื่องด้วยติดภารกิจอื่น จึงทำให้องค์ประชุมไม่ครบและเมื่อครบ 30 นาที จากนั้นจึงปิดประชุมในเวลา 10.00 น. ซึ่งกลับกลายเป็นเรื่องที่ชาชินกับผู้บริหารในสำนักงาน กสทช. และพนักงานกสทช.ไปแล้ว และในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไปคือวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ซึ่งต้องมาจับตาดูว่าการประชุมจะล่มอีกหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงาน ล่าสุดสำนักงาน กสทช.ลงชื่อเซ็นคำสั่งโดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช.ลงหนังสือด่วนที่สุด ระบุว่า เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงาน กสทช. จึงขอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามมาตรการดังกล่าว ดังนี้

1.ตรวจสอบเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการประเภทบุคคลธรรมดาแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (Prepaid) ที่มีการใช้งานปริมาณมาก กล่าวคือ โทรออกมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2566 ธันวาคมและดำเนินการระงับบริการเลขหมายดังกล่าวโดยมีผลทันที โดยผู้ใช้บริการจะต้องรายงานตนพร้อมข้อมูลหลักฐานประกอบกรณีเป็นการใข้งานโดยสุจริตต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใน 15 วันเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ

หากผู้ใช้บริการมีได้รายงานตนภายในระยะเวลาดังกล่าวจะต้องถูกยกเลิกบริการต่อไป และแจ้งผู้ใช้บริการประเภทบุคคลธรรมดาที่มีการลงทะเบียนใช้ซิมการ์ดมากกว่า 5 เลขหมายขึ้นไปต่อหนึ่งผู้ให้บริการ ให้มารายงานตนต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใน 30 วันนับถัดจากวันที่แถลงข่าว (ครบกำหนดในวันที่ 11 ม.ค. 2567 ) หากผู้ใช้บริการมิได้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องถูกระงับบริการต่อไปจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งนี้ การระงับบริการและยกเลิกบริการเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง