นิติฯธรรมศาสตร์เตือนกสทช.เจอม.157 ดีลควบทรู-ดีแทค

นิติฯธรรมศาสตร์เตือนกสทช.เจอม.157 ดีลควบทรู-ดีแทค

ที่ประชุมบอร์ดกสทช.ยังไร้วี่แววลงมติพิจารณาดีลทรู-ดีแทค ยกมือโหวต 3 ใน 5 จำเป็นต้องรอความชัดเจนจากกฤษฎีกาที่ขอให้ตีความอำนาจรอบสองผ่านรักษาการนายกฯ ด้านอาจารย์กฎหมายมธ.-จุฬาฯ สวดยับกสทช.ดื้อแพ่งละเลยหน้าที่ตัวเองแปลกฎหมายเอื้อนายทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 ก.ย.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) โดยในวาระที่ 4 เรื่องที่ค้างพิจารณา 4.1 การรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) 

ซึ่งผลสรุปภายหลังสิ้นสุดการประชุมระบุว่า มีกรรมการกสทช. 3 คน ลงมติว่าจะยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการควบรวมบริษัทดังกล่าวจนกว่าจะมีความชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นกฤษฎีกาคณะที่ 1 จะให้คำวินิจฉัยออกมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะไม่ออกความเห็นในเรื่องอำนาจของกสทช.ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจเพราะเรื่องดังกล่าวมีคดีความฟ้องร้องอยู่ในชั้นศาลปกครอง แต่บอร์ดกสทช.เห็นว่ามีเรื่องดังกล่าวกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานและประชาชนโดยส่วนรวมจึงได้ส่งหนังสือไปยังพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีคำสั่งไปยังกฤษฎีกาให้ช่วยพิจารณาเรื่องนี้

“มีบอร์ด 3 ใน 5 คนก็ให้ความเห็นตรงกันว่าเมื่อเราได้ทำหนังสือถามกฤษฏีกาไปอีกรอบนึง เราก็จำเป็นต้องว่าทางนั้นจะตอบมาเช่นไร ดังนั้น ในระหว่างนี้ก็จะไม่มีการพิจารณาเรื่องดีลควบรวมนี้”

นิติฯธรรมศาสตร์เตือนกสทช.เจอม.157 ดีลควบทรู-ดีแทค

กสทช.มองไม่เห็นอำนาจตัวเอง

พร้อมกันนี้ ในวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดเวทีเสวนา ส่องอำนาจตามกฎหมาย กสทช. อนุญาตควบรวมได้หรือไม่ โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม 

ได้แก่ (2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยกรณีนี้ทรูและดีแทคได้มีการยื่นรายงานการควบรวมตามข้อ 5 (1) ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งตามข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวยังระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กสทช. มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขันส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ

นิติฯธรรมศาสตร์เตือนกสทช.เจอม.157 ดีลควบทรู-ดีแทค

ประโยชน์สูงสุดต้องเพื่อประชาชน

นอกจากนี้ ยังมองว่าการที่สำนักงานกสทช.หรือตัวบอร์ดกสทช.เองนั้น ส่งเรื่องอำนาจของตัวเองไปให้กฤษฎีกาตีความอำนาจของตัวถึง 2 ครั้ง นับเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่ากสทช.ไม่รับรู้หรือมองเห็นในอำนาจของตัวเองแม้ว่ากฎหมายจะบัญญัติให้มา การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ต่างอะไรกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาม.157

อีกทั้ง ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ได้บังคับให้ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง กสทช. ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของ ประชาชน ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมีให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น

ป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป ซึ่งนี้คือกฎหมายที่ระบุหน้าของกสทช.ดังนั้น การควบรวมดังกล่าวพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วพบว่าจะก่อให้เกิดการมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกิน 50% เข้าข่ายผูกขาดผ่านทรัพยากรคลื่นควาทถี่ที่เป็นสมบัติของชาติ ฃดังนั้น หากพิจารณาจากสามัญสำนึกก็จะเข้าใจอยู่แล้วว่ากสทช.มีอำนาจหน้าที่สำหรับการพิจารณาว่าจะให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวม

“กสทช.ต้องดำเนินหน้าที่ของตัวเองเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนไม่ใช่ผลประโยชน์สูงสุดของเอกชน มองแค่นี้กาาตีความกฎหมายอำนาจของตัวเองก็รู้อยู่แล้วตัวเองมีอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัยไม่จำเป็นต้องเอาอำนาจของตัวเองไปให้กฤษฎีกาตีความ”

ระบบไลเซ่นจำเป็นต้องขออนุญาต

ด้านนายณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ในประเด็นอำนาจของกสทช.นี้ต้องแยกเป็น 2 คำถาม คือ กสทช.ทำหน้าที่ผู้กำกับดูแล (เรกูเลเตอร์) ดังนั้น จึงมีอำนาจกำกับดูแลเต็มที่ในรูปแบบระบบใบอนุญาตอย่างชัดเจน กสทช.มีอำนาจในการออกกฎที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับให้ผู้รับใบอนุญาตปฎิบัติตามกฎหมาย ในประเด็นกสทช.มีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่ อนุญาตซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

นอกจากนี้ หากพิจารณาบนสมมุติฐานว่าไทยมีผู้ให้บริการแค่ 2 เจ้าคือ A และ B ต่อมา 2 เจ้านี้จะถือหุ้นไขว้กันจะควบรวมกัน รัฐมีอำนาจแค่รับรู้และมากำหนดมาตรการภายหลังอย่างนั้นหรือ หากเป็นอย่างนั้นจะเกิดการแข่งขันหรือไม่ หรือรัฐมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมหรือถือหุ้นไขว้กัน หากเอกชนอ้างว่าอยู่ที่การตีความของกฎหมาย หากอนุญาตให้ A และ B ควบรวมกันแต่ก็ต้องสร้างให้เกิดการแข่งขันแปลว่าให้แข่งกันระหว่างมือซ้ายกับมือขวาในลักษณะนี้หรือ

เขา กล่าวว่า ในด้านหนึ่งกสทช.มีหน้าที่คุ้มครองประโยชน์ของรัฐ ต้องดูแลทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ถือเป็นทรัพยากรที่จำกัดของชาติ ยิ่งมันจำกัดน้อยเท่าไร เหตุผลที่ต้องเข้ามากำกับดูแลจะต้องเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น

โดยแนวทางกำกับดูแลจะแบ่งคร่าวๆออกเป็น 3 ประเภท

1. ระบบอนุญาต (ไลเซ่น) หมายความว่า ต้องขออนุญาตถึงจะดำเนินธุรกิจ

2.รายงาน (รีพอร์ท) ทำเพียงแค่แจ้ง ไม่ต้องขออนุญาต

3.ดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องแจ้ง แต่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เขียนกำกับเอาไว้

คำถามคือ ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ในกฎหมายเขียนไว้ว่ามีความสำคัญและเป็นสมบัติของชาติจะต้องดำเนินการเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชน

หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลจะใช้เพียงแค่การรับทราบรายงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นระบบการรับใบอนุญาต หมายความว่าต้องมีใบอนุญาตก่อนดังนั้นไม่ควรอ้างว่ากสทช.มีหน้าที่เพียงแค่รับทราบรายงานจากเอกชน