'4 กสทช.' แก้เกมส่งหนังสือถึงประธาน 'เบรควาระตั้งเลขาฯ กสทช.'

'4 กสทช.' แก้เกมส่งหนังสือถึงประธาน 'เบรควาระตั้งเลขาฯ กสทช.'

4 กสทช.เสียงข้างมาก แก้เกมปัดตกวาระตั้งเลขาธิการกสทช.ส่งหนังสือค้าน 3 ข้อ ถึงประธานกสทช.ก่อนประชุม ย้ำกระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง-การถูกฟ้องคดียังไม่สิ้นสุด ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย แจงประธานเองคือผู้มีส่วนได้เสีย

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ในวันที่ 21 ก.ย.2566 ซึ่งมีวาระค้างพิจารณาที่สำคัญคือ การเห็นชอบการแต่งตั้ง...(ประธานกสทช.เสนอชื่อในที่ประชุม) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช.นั้น บอร์ดกสทช.เสียงข้างมาก 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ ,น.ส.พิรงรอง รามสูต , นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ส่งบันทึกข้อความถึงประธานกสทช.ประเด็นดังกล่าวว่า

1.กระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช.

โดยที่ในการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ของประธานกสทช. ซึ่งประธาน กสทช. ได้กล่าวว่าเป็นอำนาจของประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียวนั้น กรรมการทั้ง 4 คนได้ทำการคัดค้านมาโดยตลอดถึงอำนาจและกระบวนการที่น่จะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส ทั้งการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรที่นำเรียนต่อประธาน กสทช. และโดยวาจาที่ได้มีการนำเสนอในที่ประชุม กสทช.

\'4 กสทช.\' แก้เกมส่งหนังสือถึงประธาน \'เบรควาระตั้งเลขาฯ กสทช.\'

\'4 กสทช.\' แก้เกมส่งหนังสือถึงประธาน \'เบรควาระตั้งเลขาฯ กสทช.\'

โดยได้มีการขอให้ประธาน กสทช. ยุติกระบวนการที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใสดังกล่าว แต่ประธาน กสทช. ก็นิ่งเฉยและได้ดำเนินกระบวนการกระทั่งประธาน กสทช. ได้ทำการคัดเลือกบุคคลและจะทำการนำเสนอรายชื่อนั้นต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 19/2566 วันที่ 21 ก.ย.2566

กรรมการทั้ง 4 คน ขอเรียนว่ากระบวนการคัดเลือกของประธาน กสทช. น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส ประกอบกับปัจจุบันมีกรณีที่บุคคลผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช. จำนวน 4 คน ทำการโต้แย้งคัดค้านถึงการดำเนินการคัดเลือกดังกล่าว ทั้งนี้ หากประธาน กสทช. ยังคงนิ่งเฉยและดำเนินกระบวนการต่อไป อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งต่อ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จนมิอาจแก้ไขเยียวยาได้

2.การมีส่วนได้เสียของกรรมการทั้ง 4 คน

แม้ว่าจะได้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าปัจจุบัน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และอาจเป็นบุคคลที่ประธาน กสทช. จะเสนอรายชื่อต่อที่ประชุม กสทช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ได้ทำการฟ้องกรรมการทั้ง 4 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

แต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้กรรมการทั้ง 4 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่เป็นกลางแต่อย่างใด เนื่องจากศาลฯยังมิได้วินิจฉัยจนถึงที่สุดว่ากรรมการทั้ง 4 คน ทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ ทั้งนี้ หากพิจารณาว่าเมื่อกรรมการผู้ใดถูกฟ้องแล้ว กรรมการคนนั้นจะตกเป็นผู้มีส่วนได้เสียทันทีย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลแกล้งฟ้องหรือร้องเรียน กรรมการเพื่อมิให้กรรมการมีอำนาจพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนในอนาคตได้

ซึ่งเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักไว้แล้วว่า แม้ผู้ทำคำสั่งทางปกครองจะถูกผู้ตกอยู่ภายใต้คำสั่งฟ้องคดี แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีหลักฐานใดที่สนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมว่ากรณีดังกล่าวทำให้การพิจารณาออกคำสั่ง มีสภาพร้ายแรงจนเสียความเป็นกลางผู้ออกคำสั่งย่อมสามารถออกคำสั่งได้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.536/2554

นอกจากนี้คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก็ได้มีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 87/2563 สรุปได้ว่า บทบัญญัติมาตรา 13 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งบัญญัติลักษณะต้องห้ามของเจ้าหน้าที่หรือกรรมการที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้นั้น บัญญัติขึ้นโดยมีความมุ่งหมายที่จะใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองที่เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง

ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาทางปกครองได้รับการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่หรือกรรมการที่เป็นกลางไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในทางที่เป็นคุณหรือโทษกับคู่กรณี อันอาจทำให้ข้อยุติในผลการพิจารณาทางปกครองไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้บทบัญญัติทั้งสองมาตรานั้นมีข้อยกเว้นตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา 13 ถึงมาตรา 16 ไม่ให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าข้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้

ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 20 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมระบุไว้ว่า

"ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และให้ถือว่า กสทช, ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ แต่ทั้งนี้จะต้องมีจำนวนกรรมการไม่น้อยกว่าสี่คน"

3.การมีส่วนได้เสียของประธาน กสทช.

กรรมการทั้ง 4 คน ขอเรียนว่า ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ของประธาน กสทช. นั้น ย่อมเป็นกรณีที่ประธาน กสทช. เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ประธาน กสทช. จะเสนอชื่อในครั้งนี้ได้เสียเอง เนื่องจากประธาน กสทช.เป็นผู้ที่ดำเนินกระบวนการคัดเลือกด้วยตนเองทั้งหมด

ตั้งแต่การออกประกาศรับสมัคร การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก การดำเนินการคัดเลือก การเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต่อ กสทช. และจะทำการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลที่ประธาน กสทช. จะทำการเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีพฤติการณ์ที่ทำให้กรรมการทั้ง 4 คน เข้าใจว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้ารับการคัดเลือกบางคนตามที่ได้มีหนังสือนำเรียนประธาน กสทช. ไปแล้ว