'ทุนจีน' กินรวบ 'อีคอมเมิร์ซ 'อาลีบาบา-เทนเซ็นต์' ยึดไทยฐานลงทุนดิจิทัล

'ทุนจีน' กินรวบ 'อีคอมเมิร์ซ 'อาลีบาบา-เทนเซ็นต์' ยึดไทยฐานลงทุนดิจิทัล

อาลีบาบา ทุ่มงบตั้งคลังสินค้าใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทย ทำตลาดส่งตรงถึงผู้บริโภค ตัดพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ เทนเซ็นต์ บุกหนัก ทั้งบริการโซเชียล คลาวด์ สตรีมมิ่ง

Key Points :

  • อาลีบาบา - เทนเซ็นต์ ยึดไทยฐานลงทุนบริการดิจิทัล-ค้าออนไลน์ 
  • ตั้งคลังสินค้าในไทยทำตลาดตรงถึงผู้บริโภค ตัดพ่อค้าคนกลาง 
  • ลาซาด้า โกยรายได้ในไทย ปี 2565  ราว 20,675 หมื่นล้านบาท กำไร 400 ล้านบาท

เทคคอมพานี จีน รุกไทยเต็มสูบ “สินค้าจีน” ครองอีคอมเมิร์ซไทยเบ็ดเสร็จ หลัง “อาลีบาบา” เดินเครื่อง “คลังสินค้าลาซาด้า” ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไทย ลดระยะเวลาขนส่งสินค้าจีน ผู้บริโภคได้สินค้าเร็วขึ้น “กูรู อีคอมเมิร์ซ” มองภาพรวมสินค้าจีนที่ทะลักเข้าไทยบางรายการไม่ต้องเสียภาษี​ ยังไม่นับการบุกหนักของ “อาลีบาบา” ด้าน คลาวด์ และฟินเทคในไทย ด้าน “เทนเซ็นต์” บุกหนักทั้งบริการโซเชียล และคลาวด์

ประเทศไทย กลายเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุนจาก “จีน” หากเจาะลึกไปที่กลุ่มเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ จะพบว่า จีน คือ ผู้เล่นรายใหญ่ และบางตลาดกลายเป็น “ผู้เล่นหลัก” ครองส่วนแบ่งการตลาดเกินครึ่งหรือมากกว่านั้น มี 2 กลุ่มใหญ่ทุนจีนที่กำลังรุกไล่ตลาดในไทย นั่นคือกลุ่ม “อาลีบาบา” และ “เทนเซ็นต์” ยังไม่นับรวมในกลุ่ม “สมาร์ทโฟน หรือแกดเจ็ท” สัญชาติจีน ที่กำลังครองส่วนแบ่งตลาดในไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

\'ทุนจีน\' กินรวบ \'อีคอมเมิร์ซ \'อาลีบาบา-เทนเซ็นต์\' ยึดไทยฐานลงทุนดิจิทัล

 

อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซออนไลน์ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6-7% เท่านั้น จากมูลค่าตลาดค้าปลีกโดยรวมทั้งระบบของไทย หากภาพรวมใหญ่ของอีคอมเมิร์ซไทย ที่หลายฝ่ายจับตามอง คือ “การทะลักเข้ามาของสินค้าจีน” ที่ปัจจุบันกินสัดส่วนเกินครึ่ง โดยเฉพาะการที่ "รายใหญ่" อย่าง "อาลีบาบา" เจ้าของแบรนด์อีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่อย่าง "ลาซาด้า" แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักในไทย เดินเครื่องคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไทย และบนพื้นที่อีอีซี (EEC) ยิ่งเป็นแต้มต่อให้ “สินค้าจีน” ครองพื้นที่สินค้าอุปโภคบริโภคในไทยอย่างเต็มที่

กระแสจีนมาแรงทุกแพลตฟอร์ม

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด, ที่ปรึกษาและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ประเด็นสินค้าจีน ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะที่ผ่านมาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทุกราย นำเข้าสินค้าจากผู้ค้าจีนมาวางขายอยู่ก่อนแล้ว เพียงแค่ว่าขณะนี้กำลังเป็นกระแส

 

แต่นับเป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งถึงการเข้ามาและวิธีการที่สามารถจะทำได้ ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วมากขึ้น และคาดว่าจากนี้กระแสจะยิ่งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจะมี Tiktok ที่มีการไลฟ์ขายสินค้าจีนเป็นแรงกระตุ้นอีกทางหนึ่งด้วย

