ดิจิทัลเปลี่ยนโลก (จบ)

ดิจิทัลเปลี่ยนโลก (จบ)

เปลี่ยนรากฐานทางความคิด ปรับตัวไปกับโอกาสใหม่ที่จะมาถึง

เกริ่นถึงกลุยทธ์หลักในการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล โดยเริ่มจากประการแรกคือต้องรู้จักแก่นแท้ขององค์กร ประการที่สองต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนแต่ยืดหยุ่นเพียงพอต่อการปรับตัว และประการที่สาม ต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่อง

ต่อกันในกลยุทธ์ที่สี่ เน้นบูรณาการอย่างเต็มระบบ เพราะการทำธุรกิจในทุกวันนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีบริษัทใดบริษัทหนึ่งเก่งรอบด้านและทำได้ทุกเรื่อง หรือแม้จะเก่งหรือเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้วก็อาจถูกเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ได้เสมอ

การทำ Digital Transformation จึงควรเน้นการจับธุรกิจหลายๆ กลุ่มมารวมกันเพื่อสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ไม่ต่างอะไรจากนิยายกำลังภายในที่มีสำนักต่างๆ มากมายเช่นเส้าหลิน บู๊ตึ๊ง ง้อไบ๊ ฯลฯ ที่แต่สำนักก็มีจุดเด่นคนละแบบ

แต่ละสำนักไม่มีใครสมบูรณ์แบบและแต่ละสำนักก็ล้วนไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร การจับมือระหว่างกันจึงมีแต่ทำให้เกิดการหลอมรวมพลังไม่ต่างอะไรกับภาคธุรกิจซึ่งทุกวันนี้มีทั้งความแตกต่างกันในด้านแพลตฟอร์ม หรือระบบนิเวศทางธุรกิจคนละแบบกัน จึงทำให้ร่วมมือกันได้ยาก

เมื่อเกิดกระแส Digital Disruption แนวโน้มที่ธุรกิจดั้งเดิมจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลก็มีมากขึ้น การยึดติดกับธุรกิจเดิมๆ โดยไม่สนใจความเป็นไปของโลกจึงอาจทำให้บริษัทถึงทางตันได้เร็วกว่าที่คิด การบูรณาการร่วมกับธุรกิจอื่นจึงเป็นโอกาสที่เพิ่มความอยู่รอดได้ในอนาคต

ตัวอย่างที่ Harvard Business Review หยิบยกขึ้นมาก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีจุดแข็งของตัวอย่างอย่าง GE Healthcare ซึ่งจับมือกับ Microsoft ในการพัฒนาธุรกิจด้านการจัดการสุขภาพร่วมกัน สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ก็ยังรวมตัวกันได้เมื่อมีเป้าหมายทางธุรกิจร่วมกันที่ชัดเจน

ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เน้นการสร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจจึงยิ่งต้องเปิดกว้างและมองหาความร่วมมือจากทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าหรือแม้กระทั่งคู่แข่งที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมได้เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดผลประโยชน์สูงที่สุด

กลยุทธ์ที่ห้า ต้องเปิดกว้างทางความคิด เพราะการบูรณาการจะไม่มีวันเกิดขึ้นหากเราปิดตัวเอง โดยไม่สนใจโอกาสที่ผู้อื่นหยิบยื่นมาให้ ในขณะที่โลกหมุนเร็วขึ้นเราจำเป็นต้องอาศัยการหลอมรวมพลังจากทุกส่วนเพื่อสร้างสินค้าและบริการที่ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด

การรู้จักตัวเองว่ามีทรัพยากรมากน้อยเพียงใด มีจุดแข็งและจุดอ่อนตรงไหน และเปิดรับความคิดเห็นและความร่วมมือจากบุคคลอื่นจึงเป็นการปลดล็อคโอกาสสู่ความสำเร็จในอนาคต 

บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งจึงไม่ได้สร้างการเติบโตโดยอาศัยความคิดเห็นภายในจากผู้บริหารหรือบริษัทที่ปรึกษาเท่านั้น แต่เขาเปิดกว้างให้คู่ค้า ลูกค้า ซัพพลายเออร์เข้ามามีส่วนร่วม 

รวมไปถึงผู้ร่วมอุตสาหกรรมเดียวกันที่เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างอุตสาหกรรมให้เติบโตไปด้วยกัน แทนที่ต่างคนต่างแข่งกันไปอย่างไร้ทิศทาง

ฟริตโตเลย์ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวอันดับหนึ่งของโลก ก็เติบโตได้ด้วยการเปิดกว้างให้ลูกค้าแนะนำสูตรแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อผลิตออกมาเป็นมันฝรั่งรสชาติแปลกใหม่ โดยมีเงินรางวัลให้กับผู้ที่ชนะเลิศซึ่งไม่ได้ผลเพียงแค่ได้ร่วมกิจกรรมกับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังผลักดันยอดขายทั่วโลกให้โตขึ้นกว่า 12%

กลยุทธ์ที่หก ต้องรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อย่าปล่อยให้เราเปลี่ยนแปลงเพราะถูกคนอื่นบังคับให้เปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงเพราะกลัวจะไม่ทันสมัย กลัวจะตกรถไฟขบวนสุดท้าย ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดนั้นคือความตั้งใจที่จะเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้น นั่นคือเราต้องรู้ว่าเปลี่ยนแปลงแล้วจะได้อะไร ทำเพื่ออะไร และต้องกระจายความคิดนี้ให้กับคนรอบข้างให้มากที่สุด เพราะการเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนอาคารสถานที่ เปลี่ยนเทคโนโลยีต่างๆ ฯลฯ นั้นเป็นเรื่องง่ายมากเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนใจคน

กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทั้ง 6 ข้อนี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำ Digital Transformation ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่เป็นการเปลี่ยนรากฐานทางความคิดของคนในองค์กรให้ปรับตัวไปกับโอกาสใหม่ที่จะมาถึงได้เสมอ