กฎหมายกับการกำกับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

กฎหมายกับการกำกับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

“Platform economy” หรือ เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมากได้ ดังนั้น กฎหมายเพื่อควบคุมและดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงมีเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน

ผู้เขียนจึงข้อหยิบยกเนื้อหาบางส่วนของกฎหมายฉบับนี้ มาอธิบายให้ฟัง

  ที่มาของกฎหมาย
     ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีการตรา พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 (พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัล) โดยเป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความ พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้กำหนด “สิทธิ” ให้บุคคล “สามารถประกอบธุรกิจเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ได้

หากภาครัฐเห็นว่า การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นว่านั้น อาจกระทบกับความมั่นคงทางการเงิน การพาณิชย์ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับประชาชน ก็สามารถตรากฎหมาย เพื่อกำหนดให้การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ 

 แจ้งให้หน่วยงานใดทราบ?
           กฎหมายกำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ดี หากเป็นผู้ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ใช้บังคับ ให้มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. นี้ใช้บังคับ

           พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัล มีผลใช้บังคับเมื่อไร?
           กฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับวันที่ 20 ส.ค. 66 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำและรับฟังความคิดเห็นเพื่อ
ยกร่างกฎหมายลำดับรอง ดังนั้น ในวันที่ 20 ส.ค. 66 จึงเป็นวันแรกที่ผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถแจ้งการประกอบธุรกิจหรือแจ้งยกเลิกการประกอบธุรกิจให้ ETDA ทราบได้

     “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” หมายถึงใครบ้าง?
      กฎหมายได้กำหนดนิยาม “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ไว้อย่างกว้าง โดยให้หมายความถึง “การให้บริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบริการจัดการข้อมูลเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ...”เพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ไม่ว่าบริการนั้นจะคิดค่าบริการหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น สำหรับผู้เขียน องค์ประกอบของ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงอาจตีความได้ว่า

(1) เป็นการให้บริการในลักษณะที่เป็น “สื่อกลางในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์”

(2) โดยสื่อกลางนั้นมีการบริหารจัดการข้อมูลบนแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่าง “ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม” และ “ผู้บริโภค”

(3) การเชื่อมดังกล่าวใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจเป็นการเชื่อมแบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันในรูปแบบต่าง ๆ  

    ตัวอย่าง “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ เช่น แพลตฟอร์มขายสินค้า/บริการ (Shopee/Lazada/Agoda) แพลตฟอร์มให้บริการแบ่งปันด้านแรงงานและ Food delivery (Grab food/Robinhood/LineMan) แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ (Hungry Hub/QUEQ) และ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งและ
การแชร์สื่อ (NetFlix/Spotify/Youtube)  เป็นต้น

     “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ทุกรายหรือไม่ที่ต้องแจ้งให้ทราบ?
         โดยทั่วไป การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องแจ้งให้ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ 
ซึ่งกฎหมายได้กำหนดประเภทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไว้สามกลุ่ม ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายแตกต่างกัน 
ได้แก่

1) บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบทั่วไป (ม.8 ว.1)  

2) บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำ (ม.8 ว 3 และ 4) และ

3) บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ 

         ภายใต้ พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ การจะพิจารณาว่าแพลตฟอร์มใด เป็น “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบทั่วไป” หรือ“บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายเล็ก” ให้พิจารณาจากข้อเท็จจริง ดังนี้
(1)    พิจารณาจาก “รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย” จากการให้บริการในไทย ว่าเกิน 1.8 ล้านต่อปี สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือเกิน 50 ล้านต่อปี สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล หรือไม่?

(2)    พิจารณาจาก “จำนวนผู้ใช้บริการ” หรือ User ในไทย ว่าเกิน 5,000 รายต่อเดือน หรือไม่? (คำนวณเฉลี่ยตามหลักเกณฑ์ที่ ETDA จะประกาศกำหนด)

หากเข้าเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดตามข้อ (1) หรือ (2) จะเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบทั่วไป ซึ่งมีหน้าที่ในการแจ้งข้อมูลและดำเนินการตามกฎหมาย (ตามหมวด 2 ) ที่มากกว่า บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายเล็กซึ่งมีหน้าที่แจ้งข้อมูลโดยย่อ

เช่น ชื่อ ประเภท ช่องทางการใช้งาน และผู้ประสานงาน และอาจมีหน้าที่เพียงอัปเดตข้อมูลรายปีเท่านั้น เช่น มูลค่าธุรกรรม รายได้จากการให้บริการ และจำนวน User เป็นต้น

            นอกจากนี้ หากเป็น บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าโดยตรง หรือไม่ได้มีการแสวงหากำไรเป็นหลัก จะมีหน้าที่เพียงแจ้งให้ ETDA ทราบเพียงเท่านั้น (ม.4(2))

     “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายฉบับนี้
       บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดังต่อไปนี้ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแจ้งให้ทราบ 
(1)    เป็นบริการแพตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับของของ ธปท. หรือ สำนักงาน กลต. (เช่น แพลตฟอร์มที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล)

(2)    เป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดการควบคุมโดยเฉพาะ (ม.5)

อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับยกเว้นตามกฎหมายฉบับนี้ แต่การควบคุมบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับอื่น จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ประกันความโปร่งใสและเป็นธรรม หรือจะต้องมีมาตรฐานในการประกอบธุรกิจไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัล (ม.5)

         “ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” นอกประเทศไทยต้องแจ้งด้วยหรือไม่?
       ต้องแจ้ง เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการในประเทศไทย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะอยู่ในหรือนอกประเทศไทย ก็มีหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้

         “การให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย” พิจารณาอย่างไร
            การจะพิจารณาว่าบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่นอกประเทศรายใดบ้างที่มีหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ ให้พิจารณาจากข้อเท็จจริงในการให้บริการว่าเข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้หรือไม่

เช่น มีการแสดงผลทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นภาษาไทย มีการจดทะเบียนโดยใช้ชื่อโดเมน “.th”/ “.ไทย” หรือ ชื่ออื่นที่หมายถึงประเทศไทย มีการกำหนดให้ชำระเงินเป็นสกุลเงินบาทได้ มีเงื่อนไขในการใช้กฎหมายไทย หรือให้ขึ้นศาลไทยกับกรณีธุรกรรมซื้อ/ขายบนแพลตฟอร์ม

มีการจ่ายค่าบริการในลักษณะที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการของแพลตฟอร์มในไทย หรือ มีการจัดตั้งสำนักงานหรือมีบุคลากรเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ใช้บริการในไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่อยู่นอกประเทศไทย ยังมีหน้าที่ตั้งตัวแทนในประเทศ ซึ่งตัวแทนดังกล่าวจะต้องอยู่ในไทย และต้องได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่นอกประเทศ โดยไม่มีข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายฉบับนี้อีกด้วย

    ท้ายที่สุด หลักเกณฑ์ตามกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องพึ่งติดตามอย่างใกล้ชิด และผู้เขียนจะมาอัปเดตรายละเอียดในโอกาสถัดไป.

คอลัมน์  Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง