‘เทเลนอร์‘ ผนึก ’ซีพี’ ลุยโทรคมอาเซียน

‘เทเลนอร์‘ ผนึก ’ซีพี’ ลุยโทรคมอาเซียน

จับตาดีล “Equal Partnerships” ดัน ‘ทรู-ดีแทค’ ร่วมลุยธุรกิจ กสทช.เข้มเรียกตัวแทน ทรู-ดีแทค ชี้แจงละเอียดยิบวันนี้

จับตาอภิมหาดีล “เทเลนอร์-ซีพี” ผนึกกำลังสู่ Equal Partnerships ลุยธุรกิจโทรคมในอาเซียน บุกตลาดเวียดนาม เมียนมา ลุ้นตลาดโทรคมไทยได้อานิสงส์แข่งเดือด เผยเบื้องลึก “เทเลนอร์ฯ-ซีพี” เปิดโต๊ะเจรจาสำเร็จ ก่อนเทเลนอร์ชี้แจงผ่านตลาดหุ้นในออสโล กสทช. จ้องดีลไม่กระพริบ หวั่นประเด็น ทรู ดีแทค เข้าข่ายผู้มีอำนาจเหนือตลาด เรียกชี้แจงด่วนวันนี้ 

ต้องยอมรับว่ากระแสข่าวขายกิจการของ “ดีแทค” จากเทเลนอร์ กรุ๊ป ที่ปัจจุบันหล่นไปอยู่อันดับ 3 ในตลาดไทยโทรคมไทย “ไม่ใช่เรื่องใหม่” ข่าวในลักษณะขายกิจการ เปิดทางควบรวมกิจการ หรือแม้แต่การทำ Join venture มีข่าวแพร่สะพัดออกมาเป็นระยะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย โดยเฉพาะการประมูลคลื่นความถี่จาก “กสทช.” ซึ่งถ้าหากจำกันได้ ดีแทค เป็นรายเดียวที่ ไม่แข่งขันด้านราคา และยอมยกธงขาวก่อนใคร ทำให้ถึงวันนี้ “ดีแทค” กลายเป็นโอเปอเรเตอร์ที่ถือครองความถี่อยู่ที่ 330 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น
 

มุ่งสู่พันธมิตรที่เท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 พ.ย.) จะได้เห็นความชัดเจนจาก “เทเลนอร์ กรุ๊ป” บริษัทแม่ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี บริษัทแม่ของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เรื่องการเจรจาเข้าเป็นพันธมิตรในรูปแบบ “พันธมิตรทางธุรกิจที่เท่าเทียมกัน” หรือ “Equal Partnerships” สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้ ทั้ง ดีแทค และกลุ่มทรู มีการส่งสเตทเมนต์แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาว่าหากมีความชัดเจนในเรื่องของธุรกิจจะแจ้งให้ทราบ

อย่างไรก็ดี ประเด็นข่าว ทรู และดีแทค มีข่าวลือมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ไล่เรียงตั้งแต่คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ 900 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 5จีในย่าน 700 เมะกะเฮิรตซ์ และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ แต่ดีแทคเองกลับเป็นค่ายมือถือที่ไม่สู้ราคาและยอมออกจากการประมูลไปอย่างง่ายดาย ผิดกับกลุ่มทรูฯและบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ที่เคาะราคากันดุเดือดชนิดที่เรียกว่าไม่มีใครยอมใคร

แต่ในการเจรจาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกันทั้งสองบริษัทนั้น แหล่งข่าวระดับสูงในวงการโทรคมนาคมกล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเข้าเป็นพันธมิตรในรูปแบบที่เท่าเทียมกันของสองบริษัทก็เพราะ “เทเลนอร์ฯ และซีพี” ต้องการให้ดีแทคและกลุ่มทรูฯผนึกกำลังลุยตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศเพื่อนบ้าน
 

โดยนำร่องที่ประเทศ เมียนมา และ เวียดนาม หลังจากที่เทเลนอร์ลดการลงทุนในเมียนมาไปก่อนหน้านี้ ส่วนตลาดในประเทศนั้น ยังคงมีผู้ให้บริการโครงข่าย (โอเปอเรเตอร์) เอกชนอยู่ 3 รายคงเดิม คือ เอไอเอส กลุ่มทรู และดีแทค เพราะเทเลนอร์ ยังมองเห็นอัตราการเติบโตของตลาดในไทย และดีแทค ยังคงเป็นบริษัทที่นำส่งกำไรให้กับเทเลนอร์ มากที่สุดบรรดาโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการในต่างประเทศ

ดีแทคเลือดไหลไม่หยุด

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปที่การประมูลคลื่น 5จี ครั้งล่าสุดในตลาดโทรคมนาคมไทย ส่งผลให้ “เอไอเอส” ถือครองความถี่มากที่สุดในอุตสากรรมโทรคมนาคมด้วย จำนวน 1420 เมกะเฮิรตซ์ ​ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 43.7 ล้านเลขหมาย ส่วนกลุ่มทรูฯอยู่ที่ 1020 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนลูกค้าปัจจุบันอยู่ที่ 31.7 ล้านราย 

