1 ปีสภาองค์กรของผู้บริโภค : ทุกข์อันดับหนึ่งผู้บริโภค"หลอกให้โอนเงิน"

1 ปีสภาองค์กรของผู้บริโภค : ทุกข์อันดับหนึ่งผู้บริโภค"หลอกให้โอนเงิน"

8,000 เรื่องที่“สภาองค์กรของผู้บริโภค”แก้ปัญหาให้ผู้บริโภครายบุคคลที่โดนหลอกในหนึ่งปีที่ผ่านมา หนักสุดโดนหลอกเรื่องการเงินและการลงทุน รองลงมาก็พวกสินค้าและบริการ

ในการแถลงข่าว ก้าวต่อไปของสภาองค์กรของผู้บริโภค เสียงสะท้อนเรื่อง “ทุกข์ของผู้บริโภค” จากปัญหาทั่วทุกสาระทิศในประเทศ ในการประชุมสามัญประจำปีที่จัดในโอกาสเดียวกัน รวมทั้งการผลักดันแก้ไขทุกข์สาธารณะตั้งแต่สินค้ารถยนต์ส่วนบุคคลราคาหลายล้าน ไปจนถึงการต่อรองบริการมูลค่าที่ต่างกันเพียง 15 บาท

ที่ผ่านมาเป็นการทำงานเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ภายใต้ พรบ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พศ.2562 ได้ขยายศักยภาพจากการเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศ ไปสู่อำนาจทางกฏหมาย

หนึ่งปีที่ผ่านมา ได้ทำการแก้ปัญหาผู้บริโภครายบุคคลกว่า 8,000 เรื่อง โดยนำเรื่องที่เป็นทุกข์ซ้ำซากของผู้บริโภคเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ กสทช. รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ให้แก้ไขเชิงนโยบายที่จะสามารถปลดล๊อค อุปสรรคต่อผู้บริโภคได้ครั้งละหลายสิบล้านคน 

ปัญหาใหญ่ผู้บริโภค โดนหลอกเรื่องเงิน

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มีสภาองค์ของผู้บริโภคเกิดขึ้น 

ซึ่งปีที่ผ่านมา สภาฯ ทำหน้าที่ดังนี้

ข้อแรกคือ “เพิ่มพลัง” ให้ผู้บริโภคแก้ไขปัญหาของตนเอง มีสมาชิกแล้ว 39 จังหวัด ซึ่งเป้าหมายคือ การมีสมาชิกในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เรามีหน่วยงานประจำจังหวัด 13 จังหวัด เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ และพิทักษ์สิทธิ์ให้กับคนทุกกลุ่ม 

ข้อที่สอง คือทำหน้าที่ลดความซ้ำซ้อนซ้ำซากปัญหาที่ผู้บริโภคพบเจอ โดยสภาฯ ทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การถูกหลอกจากแก๊งคอลเซนเตอร์

ข้อที่สาม การทำรายงานประชาชน จัดทำรายงานปัญหาผู้บริโภคไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น เรื่องพลังงาน การศึกษา เป็นต้น

“วันนี้มีเรื่องร้องเรียนมาที่สภาฯ ตัวเลข ณ เดือนกุมภาพันธ์ไม่ต่ำกว่า 5,300 เรื่อง อันดับ 1 คือเรื่องการเงินการธนาคาร การถูกหลอก อันดับ 2 เรื่องสินค้าและบริการ” สุภาพร ให้ข้อมูล และยืนยันว่า 

"ไม่ได้ทำให้ใครเสียผลประโยชน์ เราพยายามสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดี"

สารพัดเรื่องที่ผู้บริโภคถูกหลอก

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากตัวแทนผู้บริโภค มีการยกตัวอย่างกรณีประสบปัญหาจากการถูกหลอกขายคอร์สสุขภาพ ในโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค ช่วยทำหนังสือยกเลิกคอร์ส และช่วยเจรจาขอคืนเงิน จนได้เงินคืนเต็มจำนวน และกรณีของ “กอล์ฟ” เบญจพล เชยอรุณ นักแสดง บอกเล่าประสบการณ์จากการซื้อรถยนต์ป้ายแดง ที่เจอปัญหาระบบไฟ เกียร์ หลังใช้มาแค่ 1 สัปดาห์

“ผมซื้อรถก็ต้องการของใหม่ ไม่ต้องการรถที่มีปัญหา ผมพยายามติดต่อบริษัทขอเปลี่ยนคันใหม่ แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยง จึงติดต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคช่วยเจรจา จนได้เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ หากไม่มีองค์กรกลางมาช่วย ทำด้วยตนเองอาจไม่สำเร็จ ฉะนั้น อยากจะบอกว่า ผู้บริโภคมีโอกาสโดนเอารัดเอาเปรียบทุกวัน อย่ามองข้าม เรื่องการรู้สิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญ”

หนึ่งปีที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 273 องค์กร โดยยึดโยงกับสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคไทยเป็นที่ตั้ง  ไม่เว้นแม้กระทั่งปัญหารถไฟฟ้าสีเขียว

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังคงเดินหน้าต่อ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ใช้รถไฟฟ้าสาธารณะได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาสูงสุดต่อเที่ยว ที่ 44 บาท ที่ต่างจากราคาที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งไว้ที่ 59 บาท เพียง 15 บาท ที่กำลังเป็นกระแสข่าวร้อน ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป

โดยสารีอธิบายว่า ได้แบ่งเป็น 2 จังหวะ คือ ขอให้พิจารณาราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ในราคา 44 บาทก่อนหมดสัมปทานปี 2572

“ข้อเสนอหลังหมดสัญญาสัมปทาน สามารถทำค่าโดยสารในราคา 25 บาทได้ ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมที่ประชาชนทุกคนใช้รถไฟฟ้าได้ทุกวัน

เรามั่นใจ 25 บาทที่เสนอผู้ว่าฯ ทำได้จริง ขณะที่การจ้างเดินรถเกินสัญญาสัมปทานถึงปี 2585 หรือ อีก 13 ปี นั้น เสนอให้ผู้ว่าฯ จะแก้สัญญามรดกบาปนี้ได้หรือไม่  รวมถึงการนำตั๋วเดินกลับมาใช้ และดูราคาที่ผู้ประกอบการจะกำหนดในอนาคตด้วย”