ร้านค้า “รับเฉพาะเงินสด” ในยุคที่ระบบชำระเงินเปลี่ยน

ร้านค้า “รับเฉพาะเงินสด” ในยุคที่ระบบชำระเงินเปลี่ยน

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมออกเที่ยวต่างจังหวัด ทุกครั้งที่ต้องใช้จ่าย ผมมักไม่ใช้เงินสด เพราะโครงสร้างระบบการชำระเงินในบ้านเราสะดวก มีทั้ง ระบบธนาคารที่เป็นพร้อมเพย์หรือ QR Payment ในการโอนเงิน มีระบบบัตรเครดิต เช่น Visa และ Master Card และมีระบบการชำระเงินผ่านแอปมือถือ

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมออกเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งทุกครั้งที่ต้องใช้จ่าย ผมมักจะไม่ใช้เงินสด เพราะปัจจุบันโครงสร้างระบบการชำระเงินในบ้านเราสะดวกสบายมาก มีทั้ง ระบบของธนาคารที่เป็นพร้อมเพย์หรือ QR Payment ในการโอนเงิน มีระบบบัตรเครดิต เช่น Visa และ Master Card และมีระบบการชำระเงินผ่านแอปมือถือ เช่น True Wallet และ Rabbit Pay

แม้กระทั่งเร็วๆ นี้ ผมเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและประเทศจีน ก็แทบจะไม่ได้แลกเงินสดไปใช้ ซึ่งพบว่า การชำระเงินทั้งบัตรเครดิต และแอปอย่าง AliPay ที่ประเทศจีน สะดวกสบายมาก ร้านค้าส่วนใหญ่ในต่างประเทศจะพึงพอใจกับการจ่ายด้วยแอปหรือบัตรเครดิตมากกว่าจะชำระด้วยเงินสด

แต่ที่สิ่งที่ผมพบในการไปเที่ยวต่างจังหวัดครั้งนี้ คือ มีร้านขายอาหารบางร้านปฏิเสธที่จะรับการชำระเงินด้วยวิธีอื่น และเขียนป้ายหน้าร้านว่า “รับเฉพาะเงินสด” ซึ่งป้ายแบบนี้ผมก็เคยเห็นบางร้านในกรุงเทพมหานครเช่นกัน จะให้เดาว่าเจ้าของร้านไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยีก็คงไม่ใช่เพราะในตลาดสดแม้จะเป็นร้านเล็กๆ หรือคนขายอาวุโสแค่ไหนก็รับการโอนเงินหรือการชำระพร้อมเพย์กันเกือบหมดแล้ว แม้แต่จะชำระเงินเพียงสิบบาทก็โอนกันได้

ที่แปลกใจไปกว่านั้น คือ เมื่อต้องเติมน้ำมันกลับพบปั้มน้ำมันแห่งหนึ่ง แม้เป็นปั้มน้ำมันยี่ห้อดังที่ดูดีมาก (แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นปั้มของร้านสวัสดิการบางหน่วยงาน) เขียนป้ายที่ตู้เติมน้ำมันว่า “รับเฉพาะเงินสด” พนักงานก็รีบมาแจ้งว่า ที่นี่รับเงินสดเท่านั้น ไม่รับโอนพร้อมเพย์หรือบัตรเครดิต ซึ่งค่าน้ำมันโดยปกติก็เป็นยอดเงินหลักพันบาทที่สูงกว่าร้านค้าย่อยทั่วไป การรับบัตรเครดิตหรือโอนเงินน่าจะเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกวันนี้ผู้คนก็ไม่ต้องการจะพกเงินสดจำนวนมากในกระเป๋าสตางค์ แต่พนักงานก็ยืนยันว่าปั้มนี้ใช้เงินสดเท่านั้น

 

ทั้งสองกรณีที่ยกตัวอย่างมาคงไม่ใช่ปัญหาเรื่องของการใช้เทคโนโลยี แต่คาดว่าเป็นเรื่องความโปร่งใส หรืองกลัวการตรวจสอบการชำระเงิน ทั้งการเสียภาษีให้กรมสรรพากร หรืออาจมีการทุจริตที่ไม่ชอบมาพากลบางอย่าง เพราะการชำระเงินด้วยเงินสดจะทำให้การตรวจสอบทำได้ยากกว่ามาก แต่ถ้าผ่านระบบชำระเงินดิจิทัลจะสามารถตรวจดูธุรกรรมย้อนหลังที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลได้ดีกว่า

เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเรื่องระบบชำระเงิน ระบบการเปิดเผยข้อมูล และโซเชียลมีเดีย ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทำให้สังคมมีความโปร่งใส เพิ่มการตรวจสอบจากสาธารณะและส่งเสริมความรับผิดชอบของทุกผ่าย

เราสามารถที่จะเห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้มากมาย การชำระเงินด้วยระบบดิจิทัลทำให้เราสามารถเห็นธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และสามารถตรวจสอบธุรกรรมที่มีความผิดปกติได้ การเปิดเผยข้อมูลขอลภาครัฐก็จะทำให้เราสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ว่ามีความโปร่งใส มากน้อยเพียงใด เห็นธุรกรรมต่างๆ เห็นระบบการทำงาน และสามารถตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างได้

แม้แต่การใช้โซเชียลมีเดียของผู้คนทั่วไป ก็ทำให้เราสามารถตรวจสอบพฤติกรรมการใช้งาน และมีรอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) ของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะที่ทำให้คนทั่วไปสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้

นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีธุรกรรมต่างๆ เก็บไว้ ยังทำให้ธุรกิจสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงการบริการลูกค้าให้ดีขึ้น

แม้การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ อาจต้องมีข้อกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การดำเนินการตามพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การจัดการข้อมูลที่มากมายที่อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรองความถูกต้องและการหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ผิดพลาด แต่ปัญหาต่างๆ เหล่านี้สามารถที่จะจัดการได้โดยไม่ยากเกินไป

จากเหตุผลต่างๆ ที่ กล่าวมานี้ จึงอยากสรุปว่า ร้านค้าบางร้านเจตนารับเฉพาะเงินสดเท่านั้น น่าจะมาจากการไม่ต้องการถูกตรวจสอบ ซึ่งย้อนแย้งกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ก้าวสู่ยุคดิจิทัลและมีความโปร่งใสมากขึ้น อาจจะต้องถึงเวลาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาว่า การที่ร้านค้าที่ต้องเสียภาษี หรือมีการจดทะเบียนการค้านิติบุคคล สามารถที่จะปฏิเสธระบบการชำระเงินด้วยวิธีอื่นโดยเฉพาะระบบพร้อมเพย์ได้หรือไม่ เพราะการใช้พร้อมเพย์แทบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และก็เพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่เราจะให้ร้านเขียนว่า “รับเฉพาะเงินสด”