ขณะที่ดีแทค ณ ขณะนั้นยังมีลูกค้าอยู่ในลำดับที่ 2 รองจากเอไอเอส แต่ด้วยความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายโครงข่ายไม่ชัดเจนทำให้ลูกค้าทยอยการยกเลิกบริการเป็นปรากฏการณ์เลือดไหลไม่หยุดเพราะมีความถี่อยู่ที่ 330 เมกะเฮิรตซ์ และมีลูกค้าใช้บริการอยู่เพียง 19.3 ล้านรายเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจได้เคยสอบถามหลายต่อหลายครั้งไปยังเทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของดีแทคว่า จากกระแสข่าวที่ออกมานั้น มีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด โดยครั้งล่าสุดเมื่อช่วง 3-4 เดือนก่อน “เกลนน์ แมนเดลิด” ผู้อำนวยการสายงานสื่อสารองค์กร เทเลนอร์ เอเชีย ได้ตอบกลับว่า เทเลนอร์ กรุ๊ป จะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวลือหรือการเก็งกำไรในตลาด เพราะในขณะนั้น ราคาหุ้นของดีแทคและกลุ่มทรูฯมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก พร้อมกับยืนยันว่าเทเลนอร์ฯยังคงมุ่งมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย และกลยุทธ์ในตลาดเอเชียยังไม่เปลี่ยนแปลง

ซึ่งถือเป็นระบุอ้อมๆ ว่า เทเลนอร์ฯ จะยังคงปักหลักเดินหน้าดำเนินกิจการในประเทศไทยต่อไป หลังเข้าลงทุนในหุ้นดีแทคมาร่วม 20 ปี ตั้งแต่ปี 2544 จนมาถึงปัจจุบันได้ลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากกว่า 150,000 ล้านบาท และในไทยยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้และผลกำไรหลักให้กับเทเลนอร์

หวั่นผิดเงื่อนไขผูกขาด

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน กสทช.ระบุวันนี้ ได้เรียกให้ผู้บริหารของสองบริษัทเข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับข่าวที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ประเด็นที่สำนักงานกสทช.ต้องการรู้ คือ หากเป็นการควบรวมกิจการ หรือ การเทคโอเวอร์นั้น จะเป็นการรวมบริษัทเป็นบริษัทเดียว และตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ หรือรวมกันในเฉพาะบางธุรกิจ ซึ่งหากเรานับเอาแต่จำนวนลูกค้าคือ ดีแทคมีลูกค้า 19.3 ล้านราย กลุ่มทรูฯมี 31.7 ล้านราย รวมกันจะมีจำนวน 51 ล้านราย ในขณะที่เอไอเอสมีลูกค้า 43.7 ล้านราย

ดังนั้น หากดีลอยู่ในรูปแบบ “ควบรวม” จริงจะเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม (Significant Market Power) ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่ระบุไว้ และหากจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันจำเป็นต้องแจ้งสำนักงานกสทช.ก่อนล่วงหน้า 90 วัน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวระบุว่า ปัจจุบันเทเลนอร์ฯถือหุ้นดีแทคผ่าน TELENOR ASIA PTE LTD ในสัดส่วน 45.87% และลงทุนทางอ้อมผ่าน บริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด อีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อลองคำนวณย้อนกลับมาดู หากกระแสข่าวขายกิจการมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ เป็นจริง เท่ากับว่าราคาหุ้นดีแทคที่เทเลนอร์จะขายออกมาต้องมากกว่า 41 บาทต่อหุ้นแน่นอน ซึ่งสูงกว่าราคาในกระดาน จึงเป็นอีกแรงหนุนให้ราคาหุ้นพุ่งแรง

ถือเป็นความท้าทายใหม่

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวว่า หากมีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมจริง จะถือเป็นเรื่องใหญ่ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการ อุตสาหกรรม และผู้บริโภค เรื่องดังกล่าวถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และก็เป็นไปตามกลไกของโลก

เนื่องจาก อย่าลืมว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมคือการลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สถานีฐาน แสวงหาคลื่นความถี่ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรากำลังพูดถึงเงินในหลักแสนล้านบาท ในขณะที่การแข่งขันด้านราคาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาลเหมือนเช่นในอดีต ดังนั้น การเป็นพันธมิตรกันคือหนทางการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันและอนาคต ซึ่งไม่เช่นเพียงแต่เอกชนเท่านั้น ที่ผ่านมาก็ยังมีรัฐวิสาหกิจคือบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม ที่รวมกันเป็น “เอ็นที”

เอไอเอสขยับสู่“เมทาเวิร์ส”

นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (อไอเอส) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทได้ลงทุน 5จี นำตลาดเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับลูกค้าโดยวันนี้มีลูกค้า 1.5 ล้านรายแล้ว และเชื่อว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ี 2 ล้านราย และคาดว่ากระแสของเมทาเวิร์ส (Metaverse) จะช่วยหนุนความต้องการใช้ 5จีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะมีแพ็คเกจ 5จีที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเอไอเอส พยายามสร้างการเชื่อมต่อกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยในทุกมิติ โดยในไตรมาสที่ผ่านมาเราได้บรรลุข้อตกลงและลงนามในสัญญาร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในการจัดตั้งบริษัทในชื่อ “เอไอเอสซีบี” (AISCB) เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ และบริการทางการเงินระดับรายย่อย ที่ยังมีโอกาสและศักยภาพการเติบโตอีกมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำด้านบริการดิจิทัลที่หลากหลายไร้ขีดจำกัด

โดยเชื่อว่าโครงข่าย 5จี ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมหาศาล สิ่งที่เอไอเอสตั้งใจทำมาโดยตลอดหลังจากที่เราได้เปิดตัวการให้บริการ เอไอเอส 5จี คือ การนำประสบการณ์ใช้งานที่เหนือกว่ามาให้คนไทยได้สัมผัสภายใต้เป้าหมายการเป็นผู้นำด้าน Digital Life Service Provider จนถึงวันนี้เรายังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของ 5จี ให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าทุกกลุ่ม เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่แข็งแรง กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัลที่พร้อมแข่งขันในเวทีโลก สามารถใช้เป็นจุดแข็งของประเทศในการดึงดูดนักลงทุนสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน พร้อมรับโอกาสใหม่ๆ หลังเปิดประเทศ