ปณทปักหมุดปั้นองค์กรสู่ “เทค โพสต์” ทุ่มซื้อเครื่องแยกพัสดุรับอีคอมเมิร์ซ

ปณทปักหมุดปั้นองค์กรสู่ “เทค โพสต์” ทุ่มซื้อเครื่องแยกพัสดุรับอีคอมเมิร์ซ

เดินหน้าเพิ่มศักยภาพคัดแยกพัสดุ ขานรับอานิสงส์ตลาดกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ชอปปิงออนไลน์ก้าวกระโดด ล่าสุดใช้งบ 140 ล้านบาท ซื้อเครื่องคัดแยกครบวงจร สามารถคัดแยกสิ่งของได้กว่า 7,200,000 ชิ้นต่อเดือน

นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้เดินหน้าพัฒนาการดำเนินงานและการบริการ มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ไปรษณีย์ไทย มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันการดำเนินงานขององค์กรสู่ความเป็น เทค โพสต์ อย่างเต็มรูปแบบ โดยทุกกระบวนการทำงานของไปรษณีย์ไทยจะมีการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานมากขึ้น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และคนไทย โดยล่าสุด ไปรษณีย์ไทยได้เดินหน้าเพิ่มศักยภาพการคัดแยกพัสดุ ด้วยการติดตั้งเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เพิ่ม เพื่อรองรับปริมาณสิ่งของจากกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) ซึ่งสามารถคัดแยกสิ่งของได้กว่า 7,200,000 ชิ้นต่อเดือน มากกว่าเครื่องเดิมที่คัดแยกสิ่งของได้ 6,500,000 ชิ้นต่อเดือน

โดย การติดตั้งเครื่องคัดแยกดังกล่าว ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯดังกล่าว ได้เริ่มเปิดใช้งานมาตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเครื่องที่ 3 ต่อจากศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา และศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ ซึ่งเมื่อรวมศักยภาพของทั้ง 3 เครื่องแล้ว จะรองรับปริมาณงานได้มากถึงกว่า 20,000,000 ชิ้นต่อเดือน พร้อมทั้งมีแผนในการติดตั้งเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เพิ่มที่ศูนย์ไปรษณีย์อีก 8 แห่ง คือ ศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา ศูนย์ไปรษณีย์ขอนแก่น ศูนย์ไปรษณีย์อุบลราชธานีศูนย์ไปรษณีย์ทุ่งสง ศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่ ศูนย์ไปรษณีย์พิษณุโลก ศูนย์ไปรษณีย์ลำพูน และศูนย์ไปรษณีย์ราชบุรี ให้ครบ 11 เครื่อง ภายในปี 2566

"เครื่องคัดแยกล่าสุดเราใช้งบประมาณดำเนินการไปราว 140 ล้านบาท ซึ่งปกติจะใช้คนคัดแยกประมาณ 120 คน ดังนั้น พอมีเครื่อง Cross Belt Sorter จะทำให้ช่วยลดคนตรงนี้ไปได้ 20% ซึ่งเราก็ยังคงมีการให้บริการครบวงจร และการรักษาคุณภาพบริการ ซึ่งการติดตั้งเครื่องคัดแยกดังกล่าวก็จะทำให้ประหยัดทรัพยาการบุคคลของไปรษณีย์เพื่อไปทำหน้าที่ด้านอื่น"

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยซึ่งมีศูนย์ไปรษณีย์ครอบคลุมทั่วประเทศถึง 19 ศูนย์ สามารถคัดแยกสิ่งของฝากส่งจากทั่วประเทศกว่า 3,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการทั้งภาคส่วนผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป และเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ เดินหน้าอย่างไม่สะดุด สามารถส่งด่วนทุกปลายทางแม้จะมีปริมาณสิ่งของที่ต้องการจัดส่งจำนวนมาก
 

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยได้นำร่องติดตั้งเครื่องให้บริการรับฝากอัตโนมัติ (APM) ให้บริการกับประชาชน ใน 7 ที่ทำการไปรษณีย์ คือ ไปรษณีย์จตุจักร ไปรษณีย์นนทบุรี ไปรษณีย์ลาดพร้าว ไปรษณีย์ภาษีเจริญ ไปรษณีย์บางขุนเทียน ไปรษณีย์บางพลี เคาน์เตอร์ไปรษณีย์แสมดำ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับผู้ใช้บริการในรูปแบบบริการตัวเอง (Self-Service) ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการได้ลดระยะเวลารอคอยใช้บริการที่เคาน์เตอร์ และอำนวยความสะดวกในยุคที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ ปัจจุบันเครื่อง APM สามารถให้บริการฝากส่งได้ 3 ประเภท คือ EMS ไปรษณีย์ลงทะเบียน และพัสดุไปรษณีย์ โดยเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นสมาร์ท โฟสต์ ออฟฟิศต่อไป