ควบ 'ทรู-ดีแทค' ฉลุย ยัน 'ไม่กระทบลูกค้า' กสทช. ขีดเส้น 7 วัน ส่งแผนควบรวมเพิ่ม

ควบ 'ทรู-ดีแทค' ฉลุย ยัน 'ไม่กระทบลูกค้า'  กสทช. ขีดเส้น 7 วัน ส่งแผนควบรวมเพิ่ม

ดีลควบ “ทรู-ดีแทค” ผ่านฉลุย ที่ประชุมผู้ถือหุ้นโหวตผ่าน เดินหน้ากระบวนการควบรวม "อนุกรรมการ กสทช." ขีดเส้น 7 วันที่ปรึกษาอิสระเร่งส่งแผนควบรวมเพิ่ม

ควบ \'ทรู-ดีแทค\' ฉลุย ยัน \'ไม่กระทบลูกค้า\'  กสทช. ขีดเส้น 7 วัน ส่งแผนควบรวมเพิ่ม

ดีลควบ “ทรู-ดีแทค” ผ่านฉลุย ที่ประชุมผู้ถือหุ้นโหวตผ่าน เดินหน้ากระบวนการควบรวม ด้าน “ซีอีโอ ดีแทค” ยันลูกค้าไม่มีผลกระทบ มั่นใจดีลครั้งนี้รับมือความท้าทายโลก ยกระดับไทยสู่ผู้นำในโลกดิจิทัลได้ เผยกระบวนการควบรวมเกิดขึ้นแน่ครึ่งปีหลังนี้ “ทรู” หวังดีลต่อยอดธุุรกิจโทรคมนาคมสู่ "เทค คอมพานี" สร้างประโยชน์เพื่อคนไทย "อนุกรรมการ กสทช." ขีดเส้น 7 วันที่ปรึกษาอิสระเร่งส่งแผนควบรวมเพิ่ม

วานนี้ ( 4 เม.ย.) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้อนุมัติข้อเสนอควบรวมกิจการของดีแทคกับทรูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

โดยดีแทค รายงานว่า จากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 (The Extraordinary General Meeting of Shareholders no. 1/2022) ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติการควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทค ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการก่อตั้งบริษัท เทคโนโลยี-โทรคมนาคม ในการสร้างความแข็งแกร่ง ให้กับวาระดิจิทัลของประเทศไทย นำเสนอบริการใหม่ให้กับลูกค้า และเร่งการพัฒนาทางทักษะของบุคลากรที่พร้อมให้บริการลูกค้ายุคใหม่

โดยหลังจากการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว การควบรวมกิจการยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบและแจ้งเจ้าหนี้ หน่วยงานกำกับดูแล อันได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ถึงความตั้งใจของทรูและดีแทคในการควบรวมกิจการ

ด้าน ทรู ได้แจ้งมติการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 “อนุมัติ” การควบรวมกิจการทรูและดีแทค สะท้อนความเชื่อมั่นในการเดินหน้าธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถเติบโตและสร้างประโยชน์เพื่อคนไทยได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การควบรวมกิจการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

มั่นใจลูกค้าไม่กระทบหลังดีลฉลุย

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า บริษัทเทคโนโลยี-โทรคมนาคม จะนำเสนอบริการ 5จี ด้วยคุณภาพเครือข่าย ที่ครอบคลุมการใช้งาน ความน่าเชื่อถือ ความเร็ว ตลอดจนบริการที่เน้นคุณค่าพร้อมการดูแลลูกค้าที่ดีขึ้น 

"ขอขอบคุณผู้ถือหุ้นที่ไว้วางใจอนุมัติการควบรวมกิจการครั้งนี้ บริษัทเทคโนโลยี-โทรคมนาคม มีแผนธุรกิจ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกระดับประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่า”

โดยกระบวนการควบรวมกิจการนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ในระหว่างนี้ ลูกค้าของดีแทคจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยลูกค้าคงยังสามารถซื้อสินค้าและบริการของเราได้ และใช้บริการของบริษัทได้ตามปกติ

เชื่อต่อยอดธุรกิจโทรคมสู่ เทคคอมพานี

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ทรู กล่าวขอบคุณผู้ถือหุ้นที่ไว้วางใจในศักยภาพและเข้าใจความมุ่งมั่นของ บริษัทฯ ที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจโทรคมนาคมไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจท่ามกลางความท้าทายของตลาดโทรคมนาคม และเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

โดยบริษัทเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นใหม่จากการควบรวมนี้ จะเป็นผู้นำไม่เพียงแต่เครือข่ายบริการโทรคมนาคมคุณภาพสูง แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย ทั้งปัญญาประดิษฐ์ คลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชัน การศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศเพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ 

รวมถึงส่งเสริมการสร้างสรรค์ระบบนิเวศทางธุรกิจและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย สร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าสูงสุดสำหรับลูกค้าผู้ใช้บริการ ผู้ถือหุ้น คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งในด้านโครงข่าย นวัตกรรม และการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โดยในระหว่างนี้ ทรูยังให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องตามปกติเช่นเดิม

อนุฯกสทช.ขีดเส้น 7 วันดูแผนควบรวม

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า หลังจากวานนี้ (4 เม.ย.) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทรูและดีแทคได้ลงมติให้เข้าควบรวมกิจการได้นั้น ในส่วนของสำนักงาน กสทช. ยังเห็นว่าเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นในส่วนของ เทเลนอร์ กรุ๊ป และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แต่ในด้านของสำนักงานกสทช.ไม่ได้ละเลยหรือนิ่งนอนใจ แม้ว่าขั้นตอนของการกำกับดูแลยังไม่ใช่อำนาจของ กสทช.

