‘หัวเว่ย’ ขนโซลูชั่นดิจิทัลบุกงาน MWC2022

‘หัวเว่ย’ ขนโซลูชั่นดิจิทัลบุกงาน MWC2022

‘หัวเว่ย’ พาเหรดโซลูชันด้านดิจิทัลบุกงาน MWC2022 ปักธง เสริมศักยภาพการพัฒนาเชิงสิ่งแวดล้อมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ช่วยธุรกิจลดต้นทุน ปูทางเติบโตอย่างแข็งแกร่งระยะยาว

หัวเว่ย เปิดตัวบลูพริ้นธุรกิจนำร่องและโซลูชันนวัตกรรมภายใต้กลยุทธ์ GUIDE เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลและความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมไอซีที ภายในงาน MWC2022 ณ เมืองบาร์เซโลนา

พร้อมให้คำมั่นว่าจะยังคงดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

ทฤษฎีปัจจุบัน ไม่รองรับการเติบโต

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2565 กว่า 50% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั่วโลก (GDP) จะมีที่มาจากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลทะยานสูงขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

กัว ผิง ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระ หัวเว่ย อธิบายว่าทฤษฎีของแชนนอน (Shannon's theorem) และสถาปัตยกรรมฟอนนอยมันน์ (von Neumann architecture) ยังคงเผชิญกับการติดขัดปัญหาอย่างรุนแรงเรื่อยมา ภาคอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องสำรวจทฤษฎีและสถาปัตยกรรมใหม่ๆ เพื่อปฏิรูปกระบวนทัศน์ทางเทคโนโลยีและสร้างความยั่งยืนเชิงดิจิทัล 

หัวเว่ยยึดมั่นกับกรอบความคิดในการ "ทำให้เทคโนโลยีและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้" เสมอมา และยังคงลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านเทคโนโลยีมาโดยตลอด

หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นในการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (power electronics) เพื่อปฏิรูปการใช้พลังงาน เร่งขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจพลังงาน เสริมศักยภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ด้วยการสร้างการทำงานที่ผสานกันระหว่างเทคโนโลยีไอที (IT) และซีที (CT), คลาวด์และเอดจ์ รวมถึงคลาวด์และเครือข่าย หัวเว่ยหวังที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการก้าวไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างชาญฉลาด และประสบความสำเร็จในการเติบโตของรายได้ใหม่ๆ เช่น โซลูชัน OneStorage ของหัวเว่ยช่วยให้ผู้ประกอบการรายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (Total cost of ownership หรือ TCO) ได้มากถึง 30%

ลดคาร์บอน เสริมศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัล

กัว ผิง กล่าวถึงประเด็นด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า ความสามารถในการรองรับความหนาแน่นการเชื่อมต่อและพลังของการประมวลผลจะเป็นตัวชี้วัดความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจดิจิทัล

แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงศักยภาพในระยะยาวของเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย เราจึงต้องเริ่มพิจารณาความเป็นไปได้ในมิติใหม่ๆ อย่างการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ปัจจุบัน หัวเว่ยยึดมั่นตามกลยุทธ์ "บิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง" ซึ่งนอกเหนือจากการปรับปรุงความสามารถด้านดิจิทัลขั้นพื้นฐานแล้ว ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.7 เท่า

ด้วยการพัฒนาจนมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ เช่น ด้านทฤษฎี ด้านวัสดุ และด้านอัลกอริธึม ผลิตภัณฑ์ Massive MIMO รุ่นที่สามของหัวเว่ย ซึ่งใช้เทคโนโลยีเสาส่งสัญญาณพร้อมกันหลายคลื่นอย่างเต็มที่ ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พบว่าใช้พลังงานลดลง 30% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ระดับเดียวกัน

เทงบ 100 ล้านดอลลาร์หนุนระบบนิเวศ

ส่วนหนึ่งของความพยายามของหัวเว่ยในการสร้างโลกดิจิทัลที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คือการเพิ่มการลงทุนในโซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากการผลิตพลังงานสะอาด การขนส่งทางไฟฟ้า และการจัดเก็บพลังงานอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เจย์ เฉิน รองประธานบริษัทหัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เผยว่าต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งความก้าวหน้านี้จะทำให้อุตสาหกรรมไอซีทีสามารถช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกมา หรือที่เรียกว่าฟุตพริ้นท์ลงได้

"ความมุ่งมั่นของหัวเว่ยคือ "การดำรงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายและพันธมิตรจากทั่วโลก เพื่อสำรวจหาโซลูชันที่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ช่วยให้ธุรกิจชาญฉลาดขึ้น และสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

พร้อมกันนี้ แบ่งปันให้เห็นว่าเทคโนโลยีไอซีทีของเรากำลังช่วยให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเราทุกคนสามารถจุดประกายแห่งอนาคตร่วมกันได้

เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก ในปี 2564 หัวเว่ยได้ประกาศว่าจะลงทุนเป็นมูลค่า 50 ล้านดอลลร์ เพื่อพัฒนาผู้มีทักษะทางด้านดิจิทัลกว่า 5 แสนคนสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายในอีก 5 ปีข้างหน้า และลงทุนอีกกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลาสามปี เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในภูมิภาค