ปัจจัยความสำเร็จ สวนทุเรียนยุคใหม่ ทดลอง ศึกษา ใช้เทคโนโลยี สู้ทุกสภาพอากาศ

ปัจจัยความสำเร็จ สวนทุเรียนยุคใหม่  ทดลอง ศึกษา ใช้เทคโนโลยี สู้ทุกสภาพอากาศ

ประสบการณ์ทำสวนทุเรียนมานานกว่า 30 ปี ทำให้นายสุเทพ นพพันธ์ เจ้าของสวนทุเรียนนวลทองจันท์ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เกิดการเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรม สามารถจัดการทุเรียนที่มีคุณภาพ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภาพภูมิอากาศ ทำรายได้ กว่า 27 ล้านบาท ต่อปี

KEY

POINTS

  • วางแผนการจัดการทุเรียนในสวนให้ผลผลิตออกสู่ตลาดรุ่นแรก ๆ ของฤดูกาล  เพราะจะได้ผลผลิตที่ราคาดี 
  • การวางระบบน้ำในแปลง ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ
  • ผลผลิตทุเรียนคุณภาพจากสวนนวลทองจันท์ สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 27 ล้านบาทต่อปี

จากปัญหาสู่การแก้ไขปรับตัวให้เท่าทันสภาวการณ์ ทั้งอุณหภูมิ แสง น้ำ ความชื้นสัมพัทธ์ โครงสร้างดิน และแร่ธาตุอาหาร ช่วงจังหวะการจัดการกับ ลำต้น ใบ ดอก ผล หนาม จึงต้องมีความสอดคล้องพอดี เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่

ซึ่งต้องนำดินไปตรวจวิเคราะห์เพื่อเลือกใช้ปุ๋ย และปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมตามความต้องการของพืช มีการ เตรียมพันธุ์โดยเลือกใช้ต้นตอที่ต้านทานโรคจากการนำเมล็ดทุเรียนป่ามาทำต้นตอ

 

 

ปัจจัยความสำเร็จ สวนทุเรียนยุคใหม่  ทดลอง ศึกษา ใช้เทคโนโลยี สู้ทุกสภาพอากาศ ปัจจัยความสำเร็จ สวนทุเรียนยุคใหม่  ทดลอง ศึกษา ใช้เทคโนโลยี สู้ทุกสภาพอากาศ

 

ใช้องค์ความรู้ผลิตทุเรียนคุณภาพ

 

สวนทุเรียนนวลทองจันท์ มีการวางแผนการจัดการทุเรียนในสวนให้ผลผลิตออกสู่ตลาดรุ่นแรก ๆ ของฤดูกาล เพราะจะได้ผลผลิตที่ราคาดีออกมาจำหน่ายก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงกระจุกตัว และใช้เทคโนโลยีในการผลิตทุเรียนคุณภาพตามหลักมาตรฐานการเกษตรที่ดีและเหมาะสมสำหรับพืช (GAP) การดูแลรักษาต้นทุเรียนระยะก่อนให้ผลผลิต (อายุ 1 - 4 ปี) ใช้วิธีให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ ดูแลตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่มเมื่อต้นทุเรียนอายุได้ 6 เดือน มีการป้องกันกำจัดโรคและแมลง หมั่นสำรวจการเข้าทำลายใบทุเรียนของศัตรูพืชที่สำคัญ เช่น

เพลี้ยไฟ หนอน เพลี้ยจักจั่น เพื่อเลือกใช้วิธีการกำจัดที่ถูกต้องเหมาะสม มีการดูแลรักษาต้นทุเรียนในแต่ละระยะ เป็นต้นว่า ระยะให้ผลผลิต ช่วงระยะชักนำการออกดอก ใส่ปุ๋ยมูลวัวเพื่อบำรุงต้นให้สมบูรณ์ เมื่อต้นทุเรียนมีการแตกใบครบ 3 ชุด จึงใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8 - 24 - 24 อัตรา 3 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อกระตุ้นการออกดอก ระยะออกดอกติดผลและการพัฒนาของผล

มีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช การใช้ Air Blast เป่าลมช่วยการผสมเกสรช่วงหัวค่ำ จนถึงการเก็บเกี่ยวเมื่อทุเรียนอายุได้ตามกำหนด ใช้การจ้างแรงงานที่มีความชำนาญตัด และรับทุเรียนด้วยกระสอบป่าน แล้วใส่ผลผลิตในเข่ง หลีกเลี่ยงให้ผลทุเรียนสัมผัสดินหรือหญ้าในแปลง เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรค และอาจจะแสดงอาการเมื่อส่งผลผลิตไปจำหน่ายยังปลายทาง

 

ทดลอง ศึกษา เทคโนโลยีใหม่ ๆ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

 

การไม่หยุดยั้งที่จะเรียนรู้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สวนทุเรียนนวลทองจันท์กลายเป็นสวนทุเรียนคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องการวางระบบน้ำในแปลง ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในสวนในปีนี้ไม่รุนแรงเท่ากับสวนอื่นทั่วไปที่ไม่มีระบบการจัดการน้ำที่ดี

