‘14 เงื่อนไข’ไฟเขียวทรูควบดีแทค จ่อชงเข้าบอร์ดกสทช.ตัดสิน12 ต.ค.นี้

‘14 เงื่อนไข’ไฟเขียวทรูควบดีแทค จ่อชงเข้าบอร์ดกสทช.ตัดสิน12 ต.ค.นี้

ส่อแววเปิดช่อง "ดีลทรู-ดีแทค"ได้ไฟเขียวไปต่อ แหล่งข่าว ระบุ มาตรการยาวเยียดแต่ไร้การกำกับดูแล มีช่องโหว่เต็มไปหมด "สภาผู้บริโภคฯ" ชี้มาตรการสุดอ่อนยวบ จวก กสทช.ลอยแพประชาชน อุ้มนายทุนเปิดทางรวมกิจการ

วันที่ 12 ต.ค. นี้ จะเป็นวันชี้ชะตาอย่างเป็นทางการว่า ดีลแสนล้านบาทในกิจการโทรคมนาคมระหว่าง “ทรู-ดีแทค” จะมีบทสรุปออกมาอย่างไร เพราะหากนับดูจนถึงวันนี้ล่วงเลยเวลามานานกว่า 10 เดือน หลังจากที่ทั้ง 2 บริษัท แถลงข่าวร่วมกันว่าจะสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียม (Equal Partnership) เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรสู่บริษัทเทคโนโลยีเมื่อปลายเดือนพ.ย.ปี 2564 แต่ล่าสุดหลังจากมีการยื้อเพื่อตรวจสอบกระบวนการควบรวม แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เริ่มปรากฎ เมื่อมีเอกสารระบุให้ควบรวมได้ภายใต้มาตรการ 14 ข้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ยื่นหนังสือขอรวมธุรกิจมายังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2565 โดยทันทีที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ชุดใหม่เริ่มเข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา

จากนั้น ได้สั่งให้ สำนักงาน กสทช.ไปดำเนินการจัดทำโรดแมป และจัดรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย (โฟกัส กรุ๊ป) จากคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทั้งสองบริษัทจำนวน 4 คณะ ผลสรุปการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด 3 กลุ่ม

รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์กรณีการรวมธุรกิจฯ โดยสำนักงาน กสทช. ร่างผลการศึกษาของที่ปรึกษาวิเคราะห์การรวมธุรกิจฯ โดยศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รายงานของที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจฯ โดยบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด
 

เคาะมาตรการ 14 ข้อควบคุม

โดยล่าสุด มีเอกสารจากสำนักงาน กสทช. ที่ระบุว่า หลังจากได้รวบรวมข้อกังวลในหลาย ๆ ด้านข้างต้น สามารถประมวลออกมาได้ 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ข้อกังวลที่เป็นผลกระทบต่อผู้บริโภค 2.ข้อกังวลที่เป็นผลกระทบต่อการแข่งขัน และ 3.ข้อกังวลที่เป็นผลกระทบต่อรัฐและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ 

อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ได้ศึกษาเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะต่าง ๆ จากกรณีศึกษาจากต่างประเทศ ประกอบกับเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่ที่ปรึกษานำเสนอ รวมทั้งพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และรวบรวมความเห็นข้อเสนอเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในเบื้องต้น  

จึงมีความเห็นให้กำหนดมาตรการเฉพาะเงื่อนไขหรือมาตรการดังต่อไปนี้ สำหรับทบริษัททรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ซึ่งเป็นบริษัทลูกบริษัท New Co หลังจากควบรวม

โดยสามารถสรุปเป็น 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.มาตรการเชิงโครงสร้าง 2. มาตรการเชิงพฤติกรรม 3. มาตรการรายงานและเผยแพร่ข้อมูล และ 4. กลุ่มมาตรการอื่นๆที่มีการนำเสนอโดยอนุกรรมการฯและหน่วยงานอื่น แบ่งมาตรการ 14 ข้อดังนั้น 

‘14 เงื่อนไข’ไฟเขียวทรูควบดีแทค จ่อชงเข้าบอร์ดกสทช.ตัดสิน12 ต.ค.นี้
 

ห้ามรวมธุรกิจ-แยกแบรนด์3ปี

มาตรการที่ 1 การถือครองคลื่นความถี่ ข้อเสนอของสำนักงานกสทช.เห็นควรให้ทรูและดีแทคไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน เพื่อให้บริการได้และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคลื่นความถี่ของกสทช.อย่างเคร่งครัด โดยหลังจากนี้สำนักงานกสทช.เห็นควรให้เพียงมีการกำชับแก่ผู้ขอรวมธุรกิจใ ห้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และไม่มีการเรียกคืนคลื่นแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ในอนาคตอาจจะพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ผ่านการประมูลได้ผ่านกลไก หรือกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่

มาตรการที่ 2 กำหนดให้ทรูและดีแทคไม่มีการรวมธุรกิจกันและยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกันเป็นระยะเวลาหนึ่งเช่น 3 ปี

มาตรการที่ 3 สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยกำหนดให้ทรูและดีแทคต้องแบ่งคาปาซิตี้ ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) ที่ 20 % ของ ความจุของโครงข่ายตนเอง 

อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ สำนักงาน กสทช.อาจพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่ 1. การเพิ่มจำนวนหรือคงจำนวน เอ็มวีเอ็นโอต้องเป็นการทำสัญญากับผู้ประกอบกิจการที่ไม่ได้อยู่ในเครือของผู้รวมธุรกิจจำนวนอย่างน้อย 1-2 ราย ซึ่งจะทำให้เกิดเอ็มวีเอ็นโอและทำให้เกิดผู้เล่นในตลาดมากขึ้น