สำหรับขั้นตอนการทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมา ได้มีการเรียกผู้บริหารของกลุ่มทรู และดีแทค เข้ามาชี้แจงรายละเอียดถึงการควบรวมไปแล้ว 3 ครั้ง โดยล่าสุดได้มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการ กสทช.ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ และได้ตั้งที่ปรึกษาอิสระขึ้นมาด้วยอีกชุด ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ปรึกษาอิสระได้ส่งรายงานความเกี่ยวกับการควบรวมกิจการทรูกับดีแทค มายังสำนักงาน กสทช.แล้ว

อย่างไรก็ตาม ตนได้รับทราบว่า สำนักงาน กสทช.เห็นว่า รายงานที่ที่ปรึกษาอิสระเสนอมานั้น ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงขอให้ที่ปรึกษาอิสระนำรายงานฯ กลับไปศึกษาเพิ่มเติมในบางประเด็น แล้วให้นำกลับมาเสนอสำนักงาน กสทช.อีกครั้ง จากนั้นสำนักงาน กสทช.จะทำรายงานประกอบให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนจะเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ดี ประกาศ กสทช.ไม่ได้กำหนดว่า บอร์ด กสทช.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จในกี่วัน

ทั้งนี้ อนุกรรมการฯ ที่บอร์ด กสทช. แต่งตั้งขึ้น จะนำรายงานทั้ง 2 ชุด คือ รายงานของที่ปรึกษาอิสระ และรายงานการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพิจารณาร่วมกันอีกที แล้วให้ความเห็นประกอบ ก่อนนำเสนอให้บอร์ด กสทช.ชุดใหญ่พิจารณา ซึ่งตอนนี้รายงานของจุฬาฯ ยังไม่มี เพราะสำนักงาน กสทช.เพิ่งว่าจ้าง ส่วนรายงานของที่ปรึกษาอิสระนั้น สำนักงานฯ ได้ให้นำกลับไปพิจารณาในบางประเด็นให้ครบถ้วน

ทางคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นให้ที่ปรึกษาอิสระไปศึกษาเพิ่มเติมในบางประเด็น เช่น เรื่องประโยชน์สาธารณะ และจริงๆแล้วใครจะได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการครั้งนี้ รวมถึงมาตรการต่างๆที่จะต้องทำ โดยที่ปรึกษาอิสระมีเวลา 7-15 วัน ในการจัดทำรายงานศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆตามที่คณะอนุกรรมการฯตั้งข้อสังเกตไว้ ก่อนจะส่งรายงานกลับมาให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาอีกครั้ง

‘หยวนต้า’เชื่อกสทช.ออกกฎคุม

ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากมีการโหวตผ่าน ขั้นตอนถัดไป คือ ขออนุมัติ Stakeholder อื่นๆ ได้แก่ เจ้าหนี้ ในช่วงเดือน เม.ย.2565 และรอผลพิจารณาจากเรกูเลเตอร์ หรือ กสทช. ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.65

"เราประเมินว่า กสทช.จะทำการออกกฎเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อควบคุม Amalgamation Firm ให้ทำตาม เพื่อป้องกันการผูกขาดตลาด แต่จะไม่ขัดขวางหรือยับยั้งดีล แม้จะมีแรงกดดันรอบด้านมาเป็นระยะ หากผ่านการพิจารณาทั้งหมด เราคาดว่าจะเห็นการตั้งโต๊ะซื้อหุ้นในช่วงหลังเดือน มิ.ย.2565"

ขณะที่ การประชุมผู้ถือหุ้นได้มีการอนุมัติการควบรวมกิจการ นับว่าเป็นบวกต่อทั้ง 2 บริษัท คือ ทรู และดีแทค คือ การควบรวมกิจการแบบ Amalgamation หากเกิดขึ้นได้สำเร็จ คาด Synergy สำหรับ Merge Co. อย่างน้อย 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี

“เราคาดเบื้องต้นกำไรของ Merge Co. ที่ 5.2 พันล้านบาท, 1.0 หมื่นล้านบาท และ 1.5 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2566-2568 อิงสมมติฐานเกิด Synergy เพียง 1 หมื่นล้านบาทใน 3 ปี และไม่รวมกำไรทางบัญชีที่จะเกิดขึ้นจากค่าเสื่อมราคาที่ลดลงจากการ Write-off assets ที่ซ้ำซ้อนบางส่วน”