“ประเมินขณะนี้สินค้าจากจีนในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยน่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 50% และหลังจากนี้ผมมองว่าสถานการณ์การซื้อขายบนอีคอมเมิร์ซไทยน่าจะคึกคักมากขึ้นไปอีก”

สำหรับผู้ประกอบการ แนวทางการปรับตัวที่สำคัญต้องนำเสนอสินค้าที่ไม่ได้แข่งขันเฉพาะด้านราคา หมดยุคของการ “ตีหัวเข้าบ้าน” และควรหันไปขายสินค้าที่มีการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่องแทน

“สินค้าจีน” บุกไทยเต็ม100%

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้ง TARAD.com ผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย วิเคราะห์ว่า หนึ่งในเทรนด์อีคอมเมิร์ซของปีนี้ที่จะเป็นเรื่องใหญ่ คือ ผลต่อเนื่องจากเทรนด์อีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ สินค้าจีนกำลังบุกไทยเต็มสูบหรือเต็มรูปแบบ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีผู้ให้บริการนำสินค้าจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ด้วยอินฟราสตรัคเจอร์ ของจีนเริ่มเชื่อมต่อเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางรถ ทางราง ทางน้ำ เอื้อต่อผู้ให้บริการสามารถส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยได้ในไม่กี่วัน บางรายใช้เวลาเพียง 2-5 วันก็ได้รับสินค้าเเล้ว

"บางรายมีบริการ แวร์เฮ้าส์ หรือคลังสินค้าให้ด้วย ซึ่งตอนนี้ผู้ผลิตผู้นำเข้าสินค้าจีนต่างยกขบวนมาตั้ง แวร์เฮ้าส์ ในไทย ในพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพฯ และเริ่มใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางที่จะขายสินค้าตรง จากสินค้าในแวร์เฮ้าส์ ในไทยตรงสู่ผู้บริโภค ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสินค้ามีราคาถูกลงมาก และจะได้เห็นกองทัพสินค้าจากจีนถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องมากขึ้น"

เขากล่าวต่อว่า สินค้าจีนที่เข้ามาก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มีการเสียภาษี ผ่านขั้นตอนชัดเจน แต่ก็มีบางส่วนที่ยังผิดกฎหมาย นำเข้ามาค้าขายในโลกออนไลน์ โดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบหรือขออนุญาตตามมาตรฐานของไทย เช่น หลอดไฟฟ้า LED ต่าง ๆ จากจีนที่ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อุปกรณ์การพนันต่างๆ ที่หาซื้อได้ในอีมาร์เก็ตเพลส หรือเครื่องสำอางที่สามารถหาซื้อได้โดยไม่มี อย. สินค้าเหล่านี้ส่งตรงเข้ามาจากจีน เเละจากที่ไม่ผ่านมาตรการต่างๆ ก็ทำให้มีต้นทุนถูกลง ทำให้สามารถนำสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมากๆ ได้ โดยบางครั้งมีขั้นตอนพิเศษที่ทำให้ไม่เสียภาษีอีกด้วย

แต่ในขณะที่ผู้ประกอบการไทย ต้องมีมาตรฐานการผลิตของโรงงาน การควบคุมคุณภาพให้ผ่านมาตรฐาน มอก.หรือ สคบ. มีการจ้างคนเเละขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า เเละกลายเป็นความเสียเปรียบของคนไทย ซึ่งภาครัฐควรต้องควบคุมให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าจีนเข้าไทยอย่างผิดกฏหมาย

ตัดตอนพ่อค้าคนกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน ผู้ค้าออนไลน์ในไทย ก็รับสินค้าจากจีนเข้ามาค้าขายกันเป็นจำนวนมาก ขณะที่ การมุ่งหน้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยของทุนจีนขนาดใหญ่อย่าง “อาลีบาบา” ก็นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตที่ว่า สินค้าจีนที่ขายบนแพลตฟอร์ม Lazada หรือ AliExpress อาจจะมีราคาถูกลง และย่นระยะเวลาการส่งถึงมือลูกค้าได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่าตัว

นั่นเท่ากับว่า บทบาทของพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่นำสินค้าจีนเข้ามาขายในไทยก็อาจจะถูก ‘ตัดขาด’ ไปโดยปริยาย

โดยปกติในอดีต เวลาที่พ่อค้าแม่ค้าจีน จะนำสินค้าจากจีนเข้ามาจำหน่ายในล็อตใหญ่ ก็ต้องดำเนินเรื่องอย่างถูกต้องและเสียภาษี ซึ่งการจะเข้ามาจำหน่ายในไทยก็มักจะเป็นไปในรูปแบบการหา ‘ตัวแทน’ หรือตั้งบริษัทร่วมค้า

