หุ้นน้องใหม่ SPREME ติดเทอร์โบ! เทรดวันแรกเหนือจองพุ่ง 29.23% จากราคา IPO 2.60 บาท

หุ้นน้องใหม่ SPREME ติดเทอร์โบ! เทรดวันแรกเหนือจองพุ่ง 29.23% จากราคา IPO 2.60 บาท

หุ้นน้องใหม่ SPREME เปิดเทรดวันแรกเหนือจองพุ่ง 29.23% หรือเพิ่มขึ้น 0.76 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 3.36 บาท จาก IPO ที่ 2.60 บาท

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยภาคเช้า ณ วันที่ 2 พ.ค. 2567 หุ้นน้องใหม่ SPREME หรือ บมจ.สุพรีม ดิสทิบิวชั่น เปิดเทรดวันแรกเหนือจองพุ่ง 29.23% หรือเพิ่มขึ้น 0.76 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 3.36 บาท จาก IPO ที่ 2.60 บาท

หุ้นน้องใหม่ SPREME ติดเทอร์โบ! เทรดวันแรกเหนือจองพุ่ง 29.23% จากราคา IPO 2.60 บาท

เอกรินทร์ วงษ์ศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ฝ่ายวิเคราะห์ฯ คาดการณ์รายรวมในปี 2566-2568 ที่ 1.2 พันล้านบาท 1.6 พันล้านบาท และ 1.7 พันล้านบาท ตามลำดับ  โดยในปี 2566 บริษัทฯ สามารถประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่ปี 2567 ยังประเมินว่ามีแนวโน้มที่บริษัทฯ จะเข้าประมูลงานขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นจากปี 2566 เนื่องด้วยในปี 2566 นั้น การเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ น้อยกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ แต่ปี 2567 นั้นงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการยังใกล้เคียงกับปี 2567 ที่ราว 3.28 แสนล้านบาท แต่การเบิกจ่ายงบประมาณคาดว่าน่าจะทำได้รวดเร็วและเพิ่มขึ้นกว่าปี 2566 หลักจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย ในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2566-2568 ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ประเมินไว้ ที่ร้อยละ 25.38 ร้อยละ 23.94 และร้อยละ 23.70 ตามดำดับ ซึ่งสูงกว่าในอดีตที่ราว 21% เนื่องด้วยบริษัทฯ มีรายได้งานใหญ่เช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ที่มีอัตราการทำกำไรค่อนข้างสูง ร้อยละ 40 ถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้อัตราการทำกำไรโดยรวมของบริษัทฯ เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับกำไรในปี 2566-2568 ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ประเมินไว้ ที่ 156 ล้านบาท 208 ล้านบาท และ 218 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 30 ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นและอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้น

ขณะที่การประเมินมูลค่าหุ้นประเมิน Fair value สิ้นปี 2567 ที่ 4.80 บาทต่อหุ้น ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ประเมินมูลค่าหุ้น SPREME สิ้นปี 2567 ที่ 4.80 บาท ด้วยวิธี PE Ratio ที่ 17 เท่า ซึ่งใกล้ค่าเฉลี่ยของหุ้นในกลุ่ม System Integration ที่ 17.4 เท่า บนคาดการณ์ EPS ปี 2567 ที่ 0.28 บาทต่อหุ้น

วรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SPREME เป็นหุ้นน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ด้วยประสบการณ์การดำเนินธุรกิจของผู้บริหารมายาวนาน 20 ปี และด้วยจุดเด่น SPREME ที่ดำเนินธุรกิจ System Integrator ซึ่งเป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง มีศักยภาพการเติบโตในอนาคตได้อีกมาก ตามรูปแบบการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศ และการพัฒนาประเทศเข้าสู่รูปแบบ เมืองอัจฉริยะ และความปลอดภัยสาธารณะ  

“SPREME เป็นผู้นำธุรกิจ System Integrator มีจุดเด่นที่เป็นหุ้นไฮบริดทั้ง Growth Stock และ Dividend Stock ซึ่งการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพฐานทุนให้แข็งแกร่ง และนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งยังเพิ่มศักยภาพการเข้าประมูลงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่บริษัทฯ ได้รับงานสม่ำเสมอ อนาคตบริษัทฯ พร้อมเติบโตต่อเนื่องตามเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง” 

ทั้งนี้ SPREME ได้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 200,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 2.60 บาท โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) 

หุ้นน้องใหม่ SPREME ติดเทอร์โบ! เทรดวันแรกเหนือจองพุ่ง 29.23% จากราคา IPO 2.60 บาท

ภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SPREME เปิดเผยว่า พื้นฐานทางธุรกิจทั้งฐานะการเงินและกระแสเงินสดแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำที่ 0.77 เท่า หลังจากไอพีโอแล้วจะลดเหลือประมาณ 0.34 เท่า ไม่มีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย และอยู่ในกลุ่มธุรกิจเมกะเทรนด์

ทั้งนี้ ภายหลังการระดมทุนใน SET บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้ไปเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าประมูลงานภาครัฐขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะงานกระทรวงศึกษาธิการที่บริษัทฯ ได้รับงานประมูลอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี รวมทั้งลงทุนซื้อกิจการเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมของบริษัทฯ (M&A) และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน เพิ่มศักยภาพธุรกิจต่อไปในอนาคต 

“การเข้าระดมทุนในครั้งนี้ จะทำให้ชื่อเสียงของบริษัทฯ เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ที่สำคัญทำให้มีเงินทุนรองรับการเติบโต ทั้งการเข้าประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 ล้านบาท และการทำ M&A เพื่อต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพิ่มเติมด้วย และที่สำคัญกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ถือหุ้นเดิมพร้อมใจล็อคอัพหุ้นทั้งหมด 100% ” 

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,276.41 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. รายได้จากธุรกิจจำหน่ายและติดตั้ง จำนวน 1,108.81 ล้านบาท, 2. ธุรกิจ MA จำนวน 97.17 ล้านบาท , 3. ธุรกิจให้เช่า จำนวน 50.34 ล้านบาท , 4. รายได้อื่นๆ 20.09 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 156.59 ล้านบาท

SPREME มีผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กลุ่มครอบครัวขันธโมลีกุล (บุคคลและนิติบุคคล) ถือหุ้น 67.57% 2) กลุ่มพี่น้องนาย ภานุวัฒน์และน.ส. ศุภรณ์ ถือหุ้น 6.15% และ 3) นาย สรวล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ถือหุ้น 0.61% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาจากมูลค่าเชิงเปรียบเทียบกับมูลค่าของบริษัทเทียบเคียงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สามารถอ้างอิงได้ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น เท่ากับ 12.29 เท่า ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่   1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น เท่ากับ 0.21 บาท ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ ภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. สุพรีม ดิสทิบิวชั่น เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ ว่า “SPREME” ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567  

โดย SPREME ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมายาวนาน โดยออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายอย่างครบวงจร  ทั้ง Hardware Software ระบบเครือข่าย เช่น LAN, WAN, WLAN ระบบ Cyber Security ระบบศูนย์ควบคุมข้อมูล  เป็นต้น พร้อมทั้งให้บริการดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซม และให้เช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษา ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญและเป็นตัวแทนหลักในการจำหน่าย Software ทางการศึกษาจาก Microsoft ด้วยความสัมพันธ์อันดีกับผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงระดับสากลทำให้บริษัทสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง และได้รับการถ่ายทอดความรู้เพื่อนำมาพัฒนาการให้บริการที่ทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่เสมอ จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทมีงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่าประมาณ 442 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป