อีริคสัน ชู 5G สปริงบอร์ดสร้างเศรษฐกิจ ควบลดมลพิษสิ่งแวดล้อม

อีริคสัน ชู 5G สปริงบอร์ดสร้างเศรษฐกิจ ควบลดมลพิษสิ่งแวดล้อม

ชี้ 5G ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 10 เท่า ขณะที่ ในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ รวมถึง 5G จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งทุกๆ ทศวรรษจนถึงปี 2593

นาดีน อัลเลน รองประธานบริการด้านกลยุทธ์ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ และธุรกิจใหม่ กลุ่มบริษัทอีริคสันประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และอินเดีย กล่าวในหัวข้อ "Drive 5G Future for Thailand" ว่า 5G กำลังเปลี่ยนโฉมของธุรกิจทั่วโลก คลื่นลูกใหม่ของการขยายเครือข่าย 5G จะช่วยให้ธุรกิจทุกประเภทได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของความคล่องตัว ความยืดหยุ่น ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยที่ 5G มอบให้ด้วยเครือข่าย 5G สำหรับผู้บริโภคเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่แล้วทั่วโลก
 

จากการศึกษาของอีริคสัน การนำดิจิทัลไปใช้ในอุตสาหกรรมสะท้อนให้เห็นศักยภาพตลาดของบริการที่ใช้ 5G ขับเคลื่อน ที่มีมูลค่าถึง 700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับรายงาน 5G สำหรับธุรกิจของเรา: เข็มทิศตลาดในปี 2030 (5G for business: a 2030 market compass) ที่ระบุว่าโอกาสทางธุรกิจที่อยู่นอกเหนือจากบริการที่มีในปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นถึง 35%
 

อีริคสัน ชู 5G สปริงบอร์ดสร้างเศรษฐกิจ ควบลดมลพิษสิ่งแวดล้อม นายอิกอร์ มอเรล ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยคนล่าสุดกล่าวในงานเสวนา 'Redefine Businesses With 5G' ว่า อีริคสันมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรปลอดคาร์บอนภายในปี 2573 บริษัทกำลังพัฒนาเครือข่าย 5G ด้วยเทคโนโลยีที่ทำงานตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการลดอัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานในเครือข่ายโทรคมนาคม (Breaking the Energy Curve) โดยไม่เพิ่มการใช้พลังงานเมื่อต้องส่งข้อมูลจำนวนมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น งานวิจัยยังสนับสนุนว่าโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกได้ถึง 15% ภายในปี 2573 และบทบาทของเราคือการเสริมพลังให้กับการเปลี่ยนแปลงนั้น ด้วยการใช้รูปแบบการเชื่อมต่อที่ไร้ขีดจำกัดเป็นตัวขยายประสิทธิภาพให้กับนวัตกรรมเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
 
โดยที่ประเทศไทยได้ประกาศใน COP26 ถึงความตั้งใจลดการปล่อย GHG (ก๊าซเรือนกระจก) ลง 20-25% ภายในปี 2573 โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานของปี 2548 ทั้งนี้เครือข่ายจะต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาของอีริคสันพบว่าเทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดสี่กลุ่ม ได้แก่ พลังงาน การขนส่ง การผลิตและอาคาร สามารถช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ 55-170 ตันต่อปี” การลดการปลดปล่อยดังกล่าวนี้จะเทียบได้กับการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนถึง 35 ล้านคัน
 
โดย 5G สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 10 เท่า จากการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมที่มากกว่าการปล่อยก๊าซที่มาจากภาคเทคโนโลยีสารสนเทศเอง เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ รวมถึง 5G จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งทุก ๆ ทศวรรษจนถึงปี 2593 และบรรลุเป้าหมายของการลดอุณหภูมิของโลกลง 1.5 องศาเซลเซียส
 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในฐานะเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่มีการจัดสรรงบประมาณและวางเครือข่ายเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทย สิ่งที่สำคัญคือ ต้องยกระดับเทคโนโลยี 5G สู่การเป็น The Best 5G ด้วย โดยต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นในโครงข่าย 5G ของประเทศไทย ให้ได้เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เต็มรูปแบบ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง 
 
ขณะที่ ในส่วนของภาครัฐโดยกระทรวงดีอีเอส กำลังมุ่งมั่นในการสร้างเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั่วประเทศ และใช้งานได้จริงผ่านบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ควบคู่กับการสร้างแพลตฟอร์มในการให้บริการซึ่งกระทรวงดีอีเอส มีแผนในการผลักดันในหลายแพลตฟอร์ม อาทิ ดิจิทัล เพย์เม้นท์  ซึ่งประเทศไทย นับเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในภูมิภาคที่คุ้นเคย และใช้งานการจ่ายเงินออนไลน์จำนวนมาก ดิจิทัล ไอดี การยืนยันตัวตนในโลกออนไลน์โดยไม่ต้องใช้เอกสาร, แพลตฟอร์ม ด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งและการค้าขายออนไลน์เกิดประสิทธิภาพ,บิ๊ก ดาต้า เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐนำมาวิเคราะห์ในการให้บริการแก่ประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้และทั้งนั้นที่สำคัญคือ เรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งกระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินอยู่

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์