ยิ่งปัจจุบันยุคที่แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยม โดยเฉพาะอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ที่เป็นทุนจีน ยิ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องทางให้กับผู้ประกอบการจีนรุกเข้ามาหาช่องทางการขยายตลาดในต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้โดยตรง

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สินค้าจากจีนจะทะลักเข้ามาบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซที่จำหน่ายสินค้าในไทยอย่างหนัก ดังนั้น การสกัดกั้นการล้นทะลักของสินค้าจากจีน รัฐบาลต้องมาคุมเข้มสินค้าจากจีนส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาจำหน่ายแล้วไม่ได้รับการรับรองที่ผ่านมาตรฐาน อย. หรือ มอก. ในไทย

อาณาจักร“คลังสินค้า”ลาซาด้า

“ลาซาด้า” (Lazada) แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ของ “อาลีบาบา” ได้ลงทุนขยายคลังสินค้าขนาดใหญ่ในไทยอย่างต่อเนื่อง รอบหลายปีที่ผ่านมา ‘อาลีบาบา กรุ๊ป ตัดสินใจทุ่มเงินมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท เข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ (Smart Digital Hub) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พร้อมจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะแห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

จนปัจจุบัน ลาซาด้า มีศูนย์บริการจัดการคลังสินค้า 2 แห่งขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ คลังสินค้าภายในประเทศ (Fulfilment Center) 1 แห่ง และคลังสินค้าระหว่างประเทศ (Crossborder Warehouse) อีก 1 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีศูนย์คัดแยกสินค้า 3 แห่ง ศูนย์กระจายสินค้า 92 แห่ง และจุดรับส่งพัสดุอีกกว่า 2,100 แห่งทั่วประเทศ

โดยเฉพาะคลังสินค้าลาซาด้า ในพื้นที่อีอีซี มีพื้นที่กว่า 15 สนามฟุตบอล และใช้เทคโนโลยีต่างๆ จากอาลีบาบาเข้ามาใช้งาน ศูนย์นี้มีความสามารถที่สูงขึ้นในการรองรับพัสดุ และมีระบบอัตโนมัติที่จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า ซึ่งเป้าหมายของลาซาด้า คือ การส่งสินค้าภายในวันเดียวกัน ซึ่งค่าเฉลี่ยในการดำเนินการบรรจุสินค้า ติดฉลากโดยเจ้าหน้าที่ และนำไปวางบนสายพานเพื่อเตรียมการจัดส่งของศูนย์กระจายสินค้าปัจจุบันจะอยู่ประมาณสองชั่วโมง ซึ่งกระบวนการนี้สามารถเสร็จได้ใน 14 นาทีที่ศูนย์ในอีอีซี

ส่วนศูนย์กระจายสินค้าของลาซาด้าในอำเภอบางพลี มีพื้นที่ 24,000 ตารางเมตรเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 5 สนาม

ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในศูนย์โลจิสติกส์ ทีพาร์คบางพลี 3 รองรับร้านค้าใน LazMall ซึ่งเป็นที่ที่ผู้ขายเปิดร้านค้าออนไลน์สำหรับแบรนด์ของตน มากถึง 70 แบรนด์ และมีสินค้ารวมกว่า 50,000 หน่วย (SKUs) ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง สมาร์ทโฟน และเครื่องประดับ

ขณะที่ ศูนย์กระจายสินค้าปัจจุบัน ยังสามารถรองรับสินค้าขาเข้าจากผู้ขาย พื้นที่เก็บสินค้าให้เช่า บริการแพ็คสินค้า การคืนสินค้า และการเคลมสินค้ากรณีสินค้าเสียหายและสูญหาย โดยสถานที่จัดเก็บจะถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น สินค้าที่มีมูลค่าสูง สินค้าขนาดเล็ก และสินค้าที่ต้องเก็บในพื้นที่ควบคุมความเย็น เป็นต้น

ลุยเพิ่มศักยภาพต่อเนื่อง

ศูนย์กระจายสินค้าของลาซาด้า ได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีของอาลีบาบาเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ  เช่น Dabao Warehouse Management System ช่วยควบคุมสินค้าคงคลัง การมองเห็นคำสั่งซื้อของลูกค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการกระจายสินค้าในสเกลที่เพิ่มขึ้น ระบบนี้จะเชื่อมต่อกับระบบ Workforce Management System และทีมพนักงานที่มีทักษะสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการพัสดุ

แหล่งข่าวในวงการอีคอมเมิร์ซ เล่าว่า ศูนย์กระจายสินค้าเป็นการลงทุนระยะยาวของลาซาด้า ที่ต้องการแบรนด์และผู้ขายออนไลน์มากขึ้น เพื่อใช้บริการจัดการพัสดุกับศูนย์กระจายสินค้าของลาซาด้า โดยบริษัทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการดำเนินการตามคำสั่งซื้อและค่าเช่าพื้นที่ในการเก็บสินค้าคงคลัง นั่นทำให้แบรนด์และผู้ขายสามารถใช้เวลามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดมากกว่าการจัดส่ง

ทั้งนี้ ในภูมิภาคอาเซียน ศูนย์กระจายของลาซาด้าในประเทศไทยใช้เวลาในการจัดการการกระจายสินค้าจากขาเข้าไปยังขาออกได้เร็วที่สุด ศูนย์นี้เป็นศูนย์กึ่งอัตโนมัติที่ใช้พนักงานจัดการสินค้าขาเข้า จัดเก็บ และดำเนินการบรรจุหีบห่อ ส่วนการจัดการขาออกเป็นไปโดยอัตโนมัติ

ข้อมูลจาก creden data ระบุว่า "ลาซาด้า" มีผลประกอบการปี 2565 ในไทย ราว 20,675 หมื่นล้านบาท มีกำไรบวกมากกว่า 400 ล้านบาท

อาลีบาบา รุกคลาวด์-ฟินเทคในไทย

อาลีบาบา ไม่ได้ บุกไทยโดยชูธงด้วยแพลตฟอร์ม ลาซาด้า อย่างเดียว แต่อาลีบาบา ก็มี “บริการคลาวด์” ที่กำลังขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรในไทยด้วยเช่นกัน ไม่ว่า เช่นการเป็นพันธมิตรกับ ทรู ไอดีซี ในเครือทรู หนุนการใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งสนับสนุนการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลให้กับธุรกิจไทย รวมไปถึงการส่งเสริมสตาร์ทอัปและผู้ประกอบการด้านฟินเทคต่าง ๆ ในประเทศด้วย

นอกจากนั้น อาลีบาบา ยังเป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจฟินเทคอย่าง “แอนท์ กรุ๊ป” ที่เข้ามาทำตลาดในไทย โดยถือหุ้นในบริษัทแอสเซนด์ มันนี่ เครือทรู ให้บริการ ทรู มันนี่  บริการด้านฟินเทคในไทยอย่างครบวงจร จนทำให้ปัจจุบัน ทรู มันนี่ คือ เบอร์ 1 ของอีวอลเล็ตในประเทศไทย

เทนเซ็นต์ ‘เทค จีน’ บุกไทย

การเข้ามาของกลุ่มทุนจีนด้านเทคโนโลยี หรือ เทคคอมพานี หากไม่นับรวม “อาลีบาบา” แล้ว ยังมีกลุ่ม “เทนเซ็นต์” ของมหาเศรษฐกิจ โพนี่ หม่า ก็เข้ามาบุกตลาดในไทยมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยเช่นกัน

เทนเซ็นต์ (Tencent) เป็นบริษัทไอทีอันดับ 1 ของจีน ให้บริการเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน เกมออนไลน์ ระบบอิินฟราสตรัคเจอร์คลาวด์ โดยวางตำแหน่งทางการตลาดของบริษัท เป็น One-Stop Online Lifestyle เท็นเซนต์ เคยถูกรับการจัดอันดับว่าเป็นบริษัทไอทีอันดับ 4 รองจาก กูเกิล อะเมซอน และเฟซบุ๊ค ขณะที่ โพนี่ หม่า ซีอีโอของเทนเซนต์ เคยถูกจัดจัดอันดับจากฟอร์บส์ เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของจีน

ปัจจุบัน เทนเซ็นต์ มีทำธุรกิจด้านดิจิทัลในไทย ตั้งเป็นบริษัทเทนเซนต์ ประเทศไทย มี 2 กลุ่มธุรกิจหลักได้แก่  1.ด้านแพลตฟอร์ม และความบันเทิง เช่น sanook.com , Joox  ,เกม PUBG MOBILE, WeTV บริการสตรีมมิ่ง 2. กลุ่มคลาวด์ และโซลูชัน ที่กำลังทุ่มลงทุนในตลาดประเทศไทยอย่างเต็มที่

ข้อมูลจาก creden data ระบุว่า เทนเซ็นต์ มีรายได้เมื่อปี 2564 ในไทยมากกว่า 1.3 พันล้านบาท