โดยคุณสุเทพได้ออกแบบระบบน้ำในสวนทุเรียนเพื่อลดแรงงาน ลดต้นทุน รองรับเทคโนโลยี และนวัตกรรมยุคใหม่ แนะนำจุดคุ้มทุนต้องใช้พื้นที่ปลูกอย่างน้อย 50 ไร่ เลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม มีพื้นที่ของแหล่งน้ำอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนและสำรองน้ำไว้ใช้ในแปลง

ทำการปรับพื้นที่ก่อนวางระบบน้ำให้ราบเรียบ กำหนดระยะปลูก 10 เมตร x 10 เมตร ใช้ต้นพันธุ์ทุเรียน 16 ต้นต่อไร่ ยกโคกสูง 60 - 80 เซนติเมตร กว้าง 7 เมตร ข้างละ 3.5 เมตร วางระบบน้ำห่างจากโคนต้น 2 เมตร และทางวิ่ง ระยะ 3 เมตร เพื่อให้เครื่องจักรกลทางการเกษตรสามารถเข้าได้ทุกทาง

 

ทดลองและศึกษาการปลูกทุเรียนต้นเดี่ยว ต้นคู่ ด้วยตนเอง ในด้านปริมาณผลผลิต คุณภาพ และต้นทุน จากการทดสอบพบว่าการปลูกแบบต้นเดี่ยวและแบบต้นคู่มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน การปลูกแบบต้นคู่จะให้ผลผลิตมากกว่าการปลูกแบบต้นเดี่ยวในช่วงให้ผลผลิต 5 - 10 ปี แต่หลังจากให้ผลผลิต 10 ปี การปลูกแบบต้นเดี่ยวจะให้ผลผลิตปริมาณมากกว่าการปลูกแบบต้นคู่ การจัดการและดูแล รวมทั้งการเก็บเกี่ยว การปลูกแบบต้นเดี่ยวสะดวกสำหรับการปลูกทุเรียนแบบต้นคู่ช่วยลดความเสี่ยงเมื่ออีกต้นตาย ไม่ต้องเสียเวลาปลูกต้นใหม่ แต่หากต้นโตแล้ว ต้นคู่ตาย 1 ต้น อีกต้นจะเสียสมดุล ต้นล้มง่าย เนื่องจากระบบรากแผ่ขยายออกเพียงด้านเดียว

 

ศึกษาการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้มีความหลากหลายพันธุ์ โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์การค้า ได้แก่ หมอนทอง กระดุมทอง นวลทองจันท์ หนามดำ พวงมณี และมูซานคิง เช่นที่เคยประสบความสำเร็จในการผ่าดอกผสมเกสรระหว่างต้นแม่พันธุ์พวงมณีและเกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทอง จนได้ทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ ชื่อว่า “นวลทองจันท์” มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น คือ เนื้อมีสีสวยเหลืองทอง ได้ลักษณะเนื้อสัมผัสละเอียด รสชาติหวานหอมจากพวงมณี และปริมาณเนื้อหนา เมล็ดลีบจากหมอนทอง มีกลิ่นเฉพาะตัวหอมอ่อน ๆ และเป็นทุเรียนที่มีกลิ่นน้อยมาก เป็นที่ต้องการของตลาด

ปัจจุบันได้รับการจดทะเบียนรับรองพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร จดสิทธิบัตรเจ้าของพันธุ์นวลทองจันท์ เมื่อปี 2551 และได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดจันทบุรี เมื่อปี 2565

 

เรียนรู้การใช้โดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนด้านการใช้สารเคมีป้องกันกำ จัดโรคแมลง และแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนได้ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชใต้ทรงพุ่มซึ่งโดรนพ่นไม่ถึง โดยได้นำโดรนมาใช้ร่วมกับแรงงานในการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช

 

วางแผนการเงิน การลงทุน พัฒนาต่อยอด ขยายธุรกิจ

ปัจจัยความสำเร็จ สวนทุเรียนยุคใหม่  ทดลอง ศึกษา ใช้เทคโนโลยี สู้ทุกสภาพอากาศ

 

การจำหน่ายผลผลิตทุเรียนคุณภาพจากสวนนวลทองจันท์ทำให้คุณสุเทพมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 27 ล้านบาทต่อปี และด้วยการรู้จักเก็บออมทำบัญชี ทำให้เป็นเกษตรกรที่ไม่มีหนี้สิน ใช้จ่ายเงินสดในการชำระซื้อสินค้าหรือสิ่งของต่าง ๆและมีคุณจารุวรรณ นพพันธ์ บุตรสาวคนเล็กของคุณสุเทพ มาช่วยดูแลงานด้านการตลาด สืบทอดอาชีพเกษตรกรที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษนอกจากนี้ ที่ดินกว่า 300 ไร่ มีการวางแผนการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิตในระยะยาว ด้วยการปลูกต้นตะเคียนทองรอบ ๆ สวน สร้างรั้วมีชีวิตเป็นแนวกำบังลมพายุ มากกว่า 3,000 ต้น

