ETDA เปิดสถานะ ‘SME’ ไทยอยู่ระดับ Digital Follower พร้อมเปลี่ยนผ่านปานกลาง

ETDA เปิดสถานะ ‘SME’ ไทยอยู่ระดับ Digital Follower พร้อมเปลี่ยนผ่านปานกลาง

ETDA (เอ็ตด้า) เปิดตัวเลขสถานะความพร้อมด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศ ผ่าน “การสำรวจสถานะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอี SME Digital Maturity Survey 2023” พบ ‘เอสเอ็มอีไทย’ อยู่ระดับ 'Digital Follower' พร้อมเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในระดับปานกลาง

ในสนามการแข่งขันกีฬา ถ้าอยากรู้ว่านักกีฬาคนไหน ทีมไหน มีความพร้อมมากที่สุด เรามักพิสูจน์ได้จากรางวัลในสนามแข่ง แต่สำหรับ “ความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล หรือ Digital Transformation” ขององค์กร หรือ บริษัท แล้ว เราวัดด้วยอะไร? เชื่อว่าคงเป็นประเด็นที่หลายคนกำลังสงสัย เพราะที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ เอกชน ต่างเร่งส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักๆ ที่ส่งผลต่อการสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นทางเศรษฐกิจและยังมีผลกับการขับเคลื่อนจีดีพีประเทศ

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า เครื่องมือที่หลายประเทศต่างนิยมนำมาใช้วัดความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลขององค์กร นั่นคือ “Digital Maturity Model” ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือสำคัญ ที่เข้ามาช่วยทำให้สามารถทำความเข้าใจถึงสถานะความพร้อมของการเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลขององค์กรในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะองค์กรไหนที่มี Digital Maturity อยู่ในระดับสูง จะมีโอกาสได้เปรียบทางการเเข่งขัน ทั้งด้านการเติบโต และรายได้ มากกว่าองค์กรหรือบริษัทที่มี Digital Maturity ในระดับที่ต่ำกว่า

ETDA เปิดสถานะ ‘SME’ ไทยอยู่ระดับ Digital Follower พร้อมเปลี่ยนผ่านปานกลาง

สำหรับไทย ล่าสุด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดตัวเลขสถานะความพร้อมด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศ ผ่าน “การสำรวจสถานะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Digital Maturity Survey 2023” เพื่อสะท้อนถึงสถานะและระดับความพร้อมการเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอีไทยในปัจจุบัน

เอสเอ็มอีไทย Digital Follower

จากการสำรวจสถานะเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอี ในกลุ่มกิจการที่สร้างมูลค่าสูงให้แก่เศรษฐกิจ (High Value Sector) ได้แก่ กลุ่มกิจการที่ขับเคลื่อนดิจิทัล จีดีพี เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล ท่องเที่ยว การค้าดิจิทัล การบริการทางการเงิน บริการการศึกษา การบริการสุขภาพ เป็นต้น และกลุ่มกิจการภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve จำนวน 1,725 บริษัท ทั่วประเทศ ผ่านกรอบการประเมินใน 5 มิติ

 

ทั้งในมุมกลยุทธ์ โครงสร้างและระบบ กระบวนการและการบริหารจัดการ บุคลากรและวัฒนธรรมองค์กร และลูกค้า พบว่า เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ 44.81% มีความพร้อมเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในระดับปานกลาง (Digital Follower) มีความเข้าใจ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลได้เหมาะสม แต่ยังขาดการบูรณาการด้านดิจิทัลในองค์กร

รองลงมา 31.30% มีความพร้อมในระดับสูง (Digital Native) สามารถเข้าถึง และใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นตัวช่วยในการบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานขององค์กร ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ลำดับต่อมา 20.47% เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในระดับต่ำ (Digital Novice) ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้อย่างเต็มที่

ขณะที่ มีเพียง 3.42% เท่านั้นที่มีความพร้อมในระดับสูง (Digital Champion) ถือเป็นกลุ่มผู้นำในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัล รู้ทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถตอบสนองได้ทันท่วงที มองเห็นลู่ทางใหม่ๆ ในการนำดิจิทัลต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอี ที่มีรายได้สูงอย่าง Medium Enterprises และภาคการผลิต จะมีความพร้อมเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมากที่สุด และส่วนงานที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การตลาด รองลงมาคือ การเงินและบัญชี และการขาย หรือ Sales นั่นเอง

กับดักเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ไม่สำเร็จ

แม้วันนี้ เอสเอ็มอี  ไทยส่วนใหญ่มีความพร้อมด้านดิจิทัล สามารถเข้าใจและปรับตัวได้เหมาะสม แต่ในมุมของการใช้งานก็ยังมีประสิทธิภาพไม่มากนัก เพราะจากผลสำรวจพบว่า เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับ “กับดักความท้าทาย” ที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่

6 ความท้าทายที่เป็นกับดักสำคัญ 

  1. ขาดแคลนทักษะและความสามารถด้านดิจิทัล 62.72%
  2. ต้องเจอกับต้นทุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในระดับสูงเกินไป กว่า 52.87%
  3. ขาดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล 49.68%
  4. ขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็นในการเปิดใช้งานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล 42.03%
  5. ความซับซ้อนของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จนไม่สามารถตั้งต้นการดำเนินงานได้ 41.33%  
  6. ความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันภายในองค์กร 11.30%

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความท้าทายอื่นๆ ที่เอสเอ็มอีเจอ เช่น มุมของภาษีที่มีอัตราสูง และโอกาสแข่งขันที่น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่

“งบฯ-สิทธิประโยชน์ใช้ดิจิทัล”

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอี อยากให้ภาครัฐ เข้ามาสนับสนุน ด้านการเงินและงบประมาณ ต้องการมากถึง 63.30%

รองลงมาคือ การให้สิทธิประโยชน์หลังการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในองค์กร 48.41% การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรในองค์กร 44.17% การจัดหาช่องทางในการเข้าถึงและเกิดการจับคู่ทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับองค์กร 35.36% การรับรองมาตรฐานทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ในองค์กร 25.10%

การสร้างความเข้าใจในประเด็นด้านกฎหมาย และมาตรฐานด้านดิจิทัล 23.07% การให้คำปรึกษา แนะนำในกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลได้อย่างตรงจุด 19.71% และตัวอย่างการใช้งานที่เหมาะสมจากยูสเคสที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เห็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ 19.30%

เจาะอินไซต์ เทคฯ ด้านไหนโดนใจ

เอ็ตด้า ยังเผยด้วยว่า เอสเอ็มอี ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน และอยากนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยยกระดับการดำเนินงานของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นนั้น พบว่า เทคโนโลยีด้านบริการธุรกิจ คือ สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดกว่า 33.86% โดยเฉพาะระบบการจัดการประสบการณ์ลูกค้า

เช่น การวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า การจัดการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า รองลงมาคือ เทคโนโลยีด้านการเงิน 25.04% ด้านอีคอมเมิร์ซ 11.65% ด้านดิจิทัล คอนเทนท์ หรือ ไลฟ์สไตล์ 10.84% และด้านอุตสาหกรรม 10.67% และที่สำคัญเทคโนโลยีเหล่านี้ จะต้องมีราคาที่ไม่สูงมากนัก เพื่อให้พวกเขานำมาใช้งานได้จริงด้วย