กฎหมายใหม่ กำกับธุรกิจแพลตฟอร์ม คุ้มครองผู้ใช้บริการ

กฎหมายใหม่ กำกับธุรกิจแพลตฟอร์ม คุ้มครองผู้ใช้บริการ

ตลาดดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศไทย มีมูลค่าตลาดของธุรกิจแพลตฟอร์มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะตลาด e-Commerce มีมูลค่าสูงถึง 21.41 ล้านล้านบาท ซึ่งนำมาพร้อมโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้นและอาชีพใหม่ๆ

แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มจำนวนมาก ย่อมทำให้การกระจายของข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ เช่น การหลอกลวงผู้บริโภค หลอกให้โอนเงิน หลอกให้กู้เงินทางออนไลน์ เป็นต้น

สถิติจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าในช่วง 1 - 21 มี.ค.66 มีคดีอาชญากรรมออนไลน์สะสมเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม ถึง 224,001 คดี ขณะที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขาดแรงจูงใจในการจัดการ ทั้งการติดตาม การนำข้อความเป็นเท็จออก หรือการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ขณะที่ผลสำรวจของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า ผู้ซื้อและผู้ขายของในตลาดออนไลน์ในไทย กระจุกตัวอยู่ในแพลตฟอร์มขนาดใหญ่อย่าง Facebook Lazada และ Shopee โดยผู้ซื้อของออนไลน์ของไทยกว่าครึ่งตอบว่าใช้บริการผ่าน Lazada หรือ Shopee ในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง

ขณะที่แพลตฟอร์มที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารในไทย มีบริษัทเจ้าตลาดอย่างชัดเจน คือ Grab และ Bolt ที่กินส่วนแบ่งส่วนมากในตลาด

ธุรกิจแพลตฟอร์ม จึงมีแนวโน้มที่จะผูกขาดตลาดสูง และทำให้แพลตฟอร์มมีอำนาจในการต่อรองสูงตามไปด้วย 

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังถือครองข้อมูลผู้ใช้จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในหลายลักษณะที่อาจกระทบผู้บริโภค 

เช่น การใช้ข้อมูลเพื่อกำหนดราคาเฉพาะของผู้ใช้แต่ละกลุ่ม (discriminatory pricing) การกำหนดราคาเฉพาะบุคคล (personalized pricing) การนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อเลือกปล่อยสินค้า บริการ หรือโฆษณาที่ผู้ใช้รายดังกล่าวมีแนวโน้มจะสนใจ เป็นต้น

ในหลายประเทศจึงตรากฎหมายเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์ม เช่น สหภาพยุโรปมี Digital Service Act (DSA) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคบนแพลตฟอร์ม และ Digital Market Act (DMA) เพื่อกำกับการแข่งขันบนและระหว่างแพลตฟอร์ม

กฎหมายใหม่ กำกับธุรกิจแพลตฟอร์ม คุ้มครองผู้ใช้บริการ

กฎหมายกำกับดูแลแพลตฟอร์มฉบับใหม่

ปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มบังคับใช้ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565  เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแลแพลตฟอร์มและคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยมี ETDA เป็นหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มตามขนาดของธุรกิจ ดังนี้

1. บริการแพลตฟอร์มทั่วไป คือผู้ให้บริการ ประเภทบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในประเทศ เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือเป็นนิติบุคคลที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี หรือมีผู้ใช้บริการในประเทศเฉลี่ยต่อเดือน (AMAU) เกินกว่า 5,000 คน

มีหน้าที่ต้องแจ้งรายการข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดต่อ ETDA ก่อนเริ่มธุรกิจ และอัพเดทข้อมูลนั้นทุกปี เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนบนแพลตฟอร์ม

2. บริการแพลตฟอร์มขนาดเล็ก คือกรณีไม่เข้าเงื่อนไขแพลตฟอร์มทั่วไป มีหน้าที่แจ้งข้อมูลแก่ ETDA ก่อนเริ่มธุรกิจเช่นกัน แต่มีรายการข้อมูลน้อยกว่า

3. บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางเสนอสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่คิดค่าบริการการใช้แพลตฟอร์ม และบริการแพลตฟอร์ม Search engine มีหน้าที่เพิ่มเติมต้องแจ้ง Terms and conditions ให้แก่ผู้ใช้บริการทราบก่อนหรือขณะใช้บริการในเรื่องที่กฎหมายกำหนดเป็นอย่างน้อย เช่น เงื่อนไขการคิดค่าบริการ การเข้าถึงและการใช้ข้อมูลที่แพลตฟอร์มได้รับจากการให้บริการ

กฎหมายใหม่ กำกับธุรกิจแพลตฟอร์ม คุ้มครองผู้ใช้บริการ

4. บริการแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงสูง อย่าง

(1) แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีจากการให้บริการแต่ละประเภทในประเทศเกินกว่า 300 ล้านบาท หรือจากการให้บริการทุกประเภทในประเทศรวมกันเกินกว่า 1,000 ล้านบาท หรือเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บริการในประเทศโดยเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

(2) แพลตฟอร์มที่มีลักษณะเฉพาะ และ

(3) แพลตฟอร์มที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

มีหน้าที่เพิ่มเติมต้องประเมินความเสี่ยงและให้มีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ยังมีหน้าที่เพิ่มเติม ต้องจัดทำมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ ต้องมีการจัดการภาวะวิกฤติ แต่งตั้ง Compliance officer และต้องมีผู้ตรวจประเมินภายนอกด้วย

พ.ร.ฎ.ฯ ฉบับนี้สอดคล้องกับแนวคิดของสหภาพยุโรป ที่มุ่งเน้นการปรับสมดุลความรับผิดชอบในระบบนิเวศออนไลน์ตามขนาดของผู้เล่น

ทำให้มั่นใจได้ว่าต้นทุนด้านกฎระเบียบ (Regulatory costs) ของกฎเกณฑ์เหล่านี้จะได้สัดส่วนสำหรับผู้เล่นทุกขนาด ทั้งการกำหนดหน้าที่เพิ่มเติมด้านความโปร่งใสให้แก่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกใหม่ภายใต้ DSA นั้น ยังน่าสนใจและแตกต่างจากหลายประเทศ

กฎหมายใหม่ กำกับธุรกิจแพลตฟอร์ม คุ้มครองผู้ใช้บริการ

เนื่องจากเป็นการหันมาเน้นที่กระบวนการ (process-based approach) เพิ่มขึ้น จากเดิมที่สหภาพยุโรปเคยมุ่งเน้นที่การกลั่นกรองเนื้อหา  แล้วพบว่ากระบวนการแบบเดิมนั้น ทำให้ผู้ให้บริการจะใช้ระบบอัตโนมัติกลั่นกรองและปิดกั้นเนื้อหา จนเกิดกรณีการดำเนินการที่ตึงหรือหย่อนเกินจริง และทำให้ผู้ใช้บริการเสียหาย

ทั้งยังส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงอำนาจของแพลตฟอร์มในการกำหนดขอบเขตระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความเห็นในลักษณะที่ผิด เช่น hate speech อีกด้วย

กลไกกฎหมายใหม่ที่ต้องจับตามอง

เนื่องจาก พ.ร.ฎ.ฯ ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถกำหนดกลไกกำกับดูแลแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมเพียงพอ ทำให้ปัจจุบัน สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ได้รับมอบหมายร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ

ในการศึกษาและยกร่าง “พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” เพื่อปิดช่องว่างการกำกับดูแลทั้งประเด็นคุ้มครองผู้บริโภค และให้มีเนื้อหาครอบคลุมการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของธุรกิจแพลตฟอร์มด้วย

หลักการของร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุถึงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มเติมจาก พ.ร.ฎ.ฯ และสอดคล้องกับ DSA เพิ่มขึ้น อาทิ เรื่อง Whistleblower reporting ที่ผู้ให้บริการต้องมีระบบให้ผู้ใช้หรือหน่วยงาน แจ้งการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ตรงตามข้อตกลงการใช้บริการที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มได้

กฎหมายใหม่ กำกับธุรกิจแพลตฟอร์ม คุ้มครองผู้ใช้บริการ

และผู้ให้บริการต้องลบหรือปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่ผิดกฎหมายเมื่อได้รับแจ้ง พร้อมต้องให้เหตุผลในการดำเนินการนั้นต่อผู้ได้รับผลกระทบด้วย รวมถึงเรื่องผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด (Trusted Flagger) ที่หน่วยงานกำกับดูแลจะเป็นผู้ให้การรับรอง

และผู้ให้บริการต้องให้ความร่วมมือกับ Trusted Flagger เช่น จัดให้มีช่องทางพิเศษสำหรับรับแจ้งข้อมูล และให้สิทธิมีสัญลักษณ์พิเศษเพื่อแสดงตัวบนแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ยังได้ระบุถึงมาตรการกำกับการแข่งขันทางการค้าที่สอดคล้องกับ DMA ไว้ด้วย เช่น กำหนดให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้ประกาศหลักเกณฑ์การกำหนดแพลตฟอร์มที่มีอำนาจควบคุม รวมถึงกำหนดแนวทางกำกับดูแลการแข่งขันในเชิงป้องกัน ที่เป็นการกำหนดพฤติกรรมที่ควร

และห้ามกระทำสำหรับแพลตฟอร์มที่มีอำนาจควบคุมด้วย เช่น ห้ามกีดกันผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มไปให้บริการหรือขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอื่น ห้ามกีดกันผู้ประกอบการตกลงซื้อขายสินค้าหรือบริการกับผู้บริโภคนอกแพลตฟอร์ม

พัฒนาการด้านการตรากฎระเบียบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปว่าเครื่องมือเหล่านี้ที่ถูกนำมาบังคับใช้แล้ว รวมถึงกลไกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จะสามารถบรรลุเป้าหมายของการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยมากน้อยเพียงใด

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการแพลตฟอร์มเองก็ต้องเตรียมพร้อมทั้งด้านนโยบาย บุคลากร ตลอดจนปรับปรุงกลยุทธ์การจัดเก็บข้อมูลและการจัดการของตนต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วโดยถูกต้องและครอบคลุม.