สภาผู้บริโภคลุยดะฟ้องกสทช. ฟันมาตรา 157 พ่วง ‘ยุติการปฎิบัติหน้าที่’

สภาผู้บริโภคลุยดะฟ้องกสทช. ฟันมาตรา 157 พ่วง ‘ยุติการปฎิบัติหน้าที่’

ชี้การทำงานของที่บอร์ด-รองเลขาฯ กรณีดีลควบรวมทรูและดีแทค สร้างความเสียหายให้ผู้บริโภค เดินหน้าฟ้องศาลฯ-ป.ป.ช. ฟันมาตรา 157 ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่และทำหน้าที่โดยมิชอบ พร้อมสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

     นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. และรักษาการแทนเลขาธิการกสทช. กำลังจะสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค กรณีการควบรวมค่ายมือถือ ดีลทรู ดีแทค นั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคเตรียมเดินหน้า ฟ้องร้องต่อศาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) กับการทำหน้าที่ของ กสทช. และเลขาธิการ โดยจัดเป็น “โปรโมชัน” ชุดใหญ่ในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ : 
    โปรโมชันที่ 1 พิเศษเฉพาะเลขาธิการ มอบให้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช. และรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จากการเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจการพิจารณาการควบรวมว่าไม่ได้เป็นอำนาจของ กสทช. ซึ่งในการออกข่าวประเด็นที่บิดเบือนนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของประเด็นข่าวที่เป็นที่จับตาของสังคม และก่อให้เกิดความสับสนต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ ที่มีความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ของ กสทช. อย่างแท้จริง ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในทางตรงกันข้ามว่า กสทช. มีอำนาจพิจารณา

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ กสทช. ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อตีความอำนาจพิจารณาการรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค และเมื่อสำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อส่งต่อให้ประธาน กสทช. นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในลำดับต่อไป โดยในหนังสือฉบับดังกล่าวได้รายงานว่า กฎหมายรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามประกาศ กสทช. ปี 2553 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ก่อนนั้น ได้ถูกยกเลิกแล้วโดยมีประกาศ กสทช. ปี 2561 ขึ้นมาแทน ซึ่งกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้โดยจัดทำรายงานส่งให้ กสทช. โดย กสทช. มีอำนาจเพียงกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเนื้อหาหลักคือการตีความว่า กสทช. มีอำนาจอนุญาตและไม่อนุญาต ต่อการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม

โปรโมชันที่ 2 พิเศษ สำหรับกรรมการกสทช. ด้วย มาตรา 157 ในกรณีที่จะออกมาตรการ 14 มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่อ่อนยวบไม่มีความหมาย หากอนุญาตให้มีการควบรวม จากการเฝ้าติดตาม พบว่า สำนักงาน กสทช. มีแนวโน้มเห็นด้วยกับการควบรวม และได้เตรียมการเสนอ 14 มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้กรรมการ กสทช.พิจารณา แต่เป็นที่ประจักษ์ว่ามาตรการเหล่านี้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และหากมีการควบรวมเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ให้บริการในธุรกิจนี้จะลดลงจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ซึ่งอาจจะเป็นการผูกขาดทางการตลาดโทรคมนาคม และแน่นอนว่าราคาการให้บริการตลาดมือถือจะมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก
    โปรโมชันที่ 3 โปรสองเด้ง ผลประโยชน์ทับซ้อน สำนักงานกสทช. จากกรณีที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ขออนุญาตควบรวม การที่ผู้บริหารระดับสูงของ ทรู ถือหุ้นในบริษัทที่ปรึกษา บริษัทหลักทรัพย์ฟินันซ่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่นั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดตามระเบียบ 
    โปรโมชันที่ 4 ลดแลกแจกพิเศษกับรายการ กสทช. เผชิญหน้า ปปช. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ซึ่งโปรนี้จะแจกให้ กสทช. หากการพิจารณาของ กสทช. ไม่รักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคม เป็นอำนาจของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ดังนั้น เครือข่ายผู้บริโภคขอท้าให้ กสทช. ไปพบกันที่ ป.ป.ช. และอาจได้แพ็กเกจ “ยุติการปฎิบัติหน้าที่” อย่างจุใจ