AIS เร่งเครื่อง New Business ปลุกขุมทรัพย์ใหม่ต่อยอดธุรกิจ

AIS เร่งเครื่อง New Business ปลุกขุมทรัพย์ใหม่ต่อยอดธุรกิจ

“เอไอเอส” ลุยขุมทรัพย์ใหม่ เปิดเกมรุก "นิวบิซิเนส -ดิจิทัลเซอร์วิส" เจาะกลุ่มเอ็นเตอร์ไพร์สเพิ่ม ต่อยอดรายได้ 5จี คาดปี 2025 มูลค่าสะพัดสร้างโอกาสตลาด 1.2 พันล้านดอลล์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวภายในงานสัมมนา "หุ้นปลอดภัยฝ่าภัยโควิด (The Best Stocks : During Covid-19) จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ในช่วงการเสวนา“หุ้น Big Cap เย้ายวนใจหรือไร้เสน่ห์” ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 31 ปีของ เอไอเอส ได้มีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงและติดอาวุธดิจิทัลให้กับประเทศ ด้วยเม็ดเงินกว่า 500,000 ล้านบาทในการพัฒนา ดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ และอีกกว่า 200,000 ล้านบาทสำหรับค่าใบอนุญาต มีเม็ดเงินด้านเงินปันผล หรือเม็ดเงินในตลาดทุนโดยรวมมากกว่า  865,000 ล้านบาท รวมถึงได้สร้างบุคลากรด้านดิจิทัล ทั้งในส่วนพนักงานเอไอเอสเอง และผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์

เอไอเอส แบ่งสัดส่วนของธุรกิจเป็น 3 แกนหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจโมบายล์ ซึ่งเป็น คอร์ บิซิเนส หลัก มี 5จี เป็นตัวหลักในการทำธุรกิจที่ถือเป็น New Era ใหม่ รวมถึงการปลดล็อกการเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมประเทศชั้นนำของโลก ถือเป็นความภาคภูมิใจทำให้ไทยมีชื่อปักหมุดอยู่ในกลุ่มผู้นำเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า และการให้บริการ 5จี ในไทยถือว่าไม่น้อยหน้าหากเทียบประเทศอื่นในเวทีโลก

นายสมชัย กล่าวว่า  โครงข่าย 5จี ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล เท่ากับการสร้างโอกาสมหาศาลของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม มีการประเมินว่าในปี 2025 มูลค่าของตลาด 5จี ในประเทศไทยจะเติบโตได้สูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นมองว่าโอกาสจาก 5จี ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินมากกว่า 40,000 ล้านบาท ผ่านการลงทุนอุตสาหกรรม 4.0 เทคโนโลยีเออาร์-วีอาร์

2.กลุ่มธุรกิจไฟเบอร์ และเอ็นเตอร์ไพร์ส บิซิเนส ตลาดดังกล่าวมีศักยภาพ และเติบโตได้ดี การใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในบ้านที่อยู่อาศัยผ่านอุปกรณ์ FWA (Fixed Wireless Access) กลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโมบาย และกลุ่ม B2B ภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนก้อนใหญ่ เน้นไปในกลุ่มธุรกิจการผลิต การค้าปลีก การขนส่งและการกระจายสินค้า

“มีการระบุกันว่าตัวเลขในตลาดเอ็นเตอร์ไพร์ส บิซิเนส มีมูลค่าโตถึง 300,000 ล้านบาท หากเอไอเอสเข้าไปทำตลาดและได้มาร์เก็ตสัก 10% คิดเป็น 30,000 ล้านบาท จะถือเป็นรายได้ที่น่าสนใจจากธุรกิจใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในบริษัท และตลาดนี้เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่ช่วยส่งเสริมกันเป็นอีโคซิมเต็มส์”
 

แกนที่ 3 คือ ธุรกิจดิจิทัล เซอร์วิส ซึ่งเอไอเอส มีฐานลูกค้าในมือมากกว่า 42 ล้านราย การเข้าไปผนึกกับพาร์ทเนอร์ในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งไมโครซอฟท์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่ง ทั้งที่เอไอเอสทำ AIS playbox และล่าสุด Disney Hotstar นั้น ถือเป็นเซกเมนต์ที่มีการขยายตัว มีการซินเนอจี้ข้ามอุตสาหกรรมกัน นำพาให้ลูกค้าได้รับบริการที่ครบวงจรมากขึ้นและพาให้พาร์ทเนอร์เติบโตได้ด้วยกันถือเป็นแกนที่จะสร้างเม็ดเงินได้มากขึ้น

“สิ่งที่เรามีคือบิ๊กดาต้า New Growth ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม ตรงนี้มีมูลค่ามหาศาล แต่เราต้องไม่ลืมเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล หรือความยินยอมของลูกค้า ดังนั้น การร่วมไปกับพาร์ทเนอร์ในตลาดอื่น เช่น ประกันภัย แบงก์กิ้ง นาโน ไฟแนนซ์ จะทำให้เราบริหารข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น ไม่ทำเรื่องผิดกฎหมาย เราถนัดอะไรพาร์ทเนอร์ถนัดอะไรเราก็จะไปพาร์ทเนอร์” นายสมชัย กล่าว