ปัจจุบันตะเคียนทองที่สวนนวลทองจันท์ มีอายุ 30 - 40 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นธนาคารต้นไม้ สามารถใช้เป็นหลักประกัน ในการขอสินเชื่อกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ และการปลูกต้นไม้ในปัจจุบันก็สามารถขายคาร์บอนเครดิตช่วยสร้างรายได้อีกด้วย

 

ขยายธุรกิจจากการผลิตอย่างเดียวสู่การเป็นผู้ประกอบการส่งออก เปิดโรงคัดบรรจุ (ล้ง) รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรในชื่อบริษัท ทรัพย์บูรพา เฟรชฟรุ๊ต จำกัด ส่งออกผลผลิตในสวนและรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและใกล้เคียงไปยังประเทศปลายทางโดยเฉพาะประเทศจีน และการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องความต้องการของตลาดอยู่เสมอ ใช้ตลาดนำการผลิต มั่นใจได้ว่าผลผลิตทุเรียนที่รับซื้อมานั้นมีแหล่งจำหน่ายที่แน่นอน

ปัจจัยความสำเร็จ สวนทุเรียนยุคใหม่  ทดลอง ศึกษา ใช้เทคโนโลยี สู้ทุกสภาพอากาศ

ปัจจัยความสำเร็จ สวนทุเรียนยุคใหม่  ทดลอง ศึกษา ใช้เทคโนโลยี สู้ทุกสภาพอากาศ

ซึ่งในปี 2567 ราคารับซื้อผลผลิตทุเรียนพันธุ์นวลทองจันท์ อยู่ที่ประมาณ 220 - 300 บาท/กิโลกรัม เป็นราคาที่พึงพอใจของร่วมกันระหว่างเกษตรกรและล้ง และทางสวนมีแผนจะขยายตลาดไปยังยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา และตะวันออกกลาง เพื่อรองรับปริมาณไม้ผลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

 

และถึงแม้การส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนเป็นรายได้หลักของสวนนวลทองจันท์ แต่ว่าช่องทางออนไลน์กับกระแสทุเรียนฟีเวอร์ทำให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสนใจทุเรียนไทยเพิ่มมากขึ้น จึงนำทุเรียนจากสวนนวลทองจันท์ไปจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “สวนนวลทองจันท์” มีทั้งแบบการจองตั้งเเต่อยู่บนต้นและนำผลผลิตมาไลฟ์สด 

จัดส่งโดยรถขนส่งที่ควบคุมอุณหภูมิ ทำให้มั่นใจได้ว่าทุเรียนจากสวนนวลทองจันท์จะถึงมือลูกค้าในสภาพที่สมบูรณ์และคงรสชาติที่ดี บรรจุในกล่องที่มีการออกแบบสวยงามและแข็งแรง มีรายละเอียดแสดงข้างกล่องให้ผู้บริโภคตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นทุเรียนคุณภาพจากสวนนวลทองจันท์ และใช้วิธีขายเป็นกล่อง ราคากล่องละ 2,000 บาท (ทุเรียน 2 ลูก น้ำหนักประมาณ 5 – 6 กิโลกรัม) ทำให้ได้ราคาดี

 

ทำสวนด้วยความสุข ส่งมอบทุเรียนคุณภาพ รสชาติดี

ปัจจัยความสำเร็จ สวนทุเรียนยุคใหม่  ทดลอง ศึกษา ใช้เทคโนโลยี สู้ทุกสภาพอากาศ

 

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวย้ำว่าจากปัจจัยทั้งหมดทำให้คุณสุเทพสามารถนำพาสวนนวลทองจันท์ให้เป็นสวนทุเรียนคุณภาพ สามารถส่งมอบความอร่อยของทุเรียนไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงให้กับทุเรียนไทยให้คงอยู่ในความประทับใจของผู้บริโภค และเป็นต้นแบบของเกษตรกรที่รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีการทำสวนให้เข้ากับการยุคสมัยและทรัพยากรที่แตกต่างจากบรรพบุรุษ

มีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลมาใช้ ทำสวนบนพื้นฐานการทำงานด้วยความสุข ปรับสมดุลชีวิตและการทำงานด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งแบ่งปันองค์ความรู้ของตนเองด้านการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ ด้วยการเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจคณะศึกษาดูงานและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เชิญไปร่วมเสวนางานฝึกอบรมเรื่องการทำสวนทุเรียน และให้ความร่วมมือกับภาครัฐใช้พื้นที่ปลูกเพื่องานวิจัยร่วมกันอีกด้วย นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เกษตรกรตัวเล็ก ๆ ได้ก้าวมายืนอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขกับชีวิตในการสร้างสวนทุเรียนยุคใหม่