2. การกำหนดให้การขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่เอ็มวีเอ็นโอ ต้องคิดค่าตอบแทนตามปริมาณที่ใช้จริงเพื่อลดภาระและความเสี่ยงในการให้บริการ เพื่อจะสามารถซื้อบริการในปริมาณที่สอดคล้องกับความสามารถในการให้บริการของตนเอง ช่วยลดต้นทุนและทำให้เอ็มวีเอ็นโอสามารถแข่งขันและคงอยู่ในตลาดได้

ไร้หลักเกณฑ์คุ้มราคาค่าบริการ

มาตรการที่ 4 การกำหนดอัตราค่าบริการ ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช.อย่างเคร่งครัด มาตรการที่ 5 คุณภาพในการให้บริการ ทรูและดีแทคต้องไม่ลดคงจำนวนสถานีฐานเพื่อรักษาคุณภาพ อีกทั้งกำหนดให้ทั้ง 2 บริษัทมีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจ เช่น พนักงานและศูนย์บริการเพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการ

มาตรการที่ 6 เห็นควรให้ทรูและดีแทค ต้องคุมไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญา และข้อตกลงระหว่างบริษัทของผู้ใช้บริการรวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา มาตรการที่ 7 กำหนดความครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 5จี เช่นให้มีความครอบคลุมโครงข่าย 5จี มากกว่า 80% ของประชากรภายใน 5 ปี

มาตรการที่ 8 ให้ทรูและดีแทคเปิดให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองและจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมร่วมกันของกสทช.อย่างเคร่งครัด 

มาตรการที่ 9 การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการภายหลังการควบรวมธุรกิจ มาตรการที่ 10 การติดตามผลการดำเนินการและเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นหลังควบรวมธุรกิจ กำหนดให้รายงานเป็นรายไตรมาสอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี

เปิดทางมี“หน้าใหม่”เข้าตลาด

มาตรการที่ 11 การส่งเสริมการแข่งขันเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่กำหนดให้มีการรับคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่ขอร่วมธุรกิจและจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่เป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งกำหนดให้มีการกระจายการถือครองทรัพย์สิน เช่น คลื่นความถี่เสาโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และควรกำหนดรายละเอียดการกระจายการถือครองทรัพย์สินให้แล้วเสร็จ ก่อนรวมธุรกิจเพื่อจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่และดำเนินการจัดประมูลขึ้นความถี่อย่างช้าภายใน 6 เดือนหลังการรวมธุรกิจ

อีกทั้ง กำหนดให้ผู้ให้บริการรายใหม่ทำสัญญาโรมมิ่งกับผู้ขอรวมธุรกิจ หรือผู้ให้บริการรายเดิมได้ จนกว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานของตนเองเพียงพอ ข้อกังวล คือ อาจไม่มีผู้สนใจเป็นผู้ให้บริการรายใหม่ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์จากคลื่นความถี่ ผู้ให้บริการรายใหม่อาจไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขัน นำไปสู่การขายกิจการให้กับผู้ให้บริการรายเดือนในตลาด

กำหนดเงื่อนไขบอร์ด NewCo

มาตรการที่ 12 การป้องกันการครอบงำกิจการ เพื่อลดโอกาสที่จะทำให้ทรูหรือดีแทค ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุม NewCo ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยคณะกรรมการ NewCo อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นของทรูและดีแทคต่างฝ่ายไม่สามารถเสนอชื่อกรรมการได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของรายชื่อกรรมการใน NewCo ในระยะเวลา 3 ปีแรกภายหลังการรวมธุรกิจ 

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทย่อยของ NewCo การแต่งตั้งผู้บริหารและกรรมการบริษัทย่อยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของ NewCo โดยคณะกรรมการชุดย่อยของ NewCo จะต้องได้รับการแต่งตั้งที่สอดคล้องกับลักษณะการแต่งตั้งคณะกรรมการของ NewCo 

มาตรการที่ 13 กำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการรายอื่น โดย กสทช.จะมีบทบาทหลักกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยี

มาตรการที่ 14  การรับเรื่องและกลไกการแก้ปัญหาแก่ผู้ใช้บริการ กำหนดให้ผู้ขอรวมธุรกิจต้องกำหนดให้มีกลไกในการรับเรื่องและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ใช้บริการหลังการรวมธุรกิจ กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายต้องจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนและเผยแพร่สถิติและปัญหาร้องเรียนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ผู้บริโภคจวกมาตรการอ่อนยวบ

แหล่งข่าวจากสภาองค์กรของผู้บริโภคจะเดินทางไปยื่นหนังสือตรวจสอบการทำงานของบอร์ดกสทช.ต่อสภาผู้แทนราษฏร และจากกรณีที่มีการเผยแพร่มาตรการ 14 ข้อที่กสทช.จะกำหนดหลังจะอนุญาตให้ทรูและดีแทคสามารถควบรวมกันได้นั้น ยิ่งทำให้สภาฯไม่พอใจ เพราะหลักเกณฑ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะเรื่องการกำหนดราคา อัตราค่าบริการ กลับไม่มีระบุเอาไว้ในมาตรการเลย ซึ่งการทำหน้าที่ของกสทช.จึงดูเป็นการไม่อยู่เคียงข้างผู้บริโภคและอนุญาตให้ควบรวมก็คือการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน